เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง-บทบาทการทำงานบุญประเพณีในเชียงใหม่

เรื่องและภาพโดย : ศุภกิตติ์ คุณา
(สัมภาษณ์ เมษายน 2566)

จังหวัดเชียงใหม่ ดินแดนล้านนา เมืองตะต่อนยอน ที่มีความหลากหลาย มีความแตกต่างกันทางสังคมและวัฒนธรรมและยังมีประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ดึงดูดผู้คนให้เข้ามาชมและท่องเที่ยวมากมาย

นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่เก่าแก่ มีเสน่ห์ และมีเรื่องราวประวัติศาสตร์อันยาวนานมากกว่า 720 ปี ประเพณีและวัฒนธรรม ที่ถือว่าน่าสนใจสำหรับศึกษาและเข้ามาท่องเที่ยว ในอีกมุมมองเชียงใหม่เองก็มีปัญหามากมายที่ต้องช่วยกันแก้ไขและรักษาเมือง เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายที่ทำงานภาคปะชาชน ที่มองการทำงานด้านสุขภาวะ ได้เข้ามาจัดการ สืบสาน สืบทอด และดูแลพื้นที่เมืองเชียงใหม่ ให้ยังงดงามจนถึงวันนี้

เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ผู้ที่ทำงานกับเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ในยุคแรกๆ คนในเมืองเชียงใหม่จะเรียกว่า ป้าจิ๋ม โดยเริ่มต้นทำงานในเมืองเชียงใหม่ ด้วยการใช้ประเพณีและวัฒนธรรมในท้องที่มาเป็นตัวเครื่องมือ แล้วมองเห็นว่ามันสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง

สิ่งหนึ่งที่ป้าจิ๋ม เล่าเรื่องของการทำงานในเขตเมืองเชียงใหม่ ซึ่งไม่ง่ายเลยกับการทำงานในเมืองขนาดใหญ่ และเป็นที่จับจ้องของผู้คนที่อยากมาเยือน

แก้ปัญหาเมือง
โดยใช้ประเพณีและวัฒนธรรม

สมัยเริ่มต้นใหม่ๆ การทำงานนั้น มีขอบเขตการทำงานในเขตเมืองเก่าเป็นหลัก หรือในเขตสี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่ จากนั้นก็ได้เปิดขยายพื้นที่ทำงานไปยังเมืองเก่าชั้นนอก ปัญหาแรกๆที่เข้ามาแก้ไขก็คือ มาจากเรื่องผับบาร์ที่สร้างความเดือดร้อนไปทั่วเมือง คนที่เดือนร้อนส่วนมากมักจะไม่ค่อยกล้าออกมาประณามโดยตรง

เลยคิดว่า หากใช้กิจกรรมจากประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นวิถีของชุมชนอยู่แล้วเข้ามาเป็นจุดที่เปิดให้คนที่สนใจเข้ามาทำงานและแก้ปัญหา

“งานยี่เป็ง” หรือประเพณีลอยกระทงและงาน “ปี๋ใหม่เมือง” หรืองานสงกรานต์ ของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นงานที่ถูกจับมาเป็นเครื่องมือเพื่อที่จะใช้ดูแลรักษาเมือง ถ้าจุดเริ่มต้นจริงๆ ก็มาจากพื้นที่ย่านช้างม่อย ซึ่งเป็นเขตเริ่มแรกที่ทำงาน โดยช้างม่อยอยู่ในเขตเมืองเก่าชั้นนอก จากนั้นก็มาเริ่มต้นภายในเขตคูเมือง หรือเมืองเก่าชั้นใน โดยรวมตัวกันกับคนในชุมชนในเขตเมือง ใช้ชื่อว่า “เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่”

ในช่วงสมัยหนึ่ง ปัญหาที่รบกวนของชาวบ้าน และได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะตัวอาคารบ้านเรือนในเขตเมืองเก่า คือ “การปล่อยโคมลอย” ในช่วงหนึ่งมีกระแสการปล่อยโคมลอย หรือที่ทางภาคเหนือเรียกว่า “ว่าวไฟ”  จะมีการปล่อยขึ้นท้องฟ้าอย่างต่อเนื่อง ปล่อยแบบโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเพณีใดๆเลย จนต้องระแวงหลังคาบ้านตัวเอง

นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในเชียงใหม่ อยากจะปล่อยโคมลอยก็สามารถปล่อยได้เลย แม้กระทั่งจัดงานศพก็ปล่อย วันสิ้นปีก็ปล่อยโคมลอย จนสะเปะสะปะไปกันหมด ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ทำให้คนในชุมชนมองว่า ต้องทำอะไรสักอย่าง ก่อนที่จะไม่สามารถควบคุมไปได้มากกว่านี้ อีกทั้งยังพบเศษโคมลอยตกเรี่ยราดในพื้นที่ตามต้นไม้ หลังคา สายไฟ หรือแม้แต่ตกลงบนถนน สร้างขยะที่ไม่มีเจ้าภาพ

ชุมชนเลยหาทางแก้ปัญหานี้ โดยการรวมกลุ่มกันคิด ต้องใช้ความเชื่อของงานประเพณีมาทดแทนในเรื่องของความเชื่อการปล่อยโคม ก็เลยมองถึงเรื่อง การจุดผางประทีป หรือ ผางปะตี๊ด ซึ่งเป็นประเพณีดั้งเดิมของคนเชียงใหม่ ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายยาย หรือสมัยพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย จะพากันไปวัดวาอารามเพื่อจุดประทีป ถือเป็นอีกประเพณีหนึ่งของภาคเหนือ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ในอดีต แสดงให้เห็นถึงขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม รวมไปถึงความมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ซึ่งมองว่าสิ่งเหล่านี้มันมีอยู่ในวิถีประเพณีและวัฒนธรรมอยู่แล้ว

“ต๋ามผางปะตี๊ดส่องฟ้า ฮักษาเมือง”

โดยการจุดผางปะทีปนั้นสามารถเข้าไปแก้ปัญหาการปล่อยโคมลอย เลยสรรสร้างงานขึ้นมาเพื่อทดลองแก้ไขปัญหาเมือง โดยใช้ชื่องานคือ “ต๋ามผางปะตี๊ดส่องฟ้า ฮักษาเมือง” แปลคือ จุดประทีปส่องฟ้า รักษาเมือง ซึ่งหมายถึง การจุดผางประทีปนั้น เป็นแสงสว่างที่จะช่วยดูแลบ้านเมือง ให้มีความยั่งยืน และบุญกุศลจากการจุดผางประทีปนั้นก็จะส่งผลให้เมืองและผู้คนมีความสุข

สำหรับการบูชาผางปะตี๊ดนั้น ยังเป็นการบูชาแสงสว่าง เชื่อว่าจะทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีแสงสว่างนำทางชีวิตให้โชติช่วงชัชวาลดั่งแสงจากผางปะตี๊ด ด้วยเหตุนี้ช่วงประเพณียี่เป็ง จึงสว่างไสวเต็มไปด้วยแสงผางปะตี๊ด

ผางปะตี๊ด หรือ ผางประทีป เป็นเครื่องสักการบูชาในพระพุทธศาสนา คำว่า ผาง คือ ภาชนะดินเผาคล้ายถ้วยเล็กๆ ใช้เป็นถ้วยสำหรับใส่ขี้ผึ้งหรือน้ำมันและไส้ของประทีสที่ทำมาจากเส้นฝ้าย ส่วนคำว่า ปะตี๊ด, ประทีส คือแสงสว่าง โดยการสะกดออกเสียงนั้นจะแตกต่างไปตามแต่ละสำเนียงในพื้นที่

ข้อมูลประวัติจาก ศูนย์สารสนเทศภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ระบุไว้ว่า ในช่วงประเพณียี่เป็ง ชาวล้านนานิยมจุดผางประทีสเป็นพุทธบูชา สืบเนื่องมาจากตำนานพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ได้แก่ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตม (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) พระศรีอริยะเมตไตร พระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ได้ถือกำเนิดจากแม่กาเผือก

และวันหนึ่งขณะที่แม่กาออกไปหาอาหารได้เกิดพายุทำให้ไข่ทั้งห้าฟองของแม่กาเผือกถูกพัดตกจากรังไหลไปตามแม่น้ำ มีแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โค และแม่ราชสีห์เก็บไปเลี้ยง เมื่อไข่ทั้งห้าฟองฟักออกมาเป็นมนุษย์เป็นเพศชาย และได้บวชเป็นฤๅษีทั้งห้าองค์ เมื่อฤๅษีทั้งห้าได้พบกัน จึงไต่ถามถึงมารดาของแต่ละองค์ แต่ละองค์ก็ตอบว่า แม่ไก่เก็บมาเลี้ยง แม่นาคเก็บมาเลี้ยง แม่เต่าเก็บมาเลี้ยง แม่โคเก็บมาเลี้ยง และแม่ราชสีห์เก็บมาเลี้ยง ฤๅษีทั้งห้าองค์จึงสงสัยว่า แม่ที่แท้จริงของตนเป็นใคร จึงพากันอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ ด้วยคำอธิษฐาน จึงทำให้พกาพรหมผู้เป็นแม่ได้แปลงกายเป็นกาเผือกบินลงมาเล่าเรื่องในอดีตให้ฤๅษีทั้งห้าฟัง และได้บอกว่าหากคิดถึงแม่ ให้นำด้ายดิบมาฟั่นเป็นตีนกาจุดเป็นประทีปบูชาในวันยี่เป็ง ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายประทีสตีนกา จึงทำให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์ (คัมภีร์อานิสงส์ผางประทีส, ม.ป.ป.)

ยอสวยไหว้สา พระญามังราย

สำหรับกิจกรรม ปี๋ใหม่เมือง หรืองานสงกรานต์ งานบุญประเพณีต่างๆในเชียงใหม่ ส่วนมากจะอยู่ที่วัด โดยมีศาสนาและความเชื่อเป็นเอกลักษณ์ของงาน

ในยุคช่วงระยะหลังๆ ราว 10 ปีที่ผ่านมา คนที่มาเที่ยวเชียงใหม่ในช่วงสงกรานต์ จะมาเล่นน้ำรอบคูเมือง หรือสงครามน้ำ กลายเป็นการเล่นน้ำเป็นจุดขายมากกว่ากิจกรรมด้านประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และมีความเป็นมาอันยาวนาน เช่น การขนทรายเข้าวัด การรดน้ำดำหัว ความเข้าใจในเรื่องของ วันสังขารล่อง วันเนา หรือแม้แต่วันพญาวัน ก็จะเลือนหายไป

สิ่งหนึ่งที่ทางเครือข่ายฯ ได้ทำประเด็นนี้ขึ้นมาคือการที่เมืองเชียงใหม่ มีอายุที่ยาวนาน 720 กว่าปี ซึ่งในส่วนของกิจกรรมในช่วงนี้ เริ่มต้นจากวันสำคัญของเมืองเชียงใหม่ คือวันที่ 12 เมษายน ซึ่งมีความสำคัญคือ เป็นวันคล้ายวันสถาปนาเมืองเชียงใหม่

แนวคิดทางพิธีกรรมความเชื่อคือ “การไหว้สา” ที่ทางเครือข่ายชุมชนฯพยายามรื้อฟื้นความเชื่อ ความร่วมไม้ร่วมมือ รำลึกถึงบรรพกษัตริย์ และสร้างความภาคภูมิใจร่วมกันว่า เมืองเชียงใหม่ถูกสร้างมา 700 กว่าปีแล้ว เมื่อมีความภาคภูมิใจเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่จะตามต่อมาก็คือ เราจะรู้สึกรักษาเมืองของเรา

การที่จะให้วัฒนธรรมเข้าถึงคนรุ่นใหม่หรือเยาวชนในสมัยนี้ค่อนข้างที่จะเข้าถึงยาก นอกจากคนที่มีทุนทรัพย์ที่พอจะหาไปเรียนด้วยตนเองตามสถาบันการเรียนรู้หรือศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งทำให้เด็กและเยาวชนบางคนอาจจะขาดโอกาสในการเข้าถึง

ทางเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่มองว่ากิจกรรมหรืองานประเพณีที่จัดโดยชุมชน ก็จะมีความผูกพันและผูกโยงเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอยู่แล้ว ทั้งงานปี๋ใหม่เมือง และงานยี่เป็ง (ต๋ามผางปะตี๊ดส่องฟ้าฮักษาเมือง) ที่มองว่าสามารถส่งต่อ เผยแพร่สู่เยาวชนและเด็ก ก็คือ การสอนการแสดงพื้นบ้าน และในเมื่อวัดในสมัยนี้ไม่ใช่พื้นที่สอนอีกต่อไป เพราะว่าสมัยก่อนการที่ใครอยากเรียนฟ้อนเล็บ จะไปเรียนกันที่วัด ที่วัดก็จะมีกลองตึ่งโนง หรือกลองแอว ซึ่งเป็นกลองล้านนาทางภาคเหนือ เอาไว้ตีกลองประกอบจังหวะฟ้อนเล็บ และอีกทั้งวัดยังเป็นสถานที่รวมตัวกันของกลุ่มช่างฟ้อนเล็บประจำหมู่บ้าน พอเมื่อเวลาผ่านไปยุคสมัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เครือข่ายชุมชนฯพยายามประยุกต์ให้เข้ากับสมัยนี้คือ การนำการแสดงพื้นบ้านเข้าไปสอนในสถานศึกษา

วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ เป็นสถาบันการศึกษาที่ทางเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ เข้าไปสอนการฟ้อนเล็บและฟ้อนเทียน ถ่ายทอดวัฒนธรรมในระดับ ปวช. และ ปวส. ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ย่านกลางเมือง กลางเวียง อยู่ใกล้ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

จะเรียกว่านอกจากโชคดีแล้ว ผู้บริหารของสถาบันอาชีวะ มองเห็นความสำคัญ ถือว่า สถาบันอาชีวศึกษาเชียงใหม่ เป็นสถาบันการศึกษาที่เริ่มต้นมาด้วยกันตั้งแต่ยุคแรกๆ ตั้งแต่การเข้ามาร่วมประเพณีต๋ามผางปะตี๊ด โดยสมัยนั้น เริ่มจุดรอบคูเมืองประมาณ 25,000 ดวง หลังจากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมก็มองเห็นช่องว่างของเด็กอายุน้อยๆ ซึ่งถ้าเด็กระดับอาชีวศึกษาก็จะเป็นน้องๆที่โตแล้ว เลยอยากจะปลูกฝังประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามให้กับเด็กๆ ซึ่งข้อดี ก็คือ ทำให้เด็กมีการซึมตั้งแต่อายุยังน้อย ฉะนั้นสิ่งที่ตามมาจากการสรุปกิจกรรมที่ตามมาก็ การเปิดอบรมสอนฟ้อนเล็บฟ้อนเทียน ในช่วงปิดภาคเรียน

ส่งต่อคุณค่าประเพณีที่ดีงามให้คนรุ่นใหม่

สำหรับการเปิดอบรมสอนฟ้อนนั้น ทางเครือข่ายชุมชนฯเปิดสอนฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการจ้างครูมาสอน เว้นแต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเรียนการสอนที่จะมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า โดยที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และ สคล. รวมถึงผู้สนับสนุนองค์กรอื่นๆ ทางเครือข่ายฯก็มีหน้าที่ไปจัดกระบวนการอบรม โดยการประสานไปยังแม่ครูภูมิปัญญาในเรื่องการสอนฟ้อนเล็บ ซึ่งในจังหวัดเชียงใหม่มีพ่อครูและแม่ครูเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมที่หลากหลายมาก

มุมมองการอบรมของเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่นั้น มองว่า สิ่งที่เป็นพื้นบ้านแบบต้นฉบับ สามารถนำมาประยุกต์ได้ เป็นวิธีถ่ายทอดและส่งต่อไปยังเด็กและเยาวชนได้ง่าย อย่างน้อยในสิ่งที่ทำตอนนี้ แม้จะเป็นพื้นฐาน แต่ในอนาคตข้างหน้า เมื่อน้อง ๆที่เข้ามาเรียนรู้เติบโตเขาก็จะเอาไปต่อยอดด้วยตนเอง

แต่สิ่งหนึ่งในกลุ่มการเรียนการสอน (อบรมฟ้อนเล็บ) ที่น่าทึ่งก็คือ ผู้ปกครองที่มาส่งลูกหลาน ก็กลายเป็นช่างฟ้อนโดยอัตโนมัติ กลุ่มของช่างฟ้อนก็เริ่มขยายใหญ่ขึ้น

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมที่ทางเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ได้ทำ เริ่มขยายออกไปเป็นวงกว้างมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานอื่นๆ แม้แต่เทศบาลนครเชียงใหม่ ผู้สนับสนุนพื้นที่และงบประมาณในการจัดกิจกรรม ก็มีความเชื่อมั่นและไว้วางใจในการทำงานของชุมชน

สิ่งที่ได้จากการทำกิจกรรมของเครือข่ายฯ คือ การที่ประชาชนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม การฮอม หรือแม้แต่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง เกิดเป็นความความผูกพัน ความที่รู้สึกเป็นเจ้าของ

“นี่แหละคือสิ่งที่ชุมชนเป็นเจ้าของ
มีความภาคภูมิใจในบ้านเกิดของตัวเอง
และช่วยกันปกป้องรักษาเมืองต่อไป”


สามารถติดตามชมเพิ่มเติมในรูปแบบ VDO
หรือดาวน์โหลด PDF คลิกที่นี่

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล