ผีตาโขน : สีสันลวดลายบนจิตวิญญาณ

เรื่อง/เรียบเรียง : ศุภกิตติ์ คุณา

เสียงดัง กรุ๊งกริ๊ง กรุ๊งกริ๊ง จากเครื่องแต่งกายของเหล่าผีตาโขน ที่ออกมาเล่นในขบวนพาเหรด บนถนนระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร ในงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ของอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย สร้างการจดจำทั้งเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ และสีสันของเสื้อผ้าและหน้ากากผีตาโขน คล้ายกับว่าไปชมขบวนพาเหรดคาร์นิวัล (Rio Carniva) ของประเทศบราซิล

ผีตาโขน (Phi Ta Khon) เป็นชื่อการละเล่นชนิดหนึ่งในประเพณีบุญหลวง โดยที่ผู้เล่นผีตาโขน จะมีการทำหน้ากากผีตาโขน ขึ้นมาเพื่อสวมใส่ ลักษณะของหน้ากากผีตาโขนตามประเพณี จะมีความน่ากลัวและน่าเกลียด หน้ากากจะมีเส้นหางตาที่ยาวผิดปกติ มีการสวมชุดเครื่องแต่งกายที่มิดชิดและเต็มไปด้วยสีสันจากลวดลายของผ้าหลากสี และการประดับตกแต่งจากเศษผ้า แล้วเข้าร่วมเดินในขบวนแห่งานบุญหลวง

ซึ่งงานบุญหลวง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “บุญใหญ่” เป็นการรวมเอางานบุญสองงานตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ของชาวอีสานรวมเข้าด้วยกัน คืองาน “บุญผะเหวด” หรือ “บุญพระเวสสันดร” ซึ่งมักทำในเดือนสี่ และ “บุญบั้งไฟ” ซึ่งทำในเดือนหก มารวมเข้าด้วยกันรวมเรียกว่า “งานบุญหลวง” ฮีตเดือนแปด (ผมได้ทำเนื้อหาประเพณีบุญหลวง (สามารถอ่านเพิ่มเติม : ประเพณีบุญหลวง การละเล่นผีตาโขนของคนด่านซ้าย)

ผีตาโขนมาจากไหน

การละเล่น “ผีตาโขน” นั้น มีมาตั้งแต่เมื่อใดนั้น ไม่มีผู้ทราบแน่ชัดว่ามาจากไหน แต่มีผู้รู้ต่างสันนิษฐานไว้หลายกรณี มีทั้งที่มาจาก หัวโขน โขนละคร ผีตามคน ผีตาขน หรือ ผีขน ข้อมูลจาก ธัญญ บัวระภา ระบุว่า ในทัศนะของเจ้าพ่อกวนแล้ว คำว่าผีตาโขนคงมาจากการที่บรรดาผีเหล่านั้นสวมหน้ากากคล้ายลักษณะของโขนละคร แต่เดิมบางคนเรียกว่า ผีตาขนบ้าง ผีตามคนบ้าง แต่ก็หาความหมายไม่ได้ชัดแจ้ง

ภาพจากหนังสือ เลย สำนักพิมพ์สารคดี ปี 2533 ภญ.ดาริน จึงพัฒนาวดี

ในขณะที่ สาร สาระทัศนานันท์ นักวิชาการท้องถิ่นจังหวัดเลย กล่าวว่า เมื่อการเล่นผีตาโขน ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการละเล่นในพิธีกรรมทางพุทธศาสนางานบุญหลวง ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “ผีตามคน” ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อถึงเวลาประกอบงานบุญหลวง ในหมู่บ้านมักจะมีผีป่าที่ติดตามส่งพระเวสสันดรเข้าเมือง เหตุดังกล่าวจึงทำให้เรียกการละเล่นของผู้สวมหน้ากากรูปผีว่า “ผีตามคน” นับจากนั้นมา ก่อนเปลี่ยนมาเป็น “ผีตาโขน”สมัยหลัง

สาร ให้ความเห็นของการเพี้ยนคําดังกล่าวว่า คงหมายถึงผีที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายหัวโขนที่ปั้นหรือทำขึ้นให้ดูน่าเกลียดน่ากลัว เมื่อคนจะเล่นผีตาโขนจึงต้องทำหัวโขนให้น่าเกลียดน่ากลัวมาสวมใส่ด้วยและที่น่าแปลกคือ การเล่นผีตาโขนเป็นการเล่นที่มีการสวมหัวจำลองคล้ายๆ กับการเล่น โขนในภาคกลาง

