ปอยส่างลอง งานบวชพลังศรัทธาแห่งความเชื่อของชาวไทใหญ่

เมื่อถึงช่วงเข้าสู่ฤดูร้อน ราวเดือนมีนาคมจนถึงเมษายนของทุกปี ในภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีชื่อเสียงเอกลักษณ์ในประเพณี “ปอยส่างลอง” เรื่องราวเกี่ยวกับพิธีการบวชสามเณรของชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นประเพณีสืบทอดความศรัทธามาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ซึ่งชาวไทใหญ่จะให้ความสำคัญกับการบวชเณรอย่างมาก

ผู้อ่านหลายท่านก็คงจะคุ้นเคยกับงานปอยส่างลอง หรือประเพณีบวชลูกแก้วของชาวไทใหญ่ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ครั้นเมื่อทำโครงการบุญประเพณีปลอดเหล้า ประเพณีปอยส่างลองได้รับความนิยมในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่นั้น สืบเชื้อสายมาจากไทใหญ่ และได้มีการสืบทอดงานประเพณีนี้มาเป็นเวลาช้านาน มีหลักฐานปรากฏตั้งแต่มีการสร้างบ้านแปลงเมืองแม่ฮ่องสอน ประเพณีนี้นิยมถือปฏิบัติกันทั้งชาวเมียนมาร์และชาวไทใหญ่ในประเทศไทยและสหภาพเมียนมาร์

ในปัจจุบัน ปอยส่างลอง ได้รับความแพร่หลายไปยังจังหวัดอื่นๆ ไม่เฉพาะเพียงแค่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในจังหวัดเชียงใหม่เองก็พบการจัดงานปอยส่างลองที่อำเภอเวียงแหง หรือที่วัดป่าเป้า อำเภอเมืองเชียงใหม่ และพบในบางอำเภอ อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความนิยมของปอยส่างลองได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น จากงานวิจัยองค์ความรู้ของการจัดการปอยส่างลองวัดป่าเป้า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยโชคนิธินันต์ คุณยศยิ่ง ระบุว่า งานปอยส่างลองในสมัยก่อนจะมีแต่ส่างลองเชื้อสายไทใหญ่ แต่ในปัจจุบันงานประเพณีปอยส่างลองนี้จะมีส่างลองคนเมือง เข้ามาร่วมพิธีกรรมด้วย เนื่องจากความสวยงามของพิธีกรรมเป็นสิ่งดึงดูดให้เกิดความ เลื่อมใส ศรัทธา

ปอยส่างลอง คืออะไร

ข้อมูลจากสาราณุกรมไทยให้ข้อมูล คำว่า “ปอยส่างลอง” คือ เป็นภาษาไทใหญ่ เกิดจากคำสามคำมาเชื่อมต่อกัน คือ คำว่า “ปอย” แปลว่า งาน การจัดงาน คำว่า ส่างลอง แปลว่าลูกแก้ว โดยคำว่าส่างลอง มาจากคำสองคำ คือ คำว่า “ส่าง” กับคำว่า “ลอง” คำว่า “ส่าง” มีการสันนิษฐานกันว่า น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า สาง หรือ ขุนสาง ที่แปลว่า พระพรหม ซึ่งในหนังสือธรรมะได้กล่าวว่า ท้าวอกนิษฐ์มหาพรหม ได้ถวายจีวรแก่เจ้าชายสิทธัตถกุมาร ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา เมื่อคราวที่เสด็จออกบวช

อีกอย่างหนึ่งคำว่า “ส่าง” มาจากคำว่า “เจ้าส่าง” แปลว่า สามเณร (ถ้าสึกจากสามเณรเรียกว่า “ส่าง” ถ้าสึกจากพระเรียกว่า “จอง”) คำว่า “ส่างลอง” จึงใช้เรียกลูกแก้วที่กำลังจะบรรพชาเป็นสามเณร ส่วนลูกแก้วที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุนั้น ภาษาไทใหญ่เรียกว่า จางลอง คำว่าจาง มาจากคำว่า “เจ้าจาง”คือพระอันดับ สำหรับเจ้าอาวาสจะเรียกว่า “หวุนเจ่า” ส่วนอีกคำคือคำว่า “ลอง” มาจากคำว่า “อะลอง” แปลว่าพระโพธิสัตว์หรือหน่อพุทธังกูร และอาจถือว่าหมายถึงเจ้าชายได้ด้วย

