ยิ่งดื่ม ยิ่งเสี่ยงวัณโรค

วัณโรคเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้นๆ โดยในประเทศไทยวัณโรคเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตลำดับที่ 9 ทั้งนี้การดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเป็นวัณโรคและทำให้การรักษาโรคนี้ยากขึ้น

ในปี 2563 ประชาชนทั่วโลกเสียชีวิตจากวัณโรค 1.5 ล้านคน (World Health Organization, 2021) สำหรับประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคในปี 2563 จำนวน 6,031 คน โดยวัณโรคยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสำดับที่ 9 ของคนไทย (กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 2564) แม้ว่าในประเทศไทยไม่สามารถระบุได้ว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตด้วยวัณโรคเท่าไร แต่องค์การอนามัยโลก (2018) รายงานว่าในปี 2559 ประชาชนเสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์ทั่วโลก 3 ล้านคน (หรือ 5.3% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด) โดยในจำนวนนี้เป็นการเสียชีวิตจากวัณโรค 254,000 ราย

ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (2018) ยังระบุว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับวัณโรคมีความสัมพันธ์กัน ดังนี้

1. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไปทำร้ายระบบภูมิคุ้มกันของร่ายกายซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นวัณโรค และความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์

2. โดยปกติผลข้างเคียงของการกินยารักษาวัณโรคคือโรคตับ การดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการกินยานี้จะทำให้ร่างกายดูดซึมและการย่อยยาช้าลงทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับมากขึ้น

3. ผู้ป่วยวัณโรคที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สนใจรักษาโรคนี้อย่างจริงจัง ซึ่งทำให้การรักษาไม่ได้ผลและนำไปสู่การเป็นวัณโรคดื้อยา

อาจกล่าวได้ว่า แอลกอฮอล์ส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพโดยเฉพาะนำไปสู่การเป็นวัณโรคและเป็นอุปสรรคต่อการรักษา ดังนั้นผู้ป่วยวัณโรคและทุกท่านควรลด ละ เลิกการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้เพื่อสุขภาพที่ดีของเราเอง

อ้างอิง

กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. (2564). สถิติสาธารณสุข พ.ศ. 2563. https://bps.moph.go.th/new_bps/sites/default/files/2563_0.pdf

World Health Organization. (2018). Global status report on alcohol and health 2018. https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/274603/9789241565639-eng.pdf?ua=1

World Health Organization. (2021). Tuberculosis. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/tuberculosis