พระสงฆ์อีสาน ขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนค่านิยม “จัดงานบวชแบบเรียบง่ายเรียกว่า ผู้มีศรัทธาและปัญญา ส่วนจัดงานบวชแบบใหญ่โต เรียกว่า งานบวชอนาถา”

อีสาน ดินแดนที่ราบสูง ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลาย ดินแดนที่ได้ขึ้นชื่อว่าผู้คนส่วนใหญ่เป็นคนรักสนุก ภาษาอีสานเรียกว่า “มักม่วน” ซึ่งในท้องถิ่นของภาคอีสานนั้น มีศิลปะการแสดง การร้อง การลำ และดนตรี ที่สนุกสนาน เป็นที่นิยม ไม่เฉพาะในพื้นที่เท่านั้น แต่ได้รับการยอมรับอย่างวงกว้าง ทั่วทุกภูมิภาค ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ ความรักสนุกของคนอีสาน เมื่อมีการจัดงานบุญประเพณีขึ้น ก็มักมีการเลี้ยงฉลอง โดยการจัดการแสดง มีวงดนตรี สนุกสนานรื่นเริง จนหลายครั้ง มีการดื่มเหล้ากันเพื่อเพิ่มความสนุกสนานให้มากขึ้น ตามความเชื่อว่า ยิ่งเมา ยิ่งม่วน แทบไม่เว้นสักงาน แม้กระทั่งงานบวช ก็เช่นกัน ทำสืบต่อกันจนเป็นค่านิยม ที่เมื่อจัดงาน จะไม่มีเหล้า ไม่มีดนตรี ไม่มีมหรสพไม่ได้ งานจะไม่เป็นงานและจะไม่สนุกสนาน

แต่ในภายหลัง เครือข่ายพรสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคมภาคอีสาน ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในโครงการ บวชสร้างสุข บวชวิถีใหม่ ยึดพระธรรมวินัย ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวคิด รูปแบบ และวิธีการในการจัดงานบวชสร้างสุข ก็ได้นำเอาไปขยายต่อกับ หน่วยงานองค์กรท้องถิ่น รวมถึงชุมชน มีการประชาสัมพันธ์ รณรงค์เชิญชวนให้จัดงานบวช แบบเรียบง่าย ประหยัด ปลอดเหล้า ปลอดภัย และป้องกันโควิด 19 ให้กับชาวบ้าน รวมถึงการให้แง่คิด เปรียบเทียบระหว่าง งานบวชแบบเก่า กับ บวชสร้างสุขวิถีใหม่ ว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไร และมีการสร้างค่านิยมใหม่ร่วมกับชุมชน ว่า “จัดงานบวชแบบเรียบง่ายเรียกว่า ผู้มีศรัทธาและปัญญา ส่วนจัดงานบวชแบบใหญ่โต เรียกว่า งานบวชอนาถา” เป็นการชวนให้ชาวบ้าน ได้คิดในมุมกลับกันว่า การจัดแบบเรียบง่ายถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย ไม่จัดเลี้ยงใหญ่โตนั้น มันเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรแล้ว ไม่ได้เป็นการจัดแบบตระหนี่ ขี้เหนียว ใจไม่ใหญ่ เหมือนที่คนส่วนใหญ่คิดอยู่ตอนนี้ หากแต่ การจัดแบบใหญ่โต มีการเลี้ยงฉลองอย่างเกินตัว เต็มไปด้วยอบายมุข มีการเลี้ยงเหล้าเลี้ยงเบียร์ ก่อให้เกิดความวุ่นวาย นั้นต่างหากที่เป็นการบวชแบบอนาถา คือ ไร้ซึ่งศรัทธาและปัญญา ที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง 

ทำให้ชุมชน ได้ตระหนักถึงค่านิยมที่เหมาะที่ควรมากขึ้น ได้หันมาจัดงานบวชที่เรียบง่ายกว่าเดิม ตามฉบับงานบวชสร้างสุข แล้วกว่า 14 งาน พระ 23 รูป มีการจัดงานบวชแบบ เรียบง่าย ประหยัด สิ่งใดที่เป็นอบายมุข หรือสิ่งที่จะก่อให้เกิดทุกข์ตามมาในภายหลัง เช่น การกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาจัดงานใหญ่โต การทะเลาะวิวาท การสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการเมา ก็ถอดออกไปจากการจัดงานบวช

จากค่านิยมเดิม ๆ ที่เคยจัดมา ก็ปรับเปลี่ยนใหม่ เพื่อให้ถูกต้องเหมาะสมต่องาน ต่อกาลเทศะของงาน และจัดงานให้ตอบโจทย์กับวัตถุประสงค์ของงาน ว่า มันคือ งานบุญ ทำแล้วจะต้องได้บุญ ไม่มีสิ่งที่เป็นบาปเข้ามาเกี่ยวข้อง และพร้อมที่จะร่วมมือกัน ผลักดัน ให้เป็นค่านิยมใหม่ที่ถูกต้องและดีงาม ของชาวอีสานต่อไป