ความสำคัญของปอยส่างลอง

ประเพณีปอยส่างลองถือเป็นหนึ่งในประเพณีสำคัญยิ่งของชาวไทใหญ่ ครอบครัวที่มีบุตรชายจะรอคอยโอกาสอันประเสริฐนี้ด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้า เนื่องจากความเชื่อที่ว่าอานิสงส์จากพิธีบรรพชาปอยส่างลองจะนำพาให้บิดามารดาได้เสวยสุขสวรรค์ ดังนั้น การบวชปอยส่างลองจึงถือเป็นพิธีกรรมอันทรงพลังและยิ่งใหญ่ ซึ่งอาจเป็นวิธีการอันแยบยลที่จะให้บุตรหลานได้บำเพ็ญตนเป็นนักบวชพระภิกษุสงฆ์ชั่วคราวเพื่อศึกษาหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาในช่วงปิดภาคเรียน

ชาวไทใหญ่ทั่วไปมีความเชื่อถือกันว่า ผู้ที่ได้มีโอกาสจัดงานบรรพชาสามเณรและอุปสมบทพระภิกษุจะได้อานิสงส์มาก กล่าวคือถ้าได้บวชลูกของดนเองเป็นสามเณรมีอานิสงส์ 8 กัลป์ บวชลูกคนอื่นเป็นสามเณรได้อานิสงส์ 4 กัลป์ ถ้าบวชลูกของตนเองเป็นพระภิกษุได้อานิสงส์ 16 กัลป์ บวชลูกคนอื่นเป็นพระภิกษุได้อานิสงส์ 8 กัลป์ และผู้ที่เป็นพ่อบวชแม่บวชจะได้รับการยกย่องนับถือในสังคมด้วย พ่อที่บวชสามเณรจะถูกเรียกว่า “พ่อส่าง” นำหน้าชื่อ เรียกแม่ที่ได้บวชลูกว่า “แม่ส่าง” พ่อที่ได้บวชพระภิกษุเรียกว่า “พ่อจาง” และแม่ของพระภิกษุเรียกว่า “แม่จาง” ผู้ที่เคยบวชเณรเมื่อสึกแล้วจะเรียกว่า “ส่าง” นำหน้าชื่อ และผู้ที่เคยอุปสมบทจะเรียกว่า “หนาน” หรือ “ทาก-ทวาก” นำหน้าชื่อบุคคลนั้นๆ

ฤดูกาลปอยส่างลอง

การจัดงานปอยส่างลองของชาวไทใหญ่ ส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ว่างจากการทำไร่ทำนาและเป็นฤดูกาลที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่เด็กนักเรียนปิดภาคเรียน  ทำให้เหมาะสำหรับการจัดพิธีบวชส่างลองอย่างยิ่ง เมื่อครอบครัวตัดสินใจจัดงานปอยส่างลอง จะนำบุตรหลานหรือผู้ที่จะบวชไปฝากตัวกับวัดเป็นเวลาประมาณ 10 วัน ถึงหนึ่งเดือน เพื่อเรียนรู้อ่านเขียน เรียนรู้วิธีการบวชและพิธีกรรมต่างๆ ในช่วงเวลานี้ และในขณะเดียวกันครอบครัวก็จะเตรียมการจัดงานบวชส่างลองด้วย

ในการเตรียมงาน ก่อนจัดงานปอยส่างลอง มีหลายอย่างทั้งอุปกรณ์พิธีกรรม เครื่องประกอบพิธี เสื้อผ้าชุดสวยงามสำหรับส่างลอง เครื่องไทยทาน รวมถึงข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ที่จะนำไปถวายพระในพิธีบวช ชาวบ้านที่เป็นญาติมิตรสนิทสนมจะมาร่วมกันเตรียมการตามกำลังทรัพย์และความสามารถ โดยปกติจะเริ่มเตรียมการกันตั้งแต่หลายสัปดาห์ก่อนงาน ขนาดของงานอาจจะใหญ่หรือเล็กแล้วแต่ฐานะ แต่ล้วนแล้วแต่จัดด้วยจิตศรัทธาและด้วยน้ำใจ

