เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เป็นเกาะต้นแบบ ของโครงการเสริมพลังการท่องเที่ยวโดยชุมชนปลอดภัย ของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้ขับเคลื่อนการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจชุมชน รวมทั้งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในร่องน้ำทะเลของเกาะลิบงมีหญ้าทะเล อาหารโปรดของพะยูน ทำให้เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า หมู่เกาะลิบงเป็นหนึ่งในที่อยู่สุดท้าย โดยมีพยูนที่มีชีวิตอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ประมาณ 180 ตัว ที่เรารู้จักกันดี มีน้องมาเรียม เป็นพยูนที่ตายจากการกินขยะที่ลอยจากทะเล
นายประชุม เจริญฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านเกาะลิบง กล่าวว่า จากที่มีโครงการเสริมพลังการท่องเที่ยว มาวางรากฐานของเกาะลิบง ให้เป็นพื้นที่ปลอดเหล้า ทำให้มีกฎ กติกา ชุมชน 3 ส.(ห้ามนำ สุรา สิ่งเสพติด สายเดี่ยว ) มาใช้ในเกาะเป็นการ สร้างพื้นที่ดี สร้างความปลอดภัยให้กับชุมชน ทางชุมชนก็ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตลอด เมื่อมีการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีนนักท่องเที่ยวมาเยือน มีการทำการประชาสัมพันธ์ สร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวรู้สึกปลอดภัยเป็นการบอกต่อปากต่อปาก จนมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวมากมาย อาชีพหลักของคนในชุมชนคือทำการประมงและตัดยางเป็นหลัก ส่วนการรับนักท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริม แต่เป็นรายได้หลักให้กับคนบนเกาะแล้ว พื้นที่เกาะลิบงมีประชากรทั้งที่เป็นไทยพุทธและไทยมุสลิม อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
นางไพรัช วัฒนกุล ผู้ประสานงานประชาคมงดเหล้า จ.ตรัง กล่าวว่า การทำงานกับชุมชนลิบง ที่ผ่านมาไม่หนักใจเลย ผู้คนน่ารัก ตนเองได้มาชวนผู้นำชุมชน มาปรึกษาหารือการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยให้ชุมชนเป็นเจ้าของและบริหารจัดการท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง ช่วยกันสร้างระบบระเบียบ ทำให้ชุมชนมีรายได้ อยู่ได้อย่างยั่งยืน ลูกหลานกลับมาอยู่บ้าน นอกจากนี้ยังนำเครือข่ายลดอุบัติเหตุมาช่วยกันพัฒนารณรงค์ลดอุบัติเหตุ มีการสร้างทางม้าลายหน้าโรงเรียน ทางเกาะลิบงมีวัฒนธรรมและความหลากหลาย นอกจากนี้ตนเองยังเชื่อมกับมูลนิธิคนเห็นคน มาส่งเสริมการละหมาดสร้างปัญญาและชวนกันไปเชื่อมประสานกับมุสลิม 5 จังหวัดชายแดนใต้ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส อีกด้วย