ลอยกระทงปลอดเหล้า  ออเจ้าก็ปลอดภัย

สสส. เครือข่ายงดเหล้า แนะ 3 หัวใจหลัก เพื่อช่วยให้ออเจ้าลอยกระทงอย่างปลอดภัย สบายใจห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงและความทุกข์ทั้งปวง

สายฝนจางหาย สายน้ำเต็มตลิ่ง ปีนี้โชคดีที่สถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายต่างๆ ไม่ถึงขั้นวิกฤต บ้านเมืองเข้าสู่โหมดเดินหน้าเพื่อเร่งสปีดการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ภายหลังจากที่อ่อนล้าเพราะโควิดมานาน เวลานี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว เป็นช่วง High Season ของฤดูกาลท่องเที่ยว โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว มากถึง 23 ล้านคน สร้างรายได้มากกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อการพัฒนาประเทศ โดยนอกจากเราจะมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม มีอาหารการกินที่อร่อยและหลากหลายเมนูแล้ว เรายังมีกิจกรรมด้านประเพณีวัฒนธรรมเกิดขึ้นตลอดทั้งปี โดยงานประเพณีลอยกระทงที่จะเกิดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 คือ หมุดหมายแรกแห่งการเฉลิมฉลองการเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ เป็นเทศกาลงานบุญที่มาพร้อมความสนุกสนานรื่นเริง โดยเฉพาะในช่วงเวลาค่ำคืน หนุ่มสาวญาติมิตรพี่น้องได้ออกมาพบปะพูดคุยกันและทำกิจกรรมร่วม ผนวกกับปัจจุบันมีกระแสความตื่นตัวจากละครอิงประวัติศาสตร์เรื่องพรหมลิขิต ที่มีฉากกล่าวถึงที่มาของงานประเพณีจองเปรียง หรือพิธีลอยประทีป ในสมัยอยุธยา ซึ่งเดิมเป็นพิธีบูชาไฟตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีไว้เพื่อสักการะพระพุทธเจ้าและพระแม่คงคา โดยในกฎมณเฑียรบาลในสมัยอยุธยาระบุไว้ว่า พิธีดังกล่าวจะจัดขึ้นทุกเดือน12 ซึ่งจะมีกิจกรรมการชักโคมไฟขึ้นสู่ยอดไม้ และกิจกรรมที่ทำในน้ำคือการลอยโคมลงน้ำ  จนพัฒนามาเป็นงานประเพณีลอยกระทงในปัจจุบัน คาดว่ายิ่งจะทำให้งานลอยกระทงปีนี้ มีความสนุกสนานคึกคักเป็นอย่างมาก และเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ที่รอคอยการเข้าไปค้นหาหาคำตอบในแต่ละพื้นที่ 

โดยเบื้องต้น สคล. มีข้อแนะนำในการเลือกสถานที่ไปร่วมงานลอยกระทงปีนี้มาฝากออเจ้าทุกคน ดังนี้

  1. ชวนออเจ้า เลือกรีวิวและไปร่วมงานลอยกระทงที่จัดแบบย้อนยุค เน้นวิถีวัฒนธรรม เพราะจะเต็มไปด้วยคนที่ตั้งใจมาเที่ยวงานแบบมีอารยะ มีทั้งแต่งหน้าเสื้อผ้าอาภรณ์ครบครันสวยงาม อีกทั้งยังฟื้นคืนคุณค่าวิถีวัฒนธรรมประเพณีแบบเก่าๆ ย้อนยุค บางพื้นที่มีจุดผางประทีปสวยงาม มีลอยเรือสะเปา มีการแสดงโคมชักโคมตุง มีตลาดย้อนยุค ฉายหนังกลางแปลง รำวงย้อนยุค และมีจุดถ่ายรูป Check in สวยๆ
  2. ชวนออเจ้า เลือกไปเที่ยวงานที่มีนโยบายคุมเหล้าลดปัจจัยเสี่ยง ไม่ขายเหล้าประทัดยักษ์ หรือโคมลอยในงาน เพราะจะได้ไม่มีคนเมามาเดินเกะกะ เสี่ยงลวนลามทำมิดีมิร้าย หรือเป็นเหตุไปสู่การทะเลาะวิวาท ไม่มีใครโยนประทัดยักษ์ใส่กัน หรือเอาโคมไปลอยกลายเป็นขยะบนท้องฟ้า พอตกลงมาก็ไปไหม้บ้านเรือนผู้คน รวมทั้งดูความแน่นหนาของท่าน้ำจุดลอยกระทงและไฟฟ้าแสงสว่างที่พอเพียง ดูการตรวจตราของเจ้าหน้าที่เพราะปีนี้คนเยอะ มาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องจำเป็น
  3. ชวนออเจ้า บอกเพื่อนๆ ชวนกันลอยกระทงออนไลน์ เพื่อลดปริมาณขยะในแม่น้ำ ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการช่วยพระแม่คงคาดูแลแม่น้ำลำคลองและรักษาสิ่งแวดล้อมอันเป็นการปฏิบัติบูชาในงานประเพณีลอยกระทง แต่ก็ยังไปเที่ยวงานที่จัดในพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ให้เกิดการหมุนเวียน สร้างรายได้ให้คนในชุมชน พร้อมกับสนุกสนานครื้นเครงกับกิจกรรมสนุกๆ ในพื้นที่

