ลอยกระทงปี 64 “ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย”

ลอยกระทงเป็นประเพณีของประเทศต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์ซึ่งรวมถึงประเทศไทย สำหรับประเทศไทยนิยมจัดงานลอยกระทงหลังวันออกพรรษาประมาณ 1 เดือนประมาณกลางเดือน 11 หรือกลางเดือน 12 เพราะเป็นช่วงที่มีระดับน้ำขึ้นสูงสุดในรอบปีทางจันทรคติ ประกอบกับช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เว้นว่างจากการทำนา เนื่องจากรอข้าวออกรวงและสภาพอากาศทั่วไปปลอดโปร่งแจ่มใส

ความเชื่อของงานลอยกระทงเพื่อเป็นการบูชาและขอขมาโทษพระแม่คงคา นอกจากนี้มีความเชื่อว่าเพื่อบูชาพระอุปคุตต์ซึ่งท่านบําเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึก รวมถึงความเชื่อว่าเป็นการลอยทุกข์โศกโรคภัย นอกจากนี้แต่ละพื้นที่จะมีความเชื่อเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วย เช่นในวันลอยกระทงชาวลานนามีจุดประทีปรอบวัด หรือรอบบ้านเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า

ในวันลอยกระทงจะเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ หรือวันเพ็ญเดือนยี่ซึ่งเป็นวันพระ ชาวลานนาเรียกว่า “ยี่เป็ง” ในวันนี้ชาวลานนาจะเข้าวัดทำบุญตักบาตร ฟังธรรม ประดับบ้านและไร่นาด้วยโคมสีสันสดใส ปล่อยโคม และจุปประทีป สำหรับจังหวัดตากตอนหัวค่ำจะมีการทอดผ้าป่าน้ำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับและพระแม่คงคาด้วย

การจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้า

หลายพื้นที่นิยมจัดงานวันลอยกระทงอย่างยิ่งใหญ่จนลืมเอกลักษณ์หรือรากของวัฒนธรรม ทำให้การจัดงานเน้นงานรื่นเริง สนุกสนานและมีลานเบียร์จำนวนมาก นำมาซึ่งการชกต้อย ผู้สูงอายุ ผู้หญิงและเด็กไม่กล้ามาเที่ยวงานเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย รวมถึงมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจำนวนมาก

ปัญหาดังกล่าวทำให้หลายพื้นที่พยายามเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานลอยกระทงให้เป็นงานกระทงปลอดเหล้า เช่น 1) งานประเพณียี่เป็ง เทศบาลนครเชียงใหม่ 2) กระทงสายพันดวง จังหวัดตาก และ 3) งานเผาเทียนเล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ด้วยการรณรงค์ไม่ดื่ม ไม่ขายเหล้าในงานลอยกระทง รวมถึงร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยมาตรา 31 ระบุว่าห้ามไม่ให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่เช่น วัด สถานที่ราชการ และสวนสาธารณะ เป็นต้น ซึ่งสถานที่เหล้านี้มักเป็นสถานที่จัดงานลอยกระทง

จังหวัดตากจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้ามากว่า 10 ปี โดยพบว่า ประชาชนพึงพอใจต่อการรณรงค์และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณการจัดงานมากขึ้นทุกปี เช่นปี 2557 ประชาชนร้อยละ 89.10 มีความพึงพอใจระดับมาก ปี 2558 ร้อยละ 91.32 และปี 2561 ร้อยละ 100 นอกจากนี้การจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้ายังส่งผลให้เกิดบรรยากาศการท่องเที่ยวแบบครอบครัว โดยผู้สูงอายุ ผู้หญิงและเด็กมีโอกาสเที่ยวงานลอยกระทงมากขึ้น รวมถึงทำให้อุบัติเหตุ และการทะเลาะวิวาทลดลง รวมถึงยังทำให้ประชาชนเรียนรู้ว่าไม่ควรดื่ม ไม่ควรสูบในพื้นที่สาธารณะและในเทศกาลต่างๆ ส่งผลให้การดื่มเหล้าในงานกาชาดลดลงด้วย เทศบาลเมืองตากซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดงานลอยกระทงสายใช้งบประมาณในการจัดงานลดลงเพราะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ มากขึ้น ลดทรัพยากรในการจัดงานโดยเฉพาะกำลังพลของเจ้าหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยภายในงาน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะในงานลอยกระทงสายปลอดเหล้าได้เปลี่ยนลานเบียร์เป็นครัวกระทงสายแล้วส่งเสริมให้คนในชุมชนมาขายสินค้ามากขึ้น มีการจำหน่ายสินค้า OTOP นอกจากนี้การจัดงานลอยกระทงสายปลอดเหล้ายังทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทำให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น