ตำนาน “ผีตามคน”

ที่มาของประเพณีผีตาโขน ตามความเชื่อในเรื่องการแห่พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง ในงานบุญพระเวสหรือบุญผะเหวดเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนา ซึ่งพูดถึงพระชาติที่ 10 ชาติก่อนหน้าที่จะถือกำเนิดมาเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรง เป็นพระโพธิสัตว์ ถือกำเนิดเป็นเจ้าชาย ผู้เป็นที่รักยิ่งของ ทวยราษฎร์ ทรงพระนามว่า พระเวสสันดร กล่าวกันว่า พระองค์เสด็จออกไปบวชในป่าเป็นเวลานาน ต่อมาพระเจ้ากรุงสัญชัยกับพระนางผุสดี ซึ่งเป็นพระบิดา และพระมารดาของพระเวสสันดรได้ไปทูลเชิญพระเวสสันดรและพระนางมัทรีและกัณหา ชาลี กลับเข้าเมือง พระองค์ก็เสด็จกลับมา พสกนิกรของพระองค์ต่างปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงได้พร้อมใจกันเฉลิมฉลองการเสด็จกลับมาของพระเวสสันดร

บรรดาผีป่าทั้งหลายผู้อาลัยรักต่อการจากไปของทั้งสองพระองค์ จึงพากันแฝงตัวไปกับชาวบ้าน เพื่อมาส่งเสด็จ และตามคนไปทำบุญด้วย เมื่อเข้ามาในเมืองจึงพากันตระเวนเที่ยวเมือง แม้ไม่ได้ทำอันตรายใคร แต่ด้วยความที่เป็นผี เมื่อชาวเมืองไปพบเห็นเข้าจึงตกใจกลัว สัญชาตญาณผีก็อดที่จะแลบลิ้นปลิ้นตาหลอกชาวบ้านไม่ได้ แต่ก็มีความอับอายชาวบ้านที่มาส่ง เนื่องจากไม่เคยเข้าเมืองมาก่อน ทำให้ต้องหาวัสดุต่าง ๆ มาปกปิดร่างกาย

เมื่อได้เวลาบรรดาผีป่าก็จะพากันออกนอกเมืองกลับคืนสู่ป่า พร้อม ๆ กับนําพาความโชคร้ายและทุกข์โศกโรคภัยทั้งปวงออกจากเมืองไปด้วย จึงมีคําเรียกว่า “ผีตามคน” และอาจเพี้ยนกลายมา เป็น “ผีตาโขน” ในภายหลัง

ในงานบุญหลวง วันที่สอง เมื่อถึงเวลาประมาณบ่ายสามโมงเย็น (15.00 น.) จะมีพิธีการจัดขบวนแห่พระเวสสันดรเข้า โดยอัญเชิญพระพุทธรูป 1 องค์ และพระภิกษุ 4 รูปขึ้นนั่งบนเสลี่ยงก่อนเริ่มขบวนแห่ โดยมีผีป่าร่วมขบวนเดินเข้ามาส่งด้วย ซึ่งผีป่านั้นก็คือผีตาโขน ตามความเชื่อเพื่อเลียนแบบผีป่าขี้อาย จึงมีการนำเอาเศษวัสดุที่เหลือใช้ในครัวเรือนมาประดิษฐ์เป็นชุดผีตาโขนจนเป็นประเพณี โดยมีการนำวัสดุที่มาใช้ในการสร้างหน้ากากและชุดผีตาโขนนั้น มีการทำมาจากหวดนึ่งข้าวเหนียว และส่วนโคนของกาบต้นมะพร้าวแห้ง นำมาเจาะเป็นช่องลูกตา และเขียนหน้าตาด้วยเขม่าไฟจากดินหม้อ ขมิ้น และปูนขาว นอกจากนี้ยังใช้เศษผ้าห่ม มุ้งเก่าที่ขาดหรือจีวรของพระที่ไม่ได้ใช้แล้ว นำมาสู่การปรับปรุงและคิดออกแบบสร้างสรรค์เป็นชุดเครื่องแต่งกายสำหรับผีตาโขน ซึ่งในปัจจุบันมีการปรับปรุงการทำหน้ากากผีตาโขนโดยมีการวาดลวดลายลงไปอย่างสวยงาม

