“ชีวิตนักบวช อุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต ยามชราเจ็บป่วยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ใครจะดูแล”

“นตฺถิ  โว  ภิกฺขเว  มาตา  นตฺถิ  ปิตา เย  โว อุปฏฺฐเหยฺยุํ  ตุเมฺห  เจ  ภิกฺขเว     อญฺญมญฺญํ  น  อุปฏฺฐหิสฺสถ  อถ  โกจรหิ  อุปฏฺฐหิสฺสติ  โย  ภิกฺขเว  มํ  อุปฏฺฐเหยฺย  โส  คิลานํ  อุปฏฺฐเหยฺย.ฯลฯ” ดูกรภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอไม่มีมารดาบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธเถิด ฯลฯ  ถ้าไม่มีอุปัชฌายะ อาจารย์ สัทธิวิการิก อันเตวาสิก ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ  หรือภิกษุผู้ ร่วมอาจารย์ เป็นหน้าที่ของสงฆ์ที่ต้องพยาบาลจนตลอดชีวิต ถ้าไม่พยาบาล ต้องอาบัติทุกกฏ”

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567  พระครูอมรชัยคุณ (หลวงตาแชร์ พเนจรพัฒนา) ประธานกองบุญสวัสดิการสังฆะเพื่อสังคมภาคอีสานล่าง ได้มอบหมายให้นายดิษณุลักษณ์ ไพฑูรย์ เป็นผู้แทน  นำถวายปัจจัย สวัสดิการรายเดือนในการดูแลพระสงฆ์ผู้อาพาธติดเตียง ของกองบุญสวัสดิการสังฆะเพื่อสังคม โดยมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม  แด่ พระครูวิมลสารวิสุทธิ์ (หลวงพ่อมหาแก่น) เจ้าอาวาสวัดหนองหัวแรด ต.แหลมทอง อ.หนองบุญมาก จ.นครราชสีมา พระครูวิมลสารวิสุทธิ์ (หลวงพ่อมหาแก่น) ปัจจุบัน อายุ 78 ปี 57 พรรษา  เป็นพระสงฆ์นักพัฒนา ที่เห็นความทุกข์ยากของชาวบ้านเป็นภาระกิจสำคัญที่จะต้องช่วยให้พ้นทุกข์ โดยได้ทำอะไรหลายอย่างให้กับคนหนองบุญมาก และชาวโลก เช่น ระบบน้ำดื่ม น้ำใช้มีโรงงานผลิตน้ำดื่มในวัด  ผลักดันสร้างถนนหนทาง  รณรงค์ลด ละ เลิก อบายมุข (เหล้า ยาเสพติด บุหรี่ การพนัน เป็นต้น)  ส่งเสริมการเกษตรแบบธรรมชาติ โดยภายในวัดมีถังน้ำหมักชีวภาพมากกว่า 200 ตัน เพื่อให้ชาวบ้านได้นำไปใช้ ส่งเสริมการศึกษาทั้งของฝ่ายคณะสงฆ์ และฝ่ายญาติโยมมีศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ในวัด มีรถรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน

ปัจจุบันท่านอาพาธด้วยโรค เส้นเลือดในสมองตีบ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแรง พูดไม่ได้ ต้องนอนป่วยติดเตียง มีเพียงยายยนต์  ฉลาดกลาง ผู้เป็นน้องสาวมาคอยดูแล อุปัฏฐากอุปัฏถัมภ์ นานๆทีจะมีพระสงฆ์มาดูแลพานั่งรถออกไปชมวิวภายในวัดที่ท่านได้สร้างไว้ตลอดอายุกาลพรรษาที่ผ่านมาเป็นครั้งคราว

พอคุยกับยายยนต์ เรื่องการดูแลจากหน่วยงาน หรือคณะสงฆ์ด้วยกัน ยายก็มักจะตัดพ้อด้วยน้ำเสียงน้อยใจว่า “ตอนหลวงพ่อมีแรงอยู่ก็มีคนนั้นคนนี้มาขอให้ช่วย เอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาให้ท่านทำท่านช่วย แต่พอหลวงพ่อเป็นแบบนี้ ก็ไม่มีใครเข้ามาเลย” ยายพูดด้วยเสียงที่คลอ ๆ เล็กน้อย ฟังแล้วก็จุกในใจไปเหมือนกัน

เสียงหนึ่งในใจ “ขนาดหลวงพ่อมหาแก่นทำอะไรให้ชาวบ้านมากมายขนาดนี้ ทั้งยังมีตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ เมื่อยามเจ็บป่วย อาพาธ ก็ยังไม่มีใคร หรือระบบ อะไรมารองรับดูแลได้เลย ทิ้งให้ท่านอยู่ลำพังตามยถากรรม แล้วหลวงปู่ หลวงตา สูงอายุ ตามบ้านนอกจะอยู่กันอย่างไร”

ถึงแม้ พุทธพจน์ที่ยกมาตั้งต้น เป็นคำบอก และคำสั่งของพระพุทธเจ้าถ้าสงฆ์ไม่ดูแลกันเอง ทางวินัยต้องปรับอาบัติทุกกฎทุกวัน ถึงเวลาหรือยังที่องค์กรสงฆ์จะต้องพัฒนาจัดระบบรองรับดูแลพระภิกษุอาพาธให้เป็นระบบนำไปสู่ความยั่งยืน สอดคล้องกับยุคสมัย ตามคำสั่งของพระพุทธเจ้า พระธรรมวินัย และนโยบายกุฏิชีวาภิบาล และกองบุญ/ทุนพระภิกษุอาพาธระดับจังหวัด ซึ่งปัจจุบันสามารถจัดตั้งเป็นต้นแบบแล้ว 10 จังหวัด