การบวชปอยส่างลอง

วิธีการบวชมี 2 อย่าง คือ บวชแบบที่เรียกว่า “ข่ามดิบ” คือ ไม่มีพิธีอะไรมากมาย เพียงนำเด็กที่จะบวชมาโกนผมนุ่งขาวห่มขาว จัดเครื่องไทยทานและนำเด็กไปที่วัด ทำพิธีบวชเสร็จในวันเดียว อีกวิธีหนึ่ง คือ จัดงานปอยส่างลอง ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมกันมากของชาวไทใหญ่

ในการจัดงานปอยส่างลองนั้น เมื่อเจ้าภาพหรือพ่อแม่เด็กนำเด็กไปฝากไว้ที่วัดแล้ว ก็จะมีการประชุมตกลงหารือกันว่าใครจะเป็นเจ้าภาพใหญ่ หรือเรียกว่า “ตะก่าโหลง” และเจ้าภาพร่วม โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่จะเป็นตะก่าโหลงเจ้าภาพใหญ่ มักจะเป็นคนที่มีฐานะ หรือเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นที่เชื่อถือในหมู่บ้าน จากนั้นก็จะตกลงกันต่อไปว่า จะจัดงานกันกี่วัน เช่น 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน ส่วนใหญ่นิยมจัดงาน 3 วัน ค่าใช้จ่ายในการจัดงาน เช่น ค่าอาหาร ค่าเครื่องไทยทาน หัววัด ค่าต้นตะแปส่า (ต้นกัลปพฤกษ์) จำนวนพระภิกษุที่จะนิมนต์มารับเครื่องไทยทาน จำนวนแขกที่เชิญมาร่วมงาน การยืมสิ่งของเครื่องใช้ ตลอดจนค่ารางวัล “ตะแปส่างลอง” ค่าตก “อะซู” (รางวัล) ผู้ที่มาช่วยหุงข้าวต้มแกง ซึ่งเรียกว่า “เจ้ามื้อ” และผู้ที่นำบ้องไฟมาจุดในพิธีด้วย

ผู้จะบวชเณร เรียกว่า “ส่างลอง” ผู้จะอุปสมบทเป็นภิกษุเรียกว่า “จองลอง” เมื่อถึงกำหนดวันงานก็จะโกนผม แต่ไม่โกนคิ้ว แต่งกายประดับอย่างสวยงาม นุ่งโจงกระเบนสีสด ปล่อยชายด้านหลังยาวจับจีบ คาดด้วยเข็มขัดนาคหรือเงิน สวมเสื้อแขนกระบอกชายโค้งงอน เสื้อปักฉลุลวดลายดอกไม้สีต่างๆ สวมเครื่องประดับมีค่า เช่น สายสร้อย กำไล แหวน เป็นต้น และใช้ผ้าโพกศีรษะแบบพม่า สวมถุงเท้าขาวยาว บางคนจะสวมแว่นตาดำ ทาแป้ง เขียนคิ้ว และทาปาก  ผู้เป็น “ส่างลอง” จะมีพี่เลี้ยงคอยปฏิบัติดูแลอย่างน้อยสามคน เรียกว่า “ตะแปส่างลอง”  เป็นภาษาไทใหญ่ จะเรียกพี่เลี้ยงของผู้ที่บวชส่างลองขี่คอ โดยสาเหตุที่ต้องขี่คอ ก็มาจากผู้ที่จะบวชเป็นสามเณรเปรียบเหมือนหน่อพุทธางกูรที่มีบุญบารมีสูง จึงต้องมีคนดูแลตลอด ตั้งแต่อาบน้ำจนแต่งองค์ทรงเครื่อง พาไปที่ต่างๆ

จากนั้นจะมีการประชุมตะแปส่างลองมอบหมายภารกิจความรับผิดชอบของสางลองเป็นองค์ๆไป ในการประชุมนั้นจะมีผู้เฒ่าผู้แก่ให้คำปรึกษาเรื่องต่างๆ เมื่อประชุมปรึกษาเตรียมงานและรายละเอียดต่างๆ แล้วบรรดาญาติพี่น้องหนุ่มสาวบ้านใกล้เรือนเคียงจะมาช่วยหุงข้าวต้มแกง ซึ่งแต่เดิมใช้ธูปเมี่ยง คือ นำเมี่ยงที่ใช้กันมาห่อด้วยใบตอง มอบหมายให้หนุ่มสาวเป็นผู้นำธูปเมี่ยงไปแจกตามบ้าน และบอกให้ทราบว่าคนนั้นคนนี้เป็นเจ้าภาพส่างลองจำนวนกี่รูป วันไหนรับส่างลอง วันไหนแห่ “ครัวหลู่” (เครื่องไทยทาน) วันไหนบวช ต่อมาภายหลังใช้เทียนไขแทนห่อเมี่ยงสำหรับพระสงฆ์ผู้ที่จะไปนิมนต์มักเป็นคนเฒ่าคนแก่นำดอกไม้ธูปเทียนไปนิมนต์

