“นาคจน งานบวชอนาถา วาทกรรมกดทับการเข้าถึงศาสนาในสังคมไทย”

“การบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ถือเป็นการยกระดับชีวิตมาอยู่ในหนทางอันประเสริฐ และสังคมไทยก็ยกระดับเอามาเป็นประเพณีที่มีความสำคัญและมีคุณค่าอย่างยิ่ง ทว่าในปัจจุบัน การบวชที่ไม่ได้จัดในลักษณะที่ยิ่งใหญ่หรือมีความหรูหรา ตามค่านิยมทางสังคมที่บิดเบี้ยวทับซ้อน กันมายาวนานกลับถูกด้อยค่าและมองว่าเป็น “งานบวชอนาถา” หรือ “งานบวชคนจน” วาทกรรมเช่นนี้ไม่เพียงแต่แสดงถึงการกดทับทางสังคม แต่ยังสะท้อนถึงการบิดเบือนคุณค่าอันแท้จริงทางศาสนา”

การบวชพระในประเทศไทยมีการรับรู้และการตีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งสังคมไทย เป็นสังคมที่เรียกได้ว่ามีความหลากหลาย ทั้งทางวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณี และค่านิยม แต่ละภูมิภาคในประเทศไทย จึงมีรูปแบบการจัดงานบวชที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม การจัดงานบวชในปัจจุบันที่มักปรากฎเห็นบนหน้าสื่อ มักมีการเลี้ยงฉลอง อย่างยิ่งใหญ่ จัดงานใหญ่โต มีการจัดเลี้ยงฉลอง เวทีมหรสพเสพงัน กระตุ้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลี้ยงฉลองอย่างเต็มที่เอาใจแขกผู้มาร่วมงาน เพราะกลัวถูกติฉินนินทา ว่าเป็นงานบวชอนาถา เจ้าภาพไม่ใจกว้าง ประหยัด ขี้เหนียว

อีกความเชื่อว่า การบวชพระแบบยิ่งใหญ่ ซึ่งมักมีการจัดงานใหญ่โต มีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วม และมีการใช้จ่ายเงินจำนวนมาก มักถูกมองว่าเป็นการแสดงสถานะทางสังคมและความมั่งคั่งของครอบครัว ในทางกลับกัน การบวชพระแบบไม่ยิ่งใหญ่ที่มีลักษณะเรียบง่ายและใช้จ่ายน้อยกลับถูกมองว่าเป็น “งานบวชอนาถา” หรือ “งานบวชคนจน”  เป็นตัวอย่างหนึ่งของวาทกรรมกดทับที่พบในสังคมไทย คำเหล่านี้ถูกใช้เพื่อแสดงความดูถูกหรือด้อยค่าต่องานบวชที่จัดอย่างเรียบง่าย และไม่มีการใช้จ่ายมากมาย วาทกรรมเหล่านี้สร้างภาพลักษณ์ที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่เลือกบวชแบบเรียบง่าย อาจเป็นเพราะพวกเขามีฐานะทางการเงินไม่ดีหรือเพราะพวกเขาเลือกที่จะไม่ใช้จ่ายมากมายในการจัดงาน การใช้คำเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมและการแบ่งแยกทางสังคมในสังคมไทย โดยการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดงานบวชที่ยิ่งใหญ่และการใช้จ่ายมากมาย การนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ที่บวชแบบเรียบง่ายรู้สึกด้อยค่า แต่ยังส่งผลให้เกิดความกดดันทางสังคมในการจัดงานบวชในลักษณะที่เกินความสามารถทางการเงินของบางครอบครัว

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน การนำเสนอของสื่อ ที่ได้กล่าวถึงเกี่ยวกับการจัดงานบวชในสังคมไทย ที่มักมีการอวย การจัดงานบวชที่มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ โปรยทานด้วยเงินหลายแสนบาท มีมหรสพฉลอง สนุกสนาน แต่ในทางกลับกัน งานบวชที่มีการจัดอย่างเรียบง่าย เดินแห่นาค แบบสงบไร้แขกมาร่วมงาน มีเพียงพ่อแม่ และญาติพี่น้องไม่กี่คน เดินตามหลัก สื่อได้หยิบยกมาเล่าด้วยความเอ็นดู บางสื่อ สื่ออกมาในแนวน่าสงสาร มีการพาดหัวว่า เป็น นาคจน นาคกำพร้าบ้าง งานบวชไร้แขกร่วมงาน ย่องบวชแบบเงียบๆ บ้าง สะท้อนให้เห็นถึงการกดทับคุณค่าในการจัดงานบวช

พระอธิการแดง ปญฺญาวโร เจ้าอาวาสวัดป่าชัยมงคล จ.กาฬสินธ์ุ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เรามา สร้างค่านิยมใหม่ในการบวช อย่าไปมองว่าคนที่บวชแบบเรียบง่าย เป็นงานบวชอนาถา แต่ให้มองกลับกันว่า งานที่จัดพิธีแบบเอิกเกริก สิ้นเปลือง มัวเมาไปด้วยอบายมุข เป็นงานบวชอนาถา น่าสงสารที่ศรัทธาเสื่อมถอยลง ปัญญามีน้อยลง

พระครูบวรสังฆรัตน์ รองเจ้าคณะอำเภอกันทรารมย์ เจ้าอาวาสวัดจำปา บ้านหัวนา อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ได้กล่าวถึงการจัดงานบวชว่า การจะมาบวช ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเลย มาแต่ตัว และความศรัทธาตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา ผ้าไตรก็มี บาตรก็มี อัฐบริขาร ครบเครื่อง ให้มาเอาที่วัด ไม่ต้องใช้จ่าย ไม่มีเงิน หรือมีเงินน้อยก็บวชได้

ด้านนายชัยณรงค์ คำแดง   ผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม และผู้จัดการโครงการบวชสร้างสุข ได้กล่าวว่า  สังคมไทย ณ ปัจจุบัน พอพูดถึงงานบวช มักนึกถึง ดนตรี รถแห่ หมอลำ  เสื้อทีมเพื่อนนาคก่อนที่จะนึกว่า พระอุปัชฌาย์ว่างวันไหน หรือตั้งคำถามกับตนเองว่า เราจะบวชทำไม เพื่ออะไร บวชแล้วจะได้อะไร ในเวลานิดเดียวที่เรามีโอกาสได้บวชนี้ ดังนั้น ภาพที่เราเห็นงานบวชจะมีแต่ความสนุกสนาน บางมากเกินเลยอนาจาร หรือรุนแรงถึงขั้นฆ่ากันตาย สร้างความขัดแย้งระหว่างชุมชน เช่น กรณียิงกันในงานแห่นาคเต้นรถแห่งานบวชของวัยรุ่น 2 ชุมชนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ยิงถล่มขบวนแห่นาคเจ็บ 5 ราย ณ บ้านห้วยอำเภอขุขันธ์จังหวัดศรีสะเกษ


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.),

โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุขด้วยหลักพุทธธรรม,