ลักษณะการละเล่นผีตาโขน

การละเล่นผีตาโขน ตามประเพณีในอำเภอด่านซ้าย แบ่งออกเป็นผีตาโขนน้อยและผีตาโขนใหญ่ และจากการศึกษาข้อมูลของ ไทยโรจน์ พวงมณี (2554) พบว่า มีการละเล่นมาตั้งแต่สมัยโบราณ สาเหตุที่เรียกว่าผีตาโขนน้อยนั้นเป็นเพราะสัดส่วนและขนาดเท่ากับรูปร่างของคนจริงที่ซ่อนอยู่ภายใน ปัจจุบันสามารถเล่นได้ทั้งชายและหญิง แต่สมัยก่อนนิยมเล่นเฉพาะผู้ชาย อาจเนื่องมาจากผู้แสดงต้องแสดงอาการทะลึ่งด้วย

ในวันโฮม (วันแรกของงาน) ผีตาโขนเล็กจากหมู่บ้านต่างๆ จะมารวมตัว กันเพื่อร่วมขบวนแห่พระอุปคุตจากท่าน้ำลำน้ำหมันมาประดิษฐานที่วัดโพนชัย มีผีตาโขนใหญ่นำหน้าขบวน เพื่อแห่ไปยังบ้านเจ้ากวน ขบวนมีการตีกลองยาว ฆ้อง นิ่ง และฉาบ เมื่อถึงบ้านเจ้ากวน ทั้งเจ้าพ่อกวนและนางเทียม

ผีตาโขนเล็ก (2550). ภาพ : ภญ.ดาริน จึงพัฒนาวดี อนุญาตเผยแพร่ใน sdnthailand.com

ผีตาโขนน้อย

ส่วนการทำผีตาโขนน้อย ชาวบ้านต่างคนต่างทำ สมัยก่อนนิยมทำหน้ากากด้วยโคนก้านทางมะพร้าวแห้ง จัดตัดแต่งเจาะช่องตา จมูก ปาก และใบหู แล้วเอาหวดนึ่งข้าวเหนียวที่ไม่ใช้แล้วมาเย็บติดกับหน้ากาก โดยหงายปากหวดขึ้นข้างบนให้หูของหวดอยู่ทางซ้ายและขวาของศีรษะ ตรงก้นหวด กดให้เป็นรอยกลมๆ แล้วนำเอาผ้าเก่าที่ไม่ใช้แล้ว มาเย็บต่อจากหน้ากากลงมา จัดแต่งให้ผ้าคลุมรอบตัวมิดชิด ส่วนแขนจะทำเป็นรูปแขนเสื้อยาวออกมา เนื่องจากการทำหน้ากากผีตาโขนน้อย ไม่มีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขเหมือนผีตาโขนใหญ่

นอกจากนี้มีการนําไม้มาทำเป็นดาบหรือง้าว ตรงโคนด้ามดาบทำเป็นรูปอวัยวะเพศชาย รวมทั้งยังทำ “หมากกะแหล่ง” หรือวัตถุที่มีลักษณะคล้ายกระดิ่งแต่เป็นรูปสี่เหลี่ยม แบน ใช้แขวนคอวัวควาย มาผูกที่บั้นเอว บางคนก็ใส่สร้อยประคําสำหรับห้อยคอทำจากไม้ เป็นท่อนขนาดเล็ก โตราวเท่าหัวแม่มือ ทำเป็นรูปอวัยวะเพศชาย ร้อยเป็นพวงยาว คล้อง คอบ้าง ผูกรอบติดบันเอวบ้าง และบางคนก็อาจนําวัตถุบางอย่างมาทำรูปอวัยวะเพศหญิง นํามาใช้ประกอบการละเล่น ขณะที่บางคนกลับแต่งเป็นคนป่า เปลือยกายท่อนบนและใช้ ดินหม้อทาตัว พร้อมนํา “ไม้เตี้ย” หรือไม้ไผ่ชนิดปล้องยาวๆ มาถือกระแทกกับพื้นเป็นจังหวะ