โดยข้อมูลจากผลการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมงานลอยกระทงปี 2565 ใน 6 พื้นที่สำคัญทั่วประเทศ ได้แก่ สุโขทัย เชียงใหม่ ตาก ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และอุดรธานี จำนวน 1,800 คน พบว่า นักท่องเที่ยวร้อยละ 81.3 ตั้งใจลอยกระทงเพื่อบูชาหรือขอขมาพระแม่คงคง รองลงมาร้อยละ 75.3 เพื่อลอยทุกข์โศกโรคภัย ขณะที่ร้อยละ 43.80 เพื่อความสนุกสนาน โดยนักท่องเที่ยวร้อยละ 61.70 มีความกังวลเรื่องอุบัติเหตุจากการเดินทาง ร้อยละ 57.60 กังกลเรื่องการทะเลาวิวาทจากคนเมา ร้อยละ 50.10 กังวลเรื่องอันตรายจากพลุและประทัด

เมื่อถามถึงความพึงพอใจในการมาเที่ยวชมงานที่จัดโดยไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่านักท่องเที่ยวร้อยละ 82.30 เห็นด้วยกับการจัดงานลอยกระทงแบบปลอดเหล้า  ร้อยละ 81.30 พอใจกับการรณรงค์และการห้ามจำหน่ายเหล้าเบียร์ในบริเวณพื้นที่จัดงาน  โดยร้อยละ 85.9 ต้องการให้มีการตรวจตราและควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณพื้นที่สวนสาธารณะให้ต่อเนื่องเป็นประจำไม่เฉพาะช่วงลอยกระทง เพราะทำให้รู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพยสิน  โดยนักท่องเที่ยวมากถึงร้อยละ 67.82 เห็นว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานประเพณีลอยกระทงเป็นเรื่องไม่ปกติ

ขณะที่เมื่อสอบถามความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในงานลอยกระทงจำนวน 569 คนทั่วประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 88.73 ระบุงานลอยกระทงปลอดเหล้าทำให้การทะเลาะวิวาทในงานลดน้อยลง ร้อยละ 85.24 ระบุทำให้คนเมาในงานลดลง ร้อยละ 88.51 เห็นว่าทำให้อุบัติเหตุการจราจรลดลง ร้อยละ 85.69 เห็นว่าทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 87.03 เห็นว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จัดงาน ขณะที่ร้อยละ 85.55 เห็นว่าช่วยลดกำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของงาน

ขณะที่เด็กเยาวชนที่มาร่วมงานในพื้นที่ต่างๆ จำนวน 600 คน ส่วนใหญ่ร้อยละ 89.13 เห็นว่า ไม่ควรมีการขายการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานประเพณีลอยกระทง และร้อยละ 87.43 เห็นว่าไม่ควรมีการใช้ตราสัญลักษณ์ตราเสมือน อาทิ น้ำแร่ โซดา น้ำดื่ม ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาโฆษณาในพื้นที่จัดงานลอยกระทง เพราะจะทำให้เชื่อมโยงและส่งผลให้นึกถึงการดื่มเหล้าเบียร์ในที่สุด นอกจากนี้ร้อยละ 86.83 เห็นว่า บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ควรใช้งานลอยกระทงเพื่อเป็นช่องทางในการส่งเสริมการขายโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพราะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นแก่สังคม ส่งผลให้เด็กเยาวชนกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่เร็วขึ้น

ทั้งนี้ มีตัวอย่างพื้นที่จัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าปลอดภัย มาแนะนำเชิญชวน ดังนี้

