พลังกลไกอำเภอส่งเสริมป้องกันปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ และลดปัญหาโรค NCDs จังหวัดปราจีนบุรี

เมื่อวันที่ 8-15 มีนาคม 2565 ณ สาธารณสุขอำเภอจังหวัดปราจีนบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคตะวันออก จัดเวทีถอดบทเรียนโครงการอำเภอบูรณาการ

ได้รับความร่วมมือจากคณะทำงานสาธารณสุขอำเภอทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ อำเภอเมืองฯ อำเภอศรีมหาโพธิ อำเภอศรีมโหสถ อำเภอประจันตคาม อำเภอนาดี อำเภอบ้านสร้าง และอำเภอกบินทร์บุรี เมื่อพิจารณาในภาพรวมของการดำเนินงาน พบว่า ปัญหาเร่งด่วนของแต่ละอำเภอคือเรื่องของการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรง หรือโรคอุบัติใหม่ การแพร่ระบาดของปัจจัยเสี่ยง บุหรี่ สุรา กระท่อม และยาเสพติด ย่านอุตสาหกรรม และการติดสังคมออนไลน์ในหมู่เด็กและเยาวชน ทำให้ภารกิจงานของโครงการที่ใช้กลไกของอำเภอมาปรับใช้อย่างเหมาะสมในช่วงสถานการณ์โรคระบาด ตัวอย่างเช่น งานสื่อสารประชาสัมพันธ์ ทางอำเภอร่วมส่งเสริมป้องกันในกิจกรรมด้านส่งเสริมจูงใจเด็ก เยาวชน ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ สร้างสื่อที่มีเนื้อหาเชิงความรู้ การแนะนำชุมชนของตนเอง และเนื้อหาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ จัดโครงการเฝ้าระวังป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ในโรงเรียน สภาเด็ก-เยาวชน มีการปฏิญาณตน “โตไปไม่ดื่ม” การจัดวงเสวนาอบรมการให้คำปรึกษา แลกเปลี่ยนประสบการณ์กลุ่มนักดื่ม กลุ่มคนช่วยเลิก และกลุ่มเยาวชน มีการบูรณาการกับสำนักสงฆ์ระดับอำเภอในโครงการหมูบ้านศีล 5 มีผู้นำชุมชนที่มีองค์ความรู้และพร้อมขับเคลื่อนงานร่วมกัน การเชื่อมกองทุนระดับตำบล ท้องถิ่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เสนอวาระเรื่องปัญหายาเสพติด และการรณรงค์งดเหล้า การใช้หลักสูตรสติบำบัดกับกลุ่มนักดื่มที่เป็นผู้นำชุมชน การสร้างกระแสงดเหล้าเข้าพรรษา หาคนต้นแบบ คนหัวใจเพชร คนหัวใจหิน และ การสานงานต่อกับคณะทำงานระดับอำเภอเน้นทำงานในสถานประกอบการด้านส่งเสริมป้องกันพร้อมกับเชื่อมนโยบายกับผู้จัดการโรงงาน นำเสนอภาพรวมในเวทีคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ส่วนแผนงานที่คาดว่าจะดำเนินการในปีถัดไป ได้แก่ กิจกรรมเฝ้าระวังนักดื่มหน้าใหม่ในพื้นที่แต่ละตำบล สร้างภาคีเครือข่ายในภาคเอกชน และสร้างความมีส่วนร่วมการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานสุรา ในสถานประกอบการ โฮมสเตย์ การทำเวทีชาวบ้านเรื่องปัจจัยเสี่ยงกับนายอำเภอวงแลกเปลี่ยนวิถีชีวิต เน้นจัดสภาพแวดล้อมจากภายนอกก่อน ตามงานประจำตำบล และขยับเข้ากลุ่มคนหัวใจเพชรที่เป็นแก่นของงานรณรงค์ ลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ดี เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตของอำเภอสอดคล้องและตอบสนองต่อบริบทและสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแผนงานโครงการอำเภอบูรณาการลดปัจจัยเสี่ยงถือเป็นกรอบและแนวทางที่สำคัญในการขับเคลื่อนโยบายและการดำเนินงานกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จึงต้องออกแบบให้ครอบคลุมสภาพการณ์ของปัญหาในมิติของปัจจัยเสี่ยงเดิม และปัจจัยเสี่ยงใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด #กลไกอำเภอ #ต้นน้ำกลางน้ำปลายน้ำ #ชีวิตวิถีใหม่ #เครือข่ายงดเหล้า #อุดมสุข

กองบรรณาธิการ SDNThailand