“สสส และ สคล ร่วมติดอาวุธทางปัญญาให้เยาวชนกว่า 150 ชีวิต”

         สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพเครือข่ายแกนนำเยาวชนทั่วประเทศไทย หลังจากฝ่าวิกฤตโควิด – 19 โดยการให้ความรู้ผ่านหลักสูตรรูปแบบใหม่ เสริมความสามารถการทำงานของเครือข่ายให้เข้มแข็ง แกนนำเยาวชน SDN จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ พวกเขามาร่วมกันเพื่อพัฒนาศักยภาพเพิ่มประสบการณ์และสานพลังสร้างความสัมพันธ์เพื่อก้าวสู่การเป็น “นักรณรงค์งดเหล้ารุ่นใหม่” ของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า
จุดมุ่งหวังในครั้งนี้ เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ ต้องการให้เครือข่ายยาวชนมีศักยภาพมากขึ้น รู้ทันธุรกิจแอลกอฮอล์ เพื่อลดปัญหานักดื่มหน้าใหม่ที่อายุน้อยลงไปในทุก ๆ วัน พร้อมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนที่ทำงานในรูปแบบเดียวกันจากหลาย ๆ ภูมิภาค ให้ได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไปพร้อมกับความสนุกสนานภายในกิจกรรม

จากการทำข้อมูลทำให้ทราบว่าธุรกิจแอลกอฮอล์ในปัจจุบัน มีการทำการตลาดที่รุกหน้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้อายุของนักดื่มหน้าใหม่น้อยลง และมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีนักดื่มระยะยาวมากขึ้น ปัญหาที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นอย่างมาก เครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและต้องการให้แกนนำเยาวชนนักรณรงค์นั้น รู้เท่าทันการทำงานที่รุกหน้าของธุรกิจแอลกอฮอล์ เป็นกำลังสำคัญที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงได้ดีกว่าผู้ใหญ่ในปัจจุบัน ด้วยอายุที่ใกล้เคียงและแนวความคิดที่สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้เป็นอย่างดี

นางสาวละออ นาสมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ผู้ควบคุมดูแลการจัดกิจกรรมนี้เผยว่า ภายในงาน นอกจากกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายเยาวชนแล้ว ยังมีการพัฒนาศักยภาพในหลากหลายด้านที่สามารถนำไปต่อยอดในการทำกิจกรรมรณรงค์ของแต่ละพื้นที่ได้ ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นการต่อยอดมาจากกิจกรรมออนไลน์ ในช่วงที่ประเทศไทยพบกับปัญหาโควิด-19  โดยการทำการสอบถามเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมออนไลน์ และได้ข้อสรุปว่าเครือข่ายเยาวชนต้องการการพัฒนาศักยภาพในหลากหลายด้าน ทำให้กิจกรรมนี้มีการให้ความรู้ถึง 5 หลักสูตร คือ หลักสูตรการทำสื่อวีดีโอผ่านโทรศัพท์ หลักสูตรการเขียนข่าว หลักสูตรการพูด หลักสูตรการแสดงละครสะท้อนสังคม และหลักสูตรการออกแบบกิจกรรม ที่ทางผู้จัดงานได้ประเมินแล้วว่ามีประโยชน์ต่อการนำไปปรับใช้ในแต่พื้นที่

นางสาวนภัสกร เขียนเสมอ หนึ่งในเยาวชนจากภาคตะวันออกที่เข้าร่วมกิจกรรรมกล่าวว่า ชื่นชอบกิจกรรมในห้องที่แบ่งไว้ โดยตนได้ร่วมเรียนรู้ในห้องที่ 2 คือห้องเขียนอย่างไรให้เป็นข่าว เพราะว่าได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่ค่อยได้มีโอกาสเรียนรู้และได้มาเรียนจากผู้สื่อข่าวจริง ๆ ซึ่งความรู้เหล่านี้สามารถไปใช้ได้จริงในพื้นที่บ้านเราในการสื่อสารประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการลดนักดื่มเยาวชนหน้าใหม่ ต่อยอดให้การทำงานในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป

กองบรรณาธิการ SDNThailand