ความท้าทายของลอยกระทงปี 2566

สำหรับลอยกระทงปี 2564 ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมกำหนดให้พื้นที่ต่างๆ จัดงานภายใต้แนวคิด “ลอยกระทงวิถีใหม่ สืบสานวัฒนธรรมไทย” โดยมีนิยามและแนวทางปฏิบัติ อาทิเช่น

ลอยกระทงวิถีใหม่ หมายถึง การดำเนินการจัดงานตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 2019 ของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็คำนึกงถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยในช่วงประเพณีลอยกระทง และการบังคับใช้อย่างเคร่งครัดรวมถึงการรักษาความปลอดภัยในด้านอื่นๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมแนะนำการจัดงานโดยให้มีการรณรงค์ลอยกระทงปลอดเหล้า ด้วยการงดจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริงานหรือใกล้เคียง

สืบสานวัฒนธรรมไทย หมายถึง การอนุรักษ์ สืบสานและส่งเสริมประเพณีลอยกระทงที่ทรงคุณค่า สาระอันดีงามและการปฏิบัติตามแบบของประเพณีวัฒนธรรมที่เหมาะสม ซึ่งสะท้อนถึงการแสดงออกที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร มีน้ำใจไมตรีให้แก่กันและกัน และบรรยากาศแห่งการแสดงความกตัญญูต่อ “น้ำ” และการแสดออกต่อพระพุทธศาสนา ต่อพระแม่คงคา แม่น้ำ ลำคลอง ส่งเสริมคุณค่าต่อครอบครัว ต่อชุมชน ต่อสังคม โดยการใช้วัสดุจากธรรมชาติมาประดิษฐ์กระทง ซึ่งง่ายต่อการย่อยสลายและเป็นมิตรต่อแม่น้ำลำคลอง ลดการใช้โฟม เพื่อดำรงประเพณีลอยกระทงซึ่งมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนทางวัฒนธรรมของประเทศไทยต่อไป

จากนโยบายการจัดงานลอยกระทงของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ดังกล่าวทำให้หลายพื้นที่ปรับรูปแบบการจัดงานเช่น งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง จังหวัดตากซึ่งจัดระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนมีการลดกิจกรรมเสี่ยงต่างๆ ให้เหลือกิจกรรมที่สำคัญเช่น ลานภูมิปัญญากระทงสาย พิธีขอขมาพระแม่คงคา การลอยกระทงสาย สำหรับนักท่องเที่ยวมีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิดเช่นวัดอุณหภูมิและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้างาน ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และเว้นระยะห้างตลอดเวลาที่อยู่ในงาน

ทั้งนี้สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ขอสนับสนุนการจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าในรูปแบบลอยกระทงวิถีใหม่ และสืบสานวัฒนธรรมไทย ดังที่ได้สนับสนุนให้มีการจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าและเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ในการจัดงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 จนทำให้มีนโยบายการจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าในพื้นที่ต่างๆ เช่น 1) ยี่เป็งจังหวัดเชียงใหม่ 2) เทศบาลเมืองน่าน 3) เทศบาลเมืองตาก 4) เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ 5) เทศบาลนครอุดรธานี 6) เทศบาลนครสกลนคร 7) เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด 8) องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทราสงคราม และ 9) เทศบาลตำบลบ้านม่วง จังหวัดราชบุรี เป็นต้น