ก่อนวันจัดงานส่างลอง 2-3 วัน จะมีการเตรียมงานโดยมีคนเฒ่าคนแก่หนุ่มสาว มาช่วยเจ้าภาพเตรียมเครื่องต้อนรับแขก คือข้าวแตกปั้น คือ นำข้าวตอกคั่วแล้วมาคลุกกับน้ำอ้อยแล้วปั้นให้เป็นก้อนกลม และข้าวพองต่อ โดยนำแป้งมาคลุกแล้วทำเป็นแผ่น ๆ ตากให้แห้งนำมาทอดและฉาบน้ำอ้อย นอกจากนั้นก็มีการมวนบุหรี่ ห่อหมากเมี่ยง เตรียมที่จะหุงหาอาหาร เตรียมเครื่องไทยทาน ทำต้นตะแปส่า ในระหว่างที่ช่วยกันทำงานนั้นช่วงกลางคืนจะมีการเฮ็ดความ (อ่าน “เฮ็ดกวาม”) (ร้องเพลงไทใหญ่) สรรเสริญเจ้าภาพที่ได้ทำบุญทำทาน เกี้ยวพาราสีกันบ้าง มีการตีกลองมองเชิง กลองมองลาว กลองก้นยาว สลับกันทั้งคืนเป็นที่สนุกสนานรื่นเริง ในสมัยก่อนไม่มีไฟฟ้าใช้ก็จะจุดตะเกียงเจ้าพายุให้ความสว่างไสวไว้เป็นที่รู้กันทั่วไป

ก่อนถึงกำหนดงานหนึ่งวัน การเตรียมงานทุกอย่างจะพร้อมเสร็จแล้วในตอนเย็นของวันนั้น พ่อแม่หรือเจ้าภาพจะนำเด็กที่จะเป็นส่างลองมาโกนผม โดยมีพ่อแม่เป็นผู้ดัดผมให้ก่อนเมื่อโกนผมเสร็จแล้วจะให้อาบน้ำเงินน้ำทอง น้ำขมิ้นส้มป่อยประแป้งให้ นุ่งขาวห่มขาว รับประทานอาหารแล้วนำไปรับศีลห้าที่วัด แล้วพากลับมาพักผ่อนที่บ้านหรือบางทีก็นอนที่วัดช่วงนี้เป็นหน้าที่ดูแลของตะแปส่างลอง

การจัดปอยส่างลองจะมี 3-4 วัน คือ วันรับสางลอง เป็นวันแรกของงานจะไปรับส่างลองที่วัดและนำส่างลองแห่ไปตามบ้านญาติสนิท ผู้เฒ่าผู้แก่ผูกข้อมือสู่ขวัญ วันแหล่ครัวหลู่ คือวันแห่เครื่องไทยทานและ “วันข่ามแขก” คือ วันรับแขกที่มาเยือนซึ่งนำปัจจัยมาร่วมทำบุญกับเจ้าภาพ วันบวชและถวายเครื่องไทยทานนำลูกแก้วไปบวช มีการเทศน์ถวายปัจจัยแด่สามเณรและเลี้ยงอาหารแขกที่วัด วันอ่องปอย คือ “วันฉลองส่างลอง”