โดยพื้นที่ดังกล่าวนี้ ถือเป็นพื้นที่สำคัญในการส่งเสริมด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากมีอัตลักษณ์และประเพณีวิถีวัฒนธรรมที่โดดเด่น ที่สำคัญพื้นที่เหล่านี้มีการผลักดันเชิงนโยบายในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มามากกว่า 10 ปี มีความร่วมมือของหลายภาคส่วนในการร่วมกันรณรงค์จัดงานแบบปลอดเหล้าเพื่อสร้างความปลอดภัย จนกระทั่งกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละเมืองในการจัดงานแบบปลอดเหล้า เนื่องจากเห็นผลดีที่เกิดขึ้น

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า สสส. ได้ร่วมกับเครือข่ายงดเหล้ารณรงค์ในพื้นที่จัดงานลอยกระทงไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่คาดว่าจะมีคนมาเที่ยวชมงานเป็นจำนวนมาก มีการรรณรงค์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 แล้ว โดยพื้นที่จัดงานหลักในปฏิทินการท่องเที่ยวก็จัดงานแบบปลอดเหล้าทุกพื้นที่  ซึ่งในภาพรวมการทำงานพบว่าคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวมีความเข้าใจและตระหนักในเรื่องของปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะเหล้าเบียร์ ประทัดยักษ์ และโคมลอย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในช่วงเทศกาลลอยกระทง เราได้ใช้หลายมาตรการ ทั้งมาตรการทางนโยบาย มาตรการทางสังคม และการขอความร่วมมือกับร้านค้าผู้ประกอบการในพื้นที่ ในการเปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงให้กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดเหล้าปลอดภัย ซึ่งพบว่าได้รับความร่วมมือและการตอบรับเป็นอย่างดี เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เอื้อต่อการเติบโตและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน โดยในระยะยาวหากสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องไปยังงานประเพณีอื่นๆ จะสร้างความที่ยั่งยืน เกิดสุขภาวะที่ดีให้แก่ผู้คนในแต่ละเมือง  นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ  กล่าวต่อว่า “สสส. รู้สึกขอบคุณและชื่นชม ความพยายามของเจ้าภาพจัดงานลอยกระทงในพื้นที่ต่างๆ ที่ร่วมมือกันอย่างจริงจังในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จนกระทั่งกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการไม่ให้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาขายมาดื่มในบริเวณงาน ซึ่งจะส่งผลเชิงบวก สร้างความสุขความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะงานลอยกระทงที่จัดในเวลาค่ำคืน ยิ่งงานมีความปลอดภัย ก็จะมีคนออกมาเที่ยวชมงานมากขึ้น เศรษฐกิจรายได้ของประชาชนและคุณภาพชีวิตโดยรวมก็จะดีขึ้นในที่สุด”

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ปัจจุบันการจัดงานลอยกระทงเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อนมากโดยส่วนใหญ่เข้าใจและเห็นผลดีจากการจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้า เพราะทำให้งานมีความปลอดภัยมากขึ้น นักท่องเที่ยวก็มาเที่ยวชมงานได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีเรื่องจากคนเมามาสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือก่อเหตุทะเลาะวิวาท โดยพื้นที่จัดงานลอยกระทงทั่วประเทศกว่าร้อยละ 90 ปลอดจากเหล้าเบียร์แล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทำงานง่ายขึ้นปัญหาเรื่องทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุในพื้นที่จัดงานลดลง การจัดงานก็มีการพัฒนาความสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ๆ  ทั้งกิจกรรมย้อนยุคและกิจกรรมร่วมสมัย ทำให้งานในหลายพื้นที่มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะที่จังหวัดสุโขทัยสามารถเนรมิตพื้นที่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ได้อย่างตื่นตาตื่นใจ จังหวัดเชียงใหม่ใช้ผางประทีปมาแก้ไขปัญหาโคมลอยที่สร้างปัญหาไฟไหม้บ้านพร้อมไปกับปลุกกระแสคนเมืองมาร่วมฟ้อนเทียนฟ้อนโคมอันเป็นจิตวิญญาณของคนในพื้นที่ จังหวัดตากที่สามารถเปลี่ยนพื้นที่ลานเบียร์กลายเป็นพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับทุกคนในครอบครัวผ่านกระทงสายผ้าป่าน้ำ และหลายเมืองต่างก็พยายามจะใช้ทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิม เอกลักษณ์ของพื้นที่ตน มาสร้างความประทับใจดึงดูดให้คนมาเที่ยว คนมาเที่ยวชมงานกลายเป็นกลุ่มครอบครัวมากขึ้น การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งประทัดยักษ์ โคมลอย รวมทั้งความไม่ปลอดภัยต่างๆ การยกระดับให้งานลอยกระทงมีคุณค่าและความหมายมากขึ้น อันจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและวิถีวัฒนธรรมในระยะยาว โดยการใช้ภูมิพลังทางวัฒนธรรมมาขับเคลื่อนและหล่อหลอมสังคมร่วมกันอีกครั้ง

นางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราใช้ผางประทีปและงานศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นเพื่อการแก้ไขปัญหาเมือง ตั้งแต่ปี 2555 จากการที่เขาปล่อยโคมลอย(ไฟ) แล้วตกลงสู่หลังคาบ้านเรือนคนในชุนชนเมืองเชียงใหม่ที่ส่วนใหญ่เป็นไม้ ทำให้เกิดไฟไหม้บ้านและความไม่ปลอดภัยในชีวิตทรัพยสินโดยเฉพาะในช่วงดึกที่ผู้คนหลับไปแล้วหรือบ้านที่ไม่มีคนอยู่ดูแล จึงได้ชวนกันให้เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทนคือการตามผางประทีปส่องฟ้าฮักสาเมือง ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องจากงานเล็กๆ ที่ทำกันเองโดยชุมชน จำนวน 25,000 ดวงรอบคูเมือง ต่อมาได้ขยายกลายยเป็นงานของเมืองเพราะมีนักท่องเที่ยวและคนในเมืองให้ความสนใจมาก มีการทำข่วง(ลาน)โคมจุดผางประทีป และขยายไปสู่พื้นที่รอบนอกไปทั่ว โดยวันที่ 25 พฤศจิกายน เวลา 17.00น มีกิจกรรมต๋ามผางปะตี๊ดส่องฟ้าฮักษาเมือง(จุดผางประทีป ส่องฟ้ารักษาเมือง) มีช่างฟ้อนมาร่วมในขบวนแห่จำนวน 727 คน ตามปีของเมืองเชียงใหม่ จากประตูท่าแพสู่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ มีพิธีกรรมตามปีนักษัตร์ย์(ปีเกิด) จุดผางประทีป 4 แจ่งคูเมือง มีการแสดงทางวัฒนธรรม ดนตรีพื้นเมือง ศิลปะพื้นบ้านของเด็กๆ มีการสาธิตการหยอดผางประตี๊ดและการทำโคม ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์   วันที่ 26 พฤศจิกายนจะมีการฟ้อนโคม 200 คน โดยจะมีน้องๆเยาวชนจากโรงเรียนนานาชาติมาร่วมเป็นล่ามเพื่อสื่อสารข้อมูลให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจร่วมกิจกรรม นอกจากนี้มีการแสดงโคมร่วมสมัยผลงานจากนักศึกษา 3 สถาบันการศึกษาในเชียงใหม่หน้าพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ตรงข้ามอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ส่วนในวันที่ 27 พฤศจิกายน ทางเทศบาลนครเชียงใหม่มีการประกวดขบวนแห่สะเปาล้านนา พิธีปล่อยกระทงสายล้านนา และวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 มีการประกวดขบวนแห่กระทงใหญ่ชิงถ้วยพระราชทานฯ  สิ่งนี่น่ากังวลสำหรับปีนี้คือ การขยายการจุดโคมลอย(ไฟ)ไปสู่พื้นที่รอบนอก จากการส่งเสริม Soft Power ของหน่วยงานรัฐที่คิดถึงตัวเงินด้านการท่องเที่ยว ซึ่งคงต้องถามและติดตามชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ว่าได้รับผลกระทบและจะจัดการตัวเองอย่างไร รวมถึงการเข้าไปจัดการช่วยเหลือเมื่อเกิดความสูญเสีย ซึ่งจากประสบการณ์คนเมืองที่เคยมีปัญหาไฟไหม้บ้านเรือนมาก่อนเราห่วงใยในเรื่องเหล่านี้

