สสส.และเครือข่ายงดเหล้า หนุน 35 ชุมชนท่องเที่ยวปลอดเหล้าทั่วไทย เน้นพื้นที่สร้างสรรค์ ลดผลกระทบ เกิดภาพลักษณ์ที่ดี ยกระดับคุณภาพมาตรฐานและมีความปลอดภัย สร้างรายได้ให้ชุมชน นำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

วันที่ 6 กันยายน 2566 สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมสร้างสุข ท่องเที่ยวปลอดภัย โดยเชิญชุมชนร่วมถอดบทเรียนงาน พร้อมมอบประกาศเกียรติคุณในพื้นที่ทั้ง 4 ภาค จำนวน  35 ชุมชน 

เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานเครือข่ายงดเหล้า และผู้แทนจาก สสส. กล่าวว่า การท่องเที่ยวชุมชนจะเน้นการนำอัตลักษณ์ ของดีเด่น รวมทั้งประวัติศาสตร์วัฒนธรรมมาใช้เพื่อต่อยอด สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ อันเป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมออกแบบ ต่อยอด สร้างอาชีพใหม่ๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในอนาคต ดังนั้น ชุมชนที่จัดการท่องเที่ยว จึงควรมีกฎ กติกา หรือมาตรการ ของชุมชนเอง เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นจะเห็นได้จากในข่าวต่างๆ ที่เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท อาชญากรรม การล่วงละเมิด ข่มขืน ทำให้การท่องเที่ยวไม่ปลอดภัย ซึ่งทำลายบรรยากาศความสุขในการท่องเที่ยว อาจก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบตามมาในสังคม ซึ่งส่งผลเป็นการทำลายภาพลักษณ์และบรรยากาศของการท่องเที่ยวต่าง ๆ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าด้วยเรื่อง “สถานที่สาธารณะ” แต่ก็ยังครอบคลุมไม่ถึงแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ทั้งนี้เครือข่ายงดเหล้า มีความกังวล ในเรื่องการผลักดันนโยบายสุราเสรี หากเกิดขึ้นในชุมชน นอกจากจะเพิ่มนักดื่มมากขึ้นแล้ว จะยิ่งทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ด้วย และเรื่องนี้จะเป็นอันตรายเพราะจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

ในขณะที่ นางสาวมาลัย มินศรี ผู้จัดการโครงการวัฒนธรรมสร้างสุขการท่องเที่ยวปลอดเหล้า ปลอดภัยฯ เปิดเผยว่า การส่งเสริมงานวัฒนธรรมสร้างสุข แหล่งท่องเที่ยวปลอดภัย ในแผนงานนโยบายสาธารณะ เป็นการส่งเสริมชุมชนจากพื้นที่ทำงานงดเหล้าในงานบุญ ประเพณีปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยกระดับต่อยอด ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยนำทรัพยากรในพื้นที่ชุมชน มาพัฒนาสร้างคุณค่า ต่อยอดจากเดิมเป็นสิ่งใหม่ๆ เสริมสร้างองค์ความรู้ หาแนวคิดให้ชุมชนมีขีดความสามารถในการจัดการชุมชนตนเองสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน เริ่มจากการเชื่อมร้อยเส้นทางกับแหล่งท่องเที่ยวหลัก เข้าสู่โหมดกิจกรรมของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการนำต้นทุนทางภูมิปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติมาเสริมสร้างอัตลักษณ์ความเป็นพื้นถิ่นผ่านโปรแกรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นผู้กำหนดขึ้น เช่น การใช้สมุนไพร อาหารพื้นบ้าน การล่องเรือ การเดินป่า ชมความงดงามและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน อีกทั้งนำผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา มาพัฒนาให้มีมาตรฐาน รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ในชุมชนที่มีกติกาดูแลคนในชุมชน มีที่พักโฮมสเตย์ ที่มีความปลอดภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็ก เยาวชน คนในและนอกพื้นที่ รวมทั้งนักท่องเที่ยวและสร้างสังคมที่ดี เกิดการมีส่วนร่วมและกลายเป็นชุมชนแหล่งเรียนรู้ รักษ์สิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณี เกิดการสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจชุมชน จนกลายเป็นวัฒนธรรมสร้างสุขในชุมชนอย่างยั่งยืน 