วันแรกของงานเป็นวัน “ฮับส่างลอง” หรือรับส่างลอง เจ้าภาพและตะแปส่างลองจะนำเด็กที่จะเป็นส่างลองไปที่วัดในตอนเช้ามืดแต่งตัวให้ส่างลอง ซึ่งคล้ายกับเจ้าชายโบราณ คือ สวมเสื้อแขนกระบอก เอวงอน และเสื้อเจ้านายไทใหญ่มีการปักฉลุเป็นลายดอกสวยงาม สีอาจมีหลายสีเป็นสีสด เช่น แดง ชมพูม่วง เหลือง ฟ้า และนุ่งโจงกระเบนสีเดียวกัน หรือเข้าชุดกับเสื้อ สวมสร้อยคอทองคำที่เรียกว่า “แคบคอ” สวมแหวนสวมกำไล ติดริบบิ้นโบที่ไหล่ทั้งสองข้าง ศีรษะใช้ผ้าแพรพันรอบ แซมด้วยดอกเอื้องคำ และดอกไม้อื่นๆ บางแห่งสวมชฎา เมื่อแต่งกายเสร็จแล้วได้ฤกษ์ ส่างลองจะรับศีลห้า จากพระ ขอขมาพระ ช่วงนี้ในสมัยก่อนจะมีการยิงปืนแก๊ปใส่ดินดำ ไม่มีกระสุน ที่ทำขึ้นเองดังสนั่นไปทั่วหมู่บ้าน โดยมีความเชื่อว่าป้องกันไม่ให้ภูตผีปิศาจหรือพญามารอันตรายใดๆที่จะมาทำลายพิธีบวชส่างลอง ปัจจุบันนี้ทางราชการห้ามไว้ เมื่อเสร็จพิธีรับส่างลองแล้วตะแปส่างลองจะนำส่างลองขี่คอลงจากวัด ฟ้อนรำประกอบกลองก้นยาวเป็นการฉลองการรับส่างลองแล้วแห่ออกจากวัดไปยังศาลเจ้าพ่อหลักเมืองหรือศาลเจ้าเมืองประจำหมู่บ้าน ขอขมาลาโทษและขอความคุ้มครองให้ปลอดภัยร่มเย็นเป็นสุข เสร็จแล้วก็จะแห่ส่างลองไปยังวัดอื่นๆ ที่ใกล้เคียง เพื่อขอขมาพระสงฆ์เจ้าอาวาสวัดนั้น

หลังจากขอขมาจากศาลเจ้าเมืองหรือเจ้าอาวาสแล้วตะแปส่างลองจะนำสางลองกลับไปยังบ้านเจ้าภาพเพื่อพักผ่อนและรับประทานอาหาร ครั้นตอนบ่ายจะนำส่างลองไปเยี่ยมบ้านญาติพี่น้องผู้ที่เคารพนับถือ เมื่อส่างลองไปถึงบ้านใด เจ้าของบ้านนั้นจะให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ถือว่าเป็นเกียรติแก่บ้านของตนเอง เจ้าของบ้านจะนำน้ำส้มน้ำหวานมาต้อนรับส่างลองมีการผูกข้อมือสู่ขวัญส่างลองตามประเพณี เงินที่ได้จากการผูกข้อมือสู่ขวัญจะมีหัวหน้าตะแปเป็นผู้เก็บรักษาไว้ และนำไปถวายเมื่อส่างลองบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ตะแปส่างลองจะนำส่างลองไปเยี่ยมตามบ้านต่างๆ จนสมควรแก่เวลาจะนำส่างลองกลับที่พักเพื่อพักผ่อน วันแรกนี้ที่บ้านเจ้าภาพจะมีพี่น้องและแขกที่เชิญมาเยี่ยมเยียนร่วมทำบุญและชื่นชมส่างลอง มีการตีกลองมองเชิง และเตรียมเครื่องไทยทานที่จะแห่ในวันรุ่งขึ้นไปด้วย