นอกจากนี้ ชาวบ้านบางคนยังนําดอกไม้ไผ่มาสานเป็นรูปม้า ช้าง และควาย หุ้มด้วยผ้าเก่า โดยสานเว้นช่องตรงกลางลำตัวม้าไว้สำหรับให้คนเอาลำตัวสอดเข้าไปถือม้า เมื่อนํามาเข้าขบวนแห่หรือขณะนําม้าไปแสดงการละเล่น พร้อมกับมีดดาบหรือง้าวเป็นอาวุธ ชาวบ้านเรียกคนขี่ม้าจำลองนี้ว่า “ม้า ช้าง ควายตาโขน” เพื่อวิ่งไล่หยอกล้อผู้หญิงและเด็ก คนที่ขี่ม้าปกติจะไม่สวมหัวผีตาโขน แต่จะทาหน้าและลำตัวด้วยสีต่างๆ ให้น่าเกลียดน่ากลัว ส่วนผู้เล่นผีตาโขนในสมัยก่อน จะเล่นเฉพาะผู้เฒ่าและผู้แก่ ไม่เปิดโอกาสให้เด็กหนุ่มวัย รุ่นเล่นหรือใส่หน้ากากผีตาโขน เพราะชาวบ้านเชื่อว่า “เด็กปากบ่แล้ว แคล้วบ่เล่นบุญบ่ ได้ไม่ดี” คือเล่นแล้ว “ขะหลำ” หรือผิดจารีตที่เคยปฏิบัติมา ปัจจุบันธรรมเนียมดังกล่าวจาง หายไปหลายสิบปีแล้ว ทำให้การเล่นผีตาโขนมีผู้เล่นหลากกลุ่มและหลายวัย

ผีตาโขนใหญ่ (2534). ภาพ : ภญ.ดาริน จึงพัฒนาวดี อนุญาตเผยแพร่ใน sdnthailand.com

ผีตาโขนใหญ่

ผีตาโขนใหญ่ทำเป็นรูปผู้ชายและหญิงอย่างละหนึ่งตัว คนทำคือกลุ่มชาวบ้านครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งที่อยู่ในด่านซ้ายและมีฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีหน้าที่จัดทำต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน หากถ้าปีใดไม่ทำ เชื่อว่าอาจทำให้คนในครอบครัวและคนในชุมชนเกิด เหตุเภทภัยหรือเจ็บไข้ได้ป่วยชาวบ้านเชื่อกันว่า การทำผีตาโขนใหญ่จำลองมาจากร่างของคนที่มีรูปร่างสูงใหญ่ มีร่างกายที่แข็งแรงและสมบูรณ์ ก่อนขึ้นโครงร่างของผีตาโขนใหญ่ ผู้ทำจะต้องประกอบพิธีไหว้ครู จัดดอกไม้ธูปเทียนใส่พานกล่าวคําขอขมาและขออนุญาตต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ในเทศกาลประเพณีบุญหลวงแต่ละปีนั้น ชาวด่านซ้ายมีความเชื่อว่าการทำผีตาโขนใหญ่จะทำ 2 ตัวใน 1 ขบวนใหญ่ไม่ได้ ผีตาโขนใหญ่จะทำเป็นคู่ คือผีตาโขนชาย 1 ตัว และผีตาโขนหญิง 1 ตัว ส่วนการทำโครงผีตาโขนใหญ่จะใช้ไม้ไผ่มาสานขึ้นรูปเป็นลำตัว แขน และศีรษะ ส่วนศีรษะสานเป็นทรงกลม หาผ้าผืนใหญ่มาคลุม ใช้เส้นใยมะพร้าวหรือนําเศษผ้ามาติด เป็นริ้วยาวๆ ติดบนศีรษะสมมติให้เป็นผม โดยทำผมผู้หญิงยาวกว่าผมผู้ชาย ใบหน้าสาน ด้วยตอกไม้ไผ่เป็นวงกลม หลังจากนั้นจึงตกแต่งปาก จมูก ตา คิ้ว หู ส่วนลำตัวและแขน หุ้มด้วยผ้าผืนใหญ่ เช่น ผ้ามุ้ง ผ้าห่ม ฯลฯ ที่ไม่ใช้แล้ว มาเย็บคลุมให้มิดชิด

สำหรับผีตาโขนชาย ทำอวัยวะเพศชาย ตอนปลายอวัยวะเพศทาสีแดง แล้วนํามา ผูกติดใต้บั้นเอวหรือใต้สะดือ ส่วนผีตาโขนหญิง ใส่ขนาดเครื่องเพศหญิงที่ทำจากโคนก้าน ทางมะพร้าว แล้วเย็บไว้ตรงใต้สะดือ ตรงหน้าอกทั้งสองข้างนํากะลามะพร้าวทำเป็นรูปนม ติดไว้ ส่วนลำตัวใช้ไม้ไผ่เป็นลำมามัดไขว้ผูก สำหรับให้คนยืนข้างในจับยกร่างผีตาโขน เคลื่อนไปมา ด้านหน้าตอนลำตัว เจาะรู 2 รู ให้คนถือผีตาโขนได้มองเห็น และใต้ช่องที่ ตามองลอด เจาะรูขนาดแขนสองข้างสอดเข้าออกได้ 1 รู สำหรับสอดขวดเหล้าหรือสิ่งของ เข้าไปได้ เมื่อมีคนให้เหล้าหรือสิ่งของแก่ผู้เชิดผีตาโขนใหญ่