นางศิวะพร คงทรัพย์  ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดตาก   กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคส่วนต่างๆในจังหวัดตากได้ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายการจัดงานบุญประเพณีปลอดเหล้า โดยเฉพาะในงานกระทงสายไหลประทีปซึ่งเป็นงานสำคัญของจังหวัด มีการทำความเข้าใจและขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านค้า สื่อสารให้ประชาชนนักท่องเที่ยวและภาคีที่มาร่วมงานได้รับทราบ มีการรณรงค์ป้องปราม รวมทั้งมีการพัฒนาส่งเสริมกิจกรรมและลานเยาวชนสร้างสรรค์อันเป็นการสื่อสารเชิงบวก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวและประชาชนที่มาร่วมงาน จากที่เคยมีลานเบียร์มากถึง 33 ลานในปี 2556 ปัจจุบันไม่มีการขายการดื่มในพื้นที่จัดงาน งานมีความปลอดภัยมากขึ้นทุกปี ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภายในงานในปีนี้จะมีกิจกรรมตามพิธีกรรมความเชื่อพิธีขอขมาพระแม่คงคา(ถวายผ้าป่าน้ำ) พิธีอัญเชิญพระประทีปพระราชทาน มีการแข่งกระทงสายในทุกค่ำคืน สาธิตการทำกระทงกะลา การอาบน้ำพระอุปคุต การประกวดลูกทุ่งกระทงสาย เทศกาลอาหาร ก่อนจะส่งท้ายด้วยกิจกรรมใส่บาตรพระอุปคุตเที่ยงคืน อาบน้ำมนต์จันทร์เพ็ญ  

พระครูสุมนธรรมธาดา เจ้าอาวาสวัดคลองกระทง ประชาคมงดเหล้าจังหวัดสุโขทัย  กล่าวว่า  ในอดีตก่อนมี พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 มีการดื่มกินเหล้าในสุโขทัยมากมีการทะเลาะวิวาทเกิดปัญหาอาชญากรรมเยอะ รวมทั้งอุบัติเหตุจากคนเมา จนกระทั่งภาคประชาสังคมได้ร่วมมือกับส่วนราชการ ผู้ประกอบการร้านค้า และชุมชนต่างๆ เห็นว่าต้องเอาเหล้าเบียร์ออกจากงานลอยกระทง โดยปีแรกๆ มีอุปสรรคอยู่บ้าง เพราะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่จากการรณรงค์เอาจริงเอาจังร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่องมากว่า 16 ปี ส่งผลให้พฤติกรรมและค่านิยมทางสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปมาก ใครที่จะเอาเหล้าเข้าไปดื่มกินในงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟสุโขทัย จะถูกสายตาผู้คนรอบข้างมองอย่างเย้ยหยัน จนไม่มีใครกล้าเอาเหล้ารวมทั้งบุหรี่เข้าไปสูบดื่มในงาน จากการสำรวจข้อมูลอย่างต่อเนื่องพบว่านักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจต่อการจัดงานมาก พ่อค้าแม่ค้าในงานมีความพึงพอใจเนื่องจากมีคนมาเที่ยวงานเยอะโดยไม่มีเหตุทะเลาะวิวาท ทำให้ภาพรวมของงานมีความปลอดภัยคนมาเที่ยวชมงานมีความสุข สมกับเป็นงานระดับโลก โดยในปีนี้จะมีการแสดงแสงเสียงเมืองมรดกโลกสุโขทัย ขบวนช้างยุทธหัตถี การละเล่นพลุตะไลไฟพะเนียง การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์  มีตลาดโบราณตลาดแลกเบี้ย  ขบวนแห่ทางวัฒนธรรม กระทงใหญ่ โคมชักโคมแขวนจาก 4 ปากประตูเมืองสุโขทัย นอกจากนี้ผลของการจัดงานที่ปลอดภัยยังขยายแนวคิดไปสู่งานลอยกระทงในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดสุโขทัย รวมทั้งงานลอยกระทงระดับชุมชนที่บ้านแม่ทุเลา อ.ทุ่งเสลี่ยม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนที่มีชื่อเสียงในจังหวัดก็จัดงานแบบปลอดเหล้า เพื่อฟื้นฟูคุณค่าวิถีวัฒนธรรมชุมชน กลายเป็นต้นแบบพื้นที่ท่องเที่ยวชุมชนปลอดเหล้าปลอดภัย อีกด้วย สำหรับเรื่องที่กังวลและห่วงใยคือ กระแสสุราเสรี เริ่มส่งผลให้บริษัทเหล้าและผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เริ่มหาช่องทางเข้าไปส่งเสริมการดื่มและใช้งานประเพณีเป็นช่องทางการตลาด ด้วยอำนาจทุนเหล่านี้อาจจะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่กลับไปสู่วงจรอุบาทว์ได้ สิ่งดีๆที่ได้ร่วมกันสร้างอาจจะการเปลี่ยนแปลงหายไปได้

กองบรรณาธิการ SDNThailand