วันที่สองของการงานเป็นวัน “แหล่ครัวหลู่” คือ แห่เครื่องไทยทาน ในวันนี้จะมีผู้คนมาช่วยแห่เครื่องไทยทานมากมายต่างก็แต่งกายอย่างสวยงามตามแบบไทใหญ่ และโดยเฉพาะหนุ่มสาวจะแต่งตัวสวยงามเป็นพิเศษมาเข้าร่วมขบวนแห่ ขบวนแห่จะตั้งขบวนที่หน้าบ้านเจ้าภาพใหญ่แห่ตามถนนไปยังวัดโดยขบวนแห่ประกอบด้วย ผู้เฒ่าผู้แก่เดินนำขบวนถือขันดอกไม้ธูปเทียน, จีเจ่ คือกังสดาลตีเป็นจังหวะ เป็นการประกาศการทำบุญ, ม้าเจ้าเมือง อัญเชิญเจ้าเมืองจากศาลมาร่วมเป็นเกียรติแก่ขบวน, ต้นตะแปสำพระพุทธ-ต้นกัลปพฤกษ์ถวายเป็นพุทธบูชา, ต้นตะแปส่าพระสงฆ์-ต้นกัลปพฤกษ์ถวายพระสงฆ์, ปักข้าวแตก ข้าวตอกห่อด้วยผ้าขาวผูกต้นไม้ยาวสำหรับส่างลองถวายพระสงฆ์, เทียนเงิน เทียนทอง ธูปเทียนแพ เครื่องบูชาของส่างลองบูชาอุปัชฌาย์, พุ่มเงิน พุ่มทอง-สำหรับส่างลองถวายพระพุทธเจ้าและประดับขบวน, อูต่องปานต่อง-คือกรวยหมากพลูกับกรวยดอกไม้, หม้อน้ำต้น-หม้อดินใส่น้ำผ้าขาวปิด จัดไว้เพื่อความร่มเย็นของงาน, กลองมองเซิง-กลอง 1 ใบ ฆ้องชุด 6 ใบ ฉาบ 1 ฉิ่ง 1, เครื่องไทยทาน-เตรียมไว้ถวายพระสงฆ์ที่รับนิมนต์มาในงาน, อัฐบริขาร-เครื่องใช้ของส่างลอง เครื่องนอน และอื่นๆ จากนั้นก็จะเป็นขบวนส่างลองมีกลองก้นยาวตีประกอบด้วย ในบางแห่งอาจมีบ้องไฟนำมาร่วมขบวนจะนำไปจุดวันสุดท้ายของงาน ขบวนแห่จะแห่ไปยังวัดที่จะทำการบรรพชาส่างลอง นำเครื่องไทยทานไปเก็บไว้ที่วัด

การจัดงานในภาคกลางคืน จะมีการเลี้ยงอาหารส่างลองเป็นพิเศษด้วยอาหารคาวหวาน 12 อย่าง โดยมีพ่อแม่เป็นคนป้อนอาหาร จากนั้นจะทำพิธีเรียกขวัญส่างลอง เสร็จแล้วก็จะผูกข้อมือและนำส่างลองไปพักผ่อนที่บ้าน

ส่วนส่างลองจะนำไปบวชในตอนบ่าย ตอนแห่ส่างลองไปบวชเจ้าภาพจะต้องระมัดระวังส่างลองเป็นพิเศษ เพราะตะแปส่างลองอาจนำส่างลองไปหลบซ่อนไว้ เพื่อชะลอการบวชเจ้าภาพจะต้องไปขอร้อง หรือมีการมอบเงินรางวัลตามแต่จะตกลงกัน โดยรางวัลที่เจ้าภาพมอบให้นั้น ตะแปส่างลองจะนำไปซื้อเครื่องไทยทานร่วมทำบุญด้วย วันบวชหลังจากมีการอุปสมบทแล้วจะมีการถ่อมลีก คือ การเทศน์ของชาวไทยใหญ่ เป็นอ่านหนังสือธรรมะให้ผู้มาร่วมงานฟัง จากนั้นจะถวายอาหารเพลแด่พระสงฆ์ และเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงาน เสร็จแล้วทำพิธีบรรพชาสามเณรแล้วก็จะมีเทศน์อานิสงส์การบวชแล้วถวายเครื่องไทยทานเป็นอันเสร็จพิธี

เมื่อเสร็จพิธีหากมีบ้องไฟก็จะนำบ้องไฟไปจุด ทั้งคณะบ้องไฟและตะแปส่างลองจุดบ้องไฟเสร็จจะแห่กันไปยังบ้านเจ้าภาพ เพื่อตกอะซู (ขอรางวัล) เจ้าภาพ พร้อมกันนั้นอาจทำส่างลองปลอม “ส่างลองพราง” แห่แหนไปด้วย มีการเช็ดความขออะซู เมื่อเจ้าภาพมอบรางวัลให้แล้วจะเฮ็ดความ อวยพรขอบคุณเงินรางวัลที่ได้ทั้งตะแปส่างลองและคณะบ้องไฟ จะนำไปซื้อเครื่องใช้ไม้สอยภายในวัด เช่น ถ้วยจานถวายวัด