ทางด้านนายชาญวิทูร  สุขสว่างไกร ผู้ประสานงานท่องเที่ยวชุมชนคูเต่า อ.บางกล่ำ จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา เป็นวิถีท่องเที่ยวชุมชนแบบพรุ สวน ควน คลอง เล  แบ่งเป็น 2 โซน  คือ พื้นที่วัดคูเต่า เป็นวิถีชีวิตของคนริมคลองอู่ตะเภาตอนล่าง โดยนำสมุนไพรเป็นภูมิปัญญามาแปรรูป สามารถสร้างรายได้ กำหนดเส้นทางท่องเที่ยวแบบเชื่อมพื้นที่กัน กิจกรรมปั่นจักรยานเที่ยวชมโบราณสถาน กิจกรรมฝาผนัง และพิพิธภัณฑ์ ที่โคกเมืองจะเป็นระบบนิเวศน์ชายฝั่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะประกอบอาชีพประมง เป็นการท่องเที่ยวแบบชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลน และวิถีชุมชน ปิ่นโตร้อยสาย เป็นการต้อนรับนักท่องเที่ยวให้ได้ลิ้มรส เมนูอาหารพื้นบ้านจากชุมชนอย่างแท้จริง โดยส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการสร้างเครือข่าย เชื่อมโยงเส้นทางในพื้นที่ท่องเที่ยวทั้งกระแสหลัก และรอง  พร้อมกับการส่งเสริมอาชีพสอดคล้องวิถีความเป็นอยู่กับวัฒนธรรม ตลอดจนการมีแนวคิดที่จะพัฒนาสินค้าและอาชีพให้กับคนในชุมชน ยกระดับชุมชน ในการให้บริการ โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวด้วยความปลอดภัย ซึ่งมีกติกาข้อตกลงในชุมชน ไม่เปิดให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามายุ่งเกี่ยว เพื่อความปลอดภัยของชุมชนและนักท่องเที่ยวด้วย

นายบุญอนันต์ เหล่อโพ ผู้ประสานงานชุมชนบ้านแพมบก อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าว่า พื้นที่ชุมชนเป็นหมู่บ้านชาวไทใหญ่มีบริบทที่อยู่ท่ามกลางขุนเขา เน้นบรรยากาศ ขายความเป็นธรรมชาติ ซึ่งมีไฮไลต์ คือ สะพานบุญโขกู้โส่ สะพานบุญแห่งศรัทธา เป็นสะพานไม้ไผ่ทอดยาวกลางหุบเขา ทรัพยากรในชุมชน พัฒนาเป็นเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน และยกระดับเป็นชุมชนจัดการตนเอง สามารถรับนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้กระบวนการ กิจกรรมเป็นการพานักท่องเที่ยวโดยนั่งรถจักรยานยนต์พ่วงข้างสัมผัสบรรยากาศ สวนเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นแหล่งปลูกซาโยเต้ หรือฟักแม้วที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอปาย มีทั้งผักกูด ที่สามารถให้นักท่องเที่ยวเก็บมาปรุงเป็นอาหารเย็น รับประทานกับน้ำพริกคั่วทรายที่เป็นอาหารขึ้นชื่อของชาวไทยใหญ่ ชมการสาธิตทำไม้กวาดปุ๋มเป้งภูมิปัญญาพื้นถิ่น และบ้านพักโฮมสเตย์ในแบบไทใหญ่ ด้วยชุมชนเราเป็นพื้นที่ทำงานรณรงค์งดเหล้าจึงไม่มีการบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ร้านค้าในชุมชนจึงเน้นปฏิบัติตามพรบ. เครื่องควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อความสงบเรียบร้อยในชุมชน ซึ่งเป็นกติการที่คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวควรต้องปฏิบัติตาม

ในกิจกรรมมีเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความสำเร็จของชุมชนท่องเที่ยวโดยมี 5 พื้นที่ คือ  1. วิสาหกิจชุมชนบ้านต้นหล้าเชียงคานวัดป่าใต้ จังหวัดเลย  2. วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา จังหวัดสงขลา 3. ชุมชนการท่องเที่ยวบ้านแพมบก จังหวัดแม่ฮ่องสอน 4. วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว จังหวัดตราด  5. ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลไทยชนะศึก จังหวัดสุโขทัย เพื่อเป็นกรณีศึกษาเพื่อเรียนรู้ร่วมกันในครั้งนี้

นักสื่อสาร องค์กรสุขภาวะ