พัฒนาการ
หน้ากากผีตาโขน

จะเห็นได้ว่าในยุคปัจจุบันการละเล่นผีตาโขนนั้น เราจะเห็นหน้ากากผีตาโขนและการละเล่นที่หลากหลาย ซึ่งการละเล่นผีตาโขนนั้นมีพัฒนาการที่น่าสนใจและมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน โดย พรรษชล แข็งขัน (2557) ได้แบ่งยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงเป็น 3 ยุค คือ

ยุคดั้งเดิม (ก่อน พ.ศ. 2500) การละเล่นผีตาโขนเริ่มต้นจากการละเล่นปู่เยอ ย่าเยอ ซึ่งมีความเชื่อผสมผสานระหว่างพุทธ พราหมณ์ และผี การละเล่นนี้ถ่ายทอดมาจากอาณาจักรล้านช้างโบราณ และได้รับการปรับให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชาวด่านซ้ายในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง

ยุคแสวงหา (พ.ศ. 2500-2530) ในยุคนี้ประเพณีผีตาโขนได้รับการพัฒนาเนื่องจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเข้ามามีส่วนร่วมของทางราชการ แนวคิดใหม่ๆ จากคนรุ่นใหม่และกระแสการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการถกเถียงและขัดแย้งในการกำหนดทิศทางของการละเล่น มีการแบ่งแนวคิดเป็นสามกลุ่มคือ ฝ่ายที่ต้องการรักษาแบบดั้งเดิม ฝ่ายที่ต้องการปรับให้เหมาะกับเศรษฐกิจ และฝ่ายที่ต้องการผสมผสาน

แม้ว่าจะมีความขัดแย้งกัน แต่สุดท้ายแนวคิดทั้งหมดก็รวมตัวกันเป็นประเพณีผีตาโขนที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว ผ่านสื่อมวลชนและการแสดงเผยแพร่ในที่ต่างๆ ทำให้ประเพณีนี้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ แต่ก็มีเสียงเรียกร้องและมีการตั้งคำถามถึงเป้าประสงค์ของการจัดงานมากขึ้น

ในปี พ.ศ. 2520 หน้ากากผีตาโขน ได้มีการพัฒนาจากเดิมคือมีจมูกที่ยาวขึ้น และมีการใช้หวดใหม่ พร้อมทั้งทาสีรองพื้นเพื่อเขียนตัวหนังสือเป็นข้อความที่หวด และเริ่มมีลวดลายไม่มากนัก เช่น ลายปีกนกที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์ และในปี พ.ศ. 2530 นักเรียนที่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน มีความรู้เรื่องลายไทยมากขึ้น อีกทั้งการเรียนการสอนในโรงเรียนมัธยม มีการเรียนแบบบูรณาการศิลปะพื้นบ้านกับลายไทยเข้าหากัน ทำให้หน้ากากผีตาโขนจึงมีลวดลายไทยเพิ่มมากขึ้น

ยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2530-ปัจจุบัน) เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้บรรจุประเพณีผีตาโขนลงในแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในปี พ.ศ.2531 ประเพณีผีตาโขนก็ได้พัฒนาต่อเนื่อง การละเล่นผีตาโขนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมได้ถูกปรับเป็นการแสดงเพื่อความบันเทิง มีการเพิ่มสีสันและความหลากหลาย หน้ากากผีตาโขนถูกปรับให้มีความสวยงาม ละเอียดประณีต และใช้วัสดุที่ทันสมัยตามกาลเวลา

การเปลี่ยนแปลงของหน้ากากผีตาโขน และการละเล่นผีตาโขนยังรวมถึงหน้ากากผีตาโขนด้วย ในยุคดั้งเดิม หน้ากากจะทำจากหวดเก่าที่ใช้งานแล้ว ใช้สีธรรมชาติและมีลักษณะเรียบง่าย เน้นความลึกลับและน่ากลัว ต่อมาในยุคที่การท่องเที่ยวเข้ามามีบทบาท หน้ากากถูกปรับให้มีสีสันสดใส มีลวดลายไทย และใช้วัสดุที่คงทนมากขึ้น เช่น สีน้ำพลาสติกและสีน้ำมัน นอกจากนี้ยังมีการใช้วัสดุอื่นๆ เช่น ตา ฟัน จมูก และเขา เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ผีตาโขนกลายเป็นประเพณีที่ไม่เพียงแต่รักษาความเชื่อและพิธีกรรมดั้งเดิม แต่ยังตอบสนองความต้องการของการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ส่งผลให้การละเล่นผีตาโขนมีชีวิตชีวาและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