“การอ่องปอย” หรือการฉลองงานมักจะทำหลังจากเสร็จสิ้นงาน 2-3 วัน ในการอ่องปอยจะมีการถวายอาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์และสามเณรที่บวชใหม่ ถวายเครื่องไทยทานเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงานเป็นอันเสร็จสิ้นงานปอยส่างลอง

แม่ฮ่องสอน
ปอยส่างลอง ปลอดเหล้า

จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่เป็นพื้นที่เขตพิเศษ และมีเอกลักษณ์เฉพาะทางของพื้นที่มากมาย เช่น ประเพณีปอยส่างลอง งานกินวอของชาติพันธุ์ เป็นต้น

ประเพณีปอยส่างลองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือว่าเป็นประเพณีที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ปัจจุบันงานประเพณีปอยส่างลอง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมประจำปี พ.ศ. 2561 สะท้อนวิถีพุทธเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญของชาติและส่งเสริมให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนและเป็นการปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม นำไปสู่ความเข้าใจและเห็นคุณค่าในความแตกต่างทางวัฒนธรรมทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

หมอรอน ใจกันทา ภาคีขับเคลื่อนและทำงานในจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวถึงการที่ภาคีและเครือข่ายงดเหล้า เข้าไปทำงานปลอดเหล้าในประเพณีปอยส่างลองนั้น ก็มีวีการทำงานที่ยึดหลักการและเหตุผลของคนในพื้นที่เป็นหลัก คือต้องไปพูดคุยกับเจ้าของงานหรือผู้จัดงานในการจัดงานประเพณีปอยส่างลองปลอดเหล้า ถึงตอนนี้สามารถประกาศได้เลยว่า ปอยส่างลองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะในขบวนแห่จะไม่มีการดื่ม ไม่มีการถือกระป๋องเครื่องดื่มแม้แต่กระป๋องเดียว

แต่ถ้าหากจะให้งานปลอดทั้งหมดทุกขั้นตอนนั้น การเจรจาพูดคุยทำความเข้าใจ เป็นช่วงกระบวนการที่สำคัญของการทำให้งานประเพณีปอยส่างลองปลอดเหล้า โดยเฉพาะกระบวนการเจรจากับเจ้าของงานในบ้านที่จัดงานนั้นว่า ในครัวของบ้าน ไม่มีเหล้าด้วยได้หรือไม่ จะให้งานเป็นงานสีขาวจริงๆได้ไหม ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่เราจะต้องค่อยๆพูดจากับคนในพื้นที่

บางครั้งสิ่งที่พบเจอ เจ้าของงานก็ไม่อยากเลี้ยง แต่ว่าคนที่ไปร่วมงานอยากกิน อยากดื่ม เพราะเขามองว่า ถือเป็นงานที่ต้องฉลอง บางพื้นที่ก็ไม่สามารถเข้าไปแตะประเด็นเรื่องนี้แบบลึกๆ ได้

ประเพณีปอยส่างลองของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ถือว่าเป็นประเพณีที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ปัจจุบันงานประเพณีปอยส่างลอง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมประจำปี พ.ศ. 2561 สะท้อนวิถีพุทธเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญของชาติและส่งเสริมให้คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนและเป็นการปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม นำไปสู่ความเข้าใจและเห็นคุณค่าในความแตกต่างทางวัฒนธรรมทั้งในระดับประเทศและระดับสากล


Reference

  • “ปอยส่างลอง (การบวช).” สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 7. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542: 3655-3659. https://db.sac.or.th/thailand-cultural-encyclopedia/detail-bibliography.php?id=10678
  • โชคนิธินันต์ คุณยศยิ่ง. (2557). องค์ความรู้ของการจัดการปอยส่างลองวัดป่าเป้า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ = Knowledge of Poy Sang Long tradition, Pa Pao Temple, Mueang district, Chiang Mai province’s management
  • โชคนิธินันต์ คุณยศยิ่ง. เชียงใหม่ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. https://cmudc.library.cmu.ac.th/frontend/Info/item/dc:121894
  • ภาพ Mae Hong Son-Poi Sang Long Festival (ประเพณีปอยส่างลอง) https://www.tatmediaassets.com/file/1187250

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล