โครงการท่องเที่ยวปลอดภัยวัฒนธรรมสร้างสุข สร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่หลากหลายและสร้างสรรค์ในชุมชนตำบลกระโพ

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 โครงการท่องเที่ยวปลอดภัยวัฒนธรรมสร้างสุขได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และเครือข่ายงดเหล้าอีสานล่าง นำโดยอาจารย์ประสาน สินลิขิตกุล หนึ่งในกรรมการที่ปรึกษาโครงการ ได้นำทีมงานของโครงการฯ พร้อมกับคุณวิญญู ศรีศุภโชค และ คุณพิทยา แจ่มจันทร์ เข้าพบ คุณกรีติคุณ กรีธาพล ปฏิบัติงานแทนผู้จัดการโครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ ที่ดูแลช้างกว่า 200 เชือก เพื่อร่วมหารือในการขอความร่วมมือในการร่วมขับเคลื่อนการทำงานท่องเที่ยวโดยชุมชนในชุมชนตำบลกระโพ ที่มีช้างบ้านกว่าร้อยเชือกอยู่อาศัย

การประชุมนี้ยังรวมตัวแทนจากกลุ่มศิษย์เก่าจุฬาฯ, นักท่องเที่ยวต่างชาติ, และ Voluntist จาก เยอรมัน, ฝรั่งเศส, และ ลิธัวเนีย ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรม. โครงการได้รับโอกาสที่จะถ่ายทอดประเด็น “วัฒนธรรมสร้างสุข สังคมมีสุข ช้างมีสุข” ผ่านกิจกรรมต่างๆ และมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคม THAILANDIFF และลงนาม MOU ร่วมกับทีมศิลปินจากฮังการี ในการร่วมพัฒนาชุมชนกระโพเพื่อมารู้จักช้างไทย

โดยมุ่งเน้นไปในการสื่อสารในประเด็น”วัฒนธรรมสร้างสุข สังคมมีสุข ช้างมีสุข ” ผ่านกิจกรรมที่ร้อยเรียงอย่างเป็นลำดับขั้น เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดประเด็น ลงไปยังนักท่องเที่ยวที่อาสามาเป็นตัวอย่างที่เดินทางมาเรียนรู้ในครั้งนี้ และ ให้ตัวแทนศิษย์เก่าจุฬาฯ นำโดยคุณพรสวรรค์ ได้รับรู้และเก็บช้อมูลประเด็นสำคัญจากที่ได้มาสัมผัส ช้างกับควาญชาวกวยที่นี่รักกันมากแค่ไหน และต้องดูแลกันอย่างไร

ทั้งนี้อาจารย์ประสานและทีมงานได้นำผลสรุปจากการประชุมและทดสอบเส้นทางในครั้งนี้นำไปประชุมร่วมกับเครือข่ายงดเหล้าอีสานล่างที่นำโดยคุณสุวัลยา โต๊ะสิงห์ จนได้ข้อสรุปออกมาเป็นกิจกรรมหลักๆ 2 เรื่อง ดังนี้

1. การสร้างระบบการสื่อสารจากชุมชน เพื่อชุมชน โดยทีมเครือข่ายงดเหล้าอีสานล่างจะร่วมเข้ามาสนับสนุนให้เกิดระบบการอบรมสร้างคนรุ่นใหม่ในตำบลกระโพ ท่าตูมนี้ ให้สามารถถ่ายทอดประเด็น “วัฒนธรรมสร้างสุข สังคมมีสุข ช้างมีสุข ” ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และ กิจกรรมต่างๆ โดยจะร่วมมือกับอาจารย์ประสาน และ คชอาณาจักร ร่วมกันจัดกิจกรรมค่ายฝึกอบรม โดยจะนำเด็กเยาวชนชุมชนนี้ และ ชุมชนในเครือข่ายของเครือข่ายงดเหล้าในโครงการวัฒนธรรมสร้างสุขท่องเที่ยวปลอดภัยในจังหวัดข้างเคียงเข้ามาร่วมด้วย เช่น เขมราฐ กุดหว้า และ เชียงคาน เพื่อให้เกิดทีมนักสื่อความหมายชุมชนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและเพิ่มจำนวนมากขึ้น

2. การสร้างกิจกรรมท่องเที่ยวต้นแบบ ที่สามารถถ่ายทอดประเด็น “วัฒนธรรมสร้างสุข สังคมมีสุข ช้างมีสุข “ลงไปยังนักท่องเที่ยวได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการร่วมมือกับคชอาณาจักรที่เป็นหัวเรือสำคัญในการทำประเด็นนี้อยู่แล้วด้วยงบประมาณจากภาครัฐ ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจหนึ่ง โดยจะทำกิจกรรมที่มีลำดับการท่องเที่ยวที่เหมาะสมและประหยัดทั้งเวลาและต้นทุนของนักท่องเที่ยว โดยจะเชื่อมโยงกับการเดินทางโดยรถสาธารณะ เช่น รถไฟ หรือ รถ บขส. และ ดำเนินกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้รู้จัก คำว่า ช้างบ้าน ทำไมเราต้องเลี้ยงช้าง ทำไมไม่ปล่อยเขาเข้าป่า ทำไมต้องดูแลแบบมีควาญ และ ประเด็นสำคัญที่สุด คือ ช้างบ้าน และ ควาญเขาต้องการอะไร เพื่อนำมาสร้างรายได้และกระแสเพื่อให้สังคมได้รับรู้เรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น

โดยจะใช้งบประมาณที่สนับสนุนโดย สสส. สนับสนุนในการจัดอบรมคนรุ่นใหม่นักสื่อความหมายชุมชน และ จะใช้การทำธุรกิจเพื่อสังคมในการขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อสื่อสารประเด็น “วัฒนธรรมสร้างสุข สังคมมีสุข ช้างมีสุข ” ร่วมกับเครือข่ายการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนต่างๆ เช่น Voluntist และ TrekkingThai

เพื่อสร้างการรับรู้ประเด็น วัฒนธรรมสร้างสุข ให้กว้างขวางมากขึ้นต่อไป

#วัฒนธรรมสร้างสุข #ท่องเที่ยวปลอดภัย #ช้างมีสุข #โครงการท่องเที่ยวสร้างสุข #สสส #เครือข่ายงดเหล้าอีสานล่าง #โครงการท่องเที่ยวชุมชน

กองบรรณาธิการ SDNThailand