จากตำนานผลิตเป็นสารคดี

เมื่อโลกออนไลน์ไร้พรหมแดนมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายนั่นก็คือ สื่อ (Media) ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้หลากหลายและง่ายมากขึ้น ประเพณีและวัฒนธรรมก็เช่นกัน สมัยผมเด็ก จำได้ว่าผมทราบเรื่องราวของผีตาโขนผ่านหนังสือเรียนในระดับประถมศึกษา แต่ในหนังสือก็ไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก อาจเนื่องด้วยข้อจำกัดของพื้นที่การสื่อสารที่จำกัด ทำให้ทราบเพียงแค่เป็นประเพณีการละเล่นที่มีชื่อเสียงที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย

แต่หากในยุคปัจจุบันข้อมูลหาได้ง่ายมากขึ้นในโลกออนไลน์ ไม่จำกัดพื้นที่ของข้อมูล ทำให้รายละเอียดของข้อมูลนั้นแตกต่างกับในเมื่อก่อน จากตำนาน เรื่องเล่าประเพณีบุญหลวง พบว่า นอกจากข้อมูลการทำวิจัยหรือข้อมูลประวัติศาสตร์ที่เผยแพร่ทั้งการตีพิมพ์และออนไลน์ ยังถูกนำไปสร้างในรูปแบบสื่ออื่นๆ ทั้งการ์ตูนแอนเมชัน ภาพยนตร์เชิงสารคดี หรือแม้แต่ละครทางโทรทัศน์

ละครซีรีส์เรื่อง “ผีตาโขน The Mask of Love” ออกอากาศช่อง 8 (พ.ศ.2567) ในเครืออาร์เอสกรุ๊ป บทประพันธ์โดย บุษบาบัณ บทโทรทัศน์โดย กัญจน์รวี เป็นเรื่องราวของเทียนพิสุทธิ์คบหาเป็นแฟนอยู่กับราเชน เพื่อนร่วมงาน เมื่อทั้งคู่ได้รับมอบหมายให้ทำเรื่องการท่องเที่ยวภาคอีสาน จึงเดินทางมาที่จังหวัดเลยเพื่อทำเรื่อง ผีตาโขน ทำให้ชีวิตของเทียนพิสุทธิ์กลับต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

ตำนานผีตามคน (ผีตาโขน) ความศรัทธาของภูติผี  (2566). ช่องสาระผี

สาระผี STORY (พ.ศ.2566) เป็นสื่อออนไลน์ ที่จัดทำผลิตสื่อให้ความรู้ ประเภทแอนิเมชันสามมิติ เล่าเรื่องราวตำนาน ผีตามคน ในประวัติเรื่องเล่าสมัยอดีตกาลที่เกี่ยวโยงจากตำนานมหาเวสสันดรชาดก กับความเลื่อมใสศรัทธาของภูตติผีที่มีต่อพระเวสสันดร จนกลายมาเป็น ผีตาโขน ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2566

ละครเรื่อง “หน้ากาก” (พ.ศ.2566) ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) เป็นละครขนาดยาว 2 ตอน เล่าถึง การใช้ชีวิตการแต่งงานของ หนุ่มสาวที่เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน มีป่วยหนักเพราะโรคร้ายบางอย่าง จึงขอให้อ้นเดินทางไปที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย เพื่อร่วมประกวดทำหน้ากากผีตาโขน และเนื้อหาก็มีเรื่องราวการคลี่คลายปมในใจที่ถูกเก็บซ่อนไว้ภายใต้หน้ากากผีตาโขน โดยมีการถ่ายทำจริงในพื้นที่อำเภอด่านซ้าย ซึ่งแฝงไปด้วยการเอาเรื่องราวของผีตาโขนมาผสมผสานเล่าเรื่องกับความร่วมสมัยในปัจจุบัน ออกอากาศวันที่ 18-19 มีนาคม พ.ศ.2566

หนังเรื่อง “ผีตามคน” (พ.ศ.2565) ที่ Apple เปิดตัวชิ้นงานโฆษณาผ่านหนังสั้นแนวสยองขวัญ (Horror) โดยใช้อุปกรณ์การถ่ายทำจาก iPhone 13 Pro (ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดในขณะนั้น) กำกับโดย ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ เป็นเรื่องราวที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผีตาโขน และกฎแห่งกรรมที่ตามหลอกหลอน เมื่อการปล้นเกิดผิดพลาดกลายเป็นคดีสยอง สองโจรวัยรุ่นหนีตำรวจมาพบกับร้านหน้ากากผีตาโขน ก่อนจะพบว่า แม้จะใส่หน้ากากก็ไม่อาจปกปิดความผิดบาปของตนได้

นอกจากนี้ ในปีนี้ (พ.ศ.2567) ยังค้นพบสื่ออีกมากมาย ทั้งรูปแบบรายการโทรทัศน์ จากสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ และอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ชื่อดังในไทยและเทศ รวมถึงศิลปินดาราหรือผู้มีชื่อเสียง เข้ามาผลิตสื่อโดยมีเนื้อหาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผีตาโขนของอำเภอด่านซ้ายเผยแพร่ในช่องทางต่างๆ

ผีตาโขน ตาหวาน

กลุ่มผีตาโขนตาหวาน เป็นกลุ่มที่มีสามาชิกเป็นหญิงล้วน และสนใจในงานการละเล่นผีตาโขน แม้ว่าการละเล่นผีตาโขนจะมีหลายกลุ่มที่มีชุดแต่งกายเป็นเอกลักษณ์และหลากหลาย แต่กลุ่มผีตาโขนตาหวานก็สามารถสร้างความประทับใจและความสนใจให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

คุณวิชุตา กมลรัตน์ หรือที่รู้จักในนามผีตาโขนปุ๊ก เป็นตัวแทนของกลุ่มผีตาโขนตาหวาน (2565) เล่าว่า กลุ่มนี้ได้รวมตัวกันมานานกว่า 5 ปีแล้ว ในช่วงแรกๆ กลุ่มมีสมาชิกเพียงสองสามคนเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นญาติพี่น้องหรือเพื่อนที่โตมาด้วยกันในพื้นที่ด่านซ้าย นอกจากนี้ยังมีสมาชิกที่เป็นครูจากที่อื่นมาสอนในด่านซ้าย และร่วมกลุ่มกันเพราะมีความรักในศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีของที่นี่

กลุ่มผีตาโขนตาหวานได้คิดหาวิธีทำให้ผีตาโขนน่ารักและมีสีสันที่ทันสมัย เพื่อให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงและไม่กลัว ซึ่งเอกลักษณ์ดั้งเดิมของผีตาโขนจะมีความน่ากลัวและขี้เล่นบ้าง แต่บางครั้งอาจทำให้เด็กๆ กลัวและไม่เข้าใจ ด้วยเหตุนี้กลุ่มจึงตัดสินใจทำผีตาโขนให้ดูน่ารักและมีสีสันที่เด็กๆ ชื่นชอบ

ด้วยความโชคดีที่ในกลุ่มมีสมาชิกเป็นคุณครู ทำให้เด็กๆ และนักเรียนได้รับอิทธิพลและซึมซับประเพณีไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งการรวมกลุ่มและการออกแบบชุดให้สวยงามเป็นกิจจะลักษณะ เป็นการสืบสานประเพณีที่ดีงาม และทำให้เด็กๆ ในโรงเรียนให้ความสนใจและเข้าถึงมากขึ้น

กลุ่มผีตาโขนตาหวานได้ชื่อมาจากการที่ผีตาโขนทั่วไปมีตาที่ดูดุร้าย แต่กลุ่มนี้ได้ออกแบบให้ตาดูหวานน่ารัก เพื่อให้เด็กๆ ไม่กลัวและเข้าถึงได้ง่าย หน้ากากผีตาโขนที่ออกแบบจะทำแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่ยังคงรักษาศิลปะและวัฒนธรรมดั้งเดิม ทำให้เด็กๆ ในโรงเรียนและเยาวชนสนใจและเข้าถึงมากขึ้น

การออกแบบชุดผีตาโขนให้มีสีสันสดใส ทำให้เด็กๆ และเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้กลุ่มผีตาโขนตาหวานยังมีบทบาทในการรณรงค์และสืบสานประเพณีที่ดีงาม โดยใช้กลุ่มเป็นสื่อในการสืบทอดประเพณีผ่านการรณรงค์ต่างๆ ทำให้มีความสวยงามและสนุกสนานในตัว และยังคงรักษาความเป็นมาของประเพณีไว้ได้อย่างดี

ทัศพล สายสุข. (2562) ภาพผีโขนบ้านไฮหย่อง จากเพจ พังโคนบ้านเฮา

“เซิ้งผีโขน”
บ้านไฮหย่อง

ประเพณีการละเล่นผีตาโขน ไม่ได้พบแค่จังหวัดเลยเท่านั้น นอกจากนี้ผู้เขียนยังพบได้พบข้อมูลว่าประเพณีผีตาโขน มีการละเล่นคล้ายกับที่จังหวัดเลย ที่มีความเชื่อมาจากพระเวสสันดร คือ “ผีโขนบ้านไฮหย่อง” ตำบลไฮหย่อง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร เกิดจากความเชื่อของชนเผ่าหนึ่งในจังหวัดสกลนคร คือ เผ่าไทอีสาน ซึ่งเป็นชนกลุ่มหนึ่งในจำนวน 6 เผ่า ของจังหวัดสกลนคร ซึ่งประกอบไปด้วย เผ่าย้อ เผ่ากะเลิง เผ่าภูไทย เผ่าโส้ และเผ่าไทยอีสาน การเล่นผีโขน บ้านไฮหย่อง จึงสืบมรดกวัฒนธรรมประเพณีต่อกันมา ดังปรากฎว่า บรรดาผีมเหสักข์หลักเมือง ในบ้านไฮหย่องมีชื่อว่า “ผีจันต์” อยู่ในกลุ่มผีระดับสูงด้วย ที่เข้าร่วมขบวนแห่พระเวสสันดร

ปัจจุบันเผ่าไทอีสาน ที่บ้านไฮหย่อง จ.สกลนคร ยังสืบทอดการแสดงผีโขนต่อมาจนถึงปัจจุบัน ประเพณีผีโขนบ้านไฮหย่อง ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งเป็นวันจัดขบวนแห่ผีโขนที่ยิ่งใหญ่ โดยที่นี่จะเรียกประเพณีนี้ว่า “ประเพณีเซิ้งผีโขน” การเซิ้งผีโขนอำเภอพังโคน การเซิ้งผีโขนเป็นการเซิ้งในงานประเพณีบุญมหาชาติ หรือบุญพระเหวด หรือบุญพระเวสสันดร ของชาวบ้านไฮหย่อง ตำบลไฮหย่อง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ซึ่งจัดขึ้นในวันขึ้น 14-15 เดือน 4 ของทุกปี

ความแตกต่างระหว่างผีโขนบ้านไฮหย่อง จังหวัดสกลนคร กับผีตาโขน จังหวัดเลย โดยเซิ้งผีโขน บ้านไฮหย่อง อำเภอพังโคน มีลักษณะการแต่งหน้ากากคล้ายหัวโขน คือแต่ง หู ตา จมูก ปาก ให้น่ากลัวคล้ายผี เครื่องห่อหุ้มร่างกายให้รกรุงรัง คล้ายผีมากขึ้น ไม่เน้นความสวยงาน ส่วนผีตาโขน อ.ด่านซ้าย จ.เลย จะเน้นการแต่งกายที่เน้นสวยงาม ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่ง คือ บ้านไฮหย่องจะมีบทเซิ้งผีโขน แต่ผีตาโขนอำเภอด่านซ้ายจะไม่มี

แม้ว่าการละเล่นผีตาโขน เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีบุญหลวง ด้วยความเป็นเอกลักษณ์และการสืบทอดของคนในท้องถิ่น ทำให้ผู้คนรู้จักและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสเมืองด่านซ้าย นอกจากนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยังพยายามสื่อสารภาพและจัดกิจกรรมที่มีการแสดงผีตาโขนในเทศกาลนานาชาติต่าง ๆ เช่น งาน ITB ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี แล้วพบกันที่งานบุญหลวง อำเภอด่านซ้ายนะครับ


ข้อมูลอ้างอิง

  • เอกนรินทร์ พึ่งประชา. (2562). ผีตาโขน นิยามและความหมายเบื้อหลังหน้ากาก. วารสารดำรงวิชาการ. สืบค้น 22 มิถุนายน 2567, สืบค้นจาก http://www.damrong-journal.su.ac.th/?page=view_article&article_id=290
  • ศุภกิตติ์ คุณา. (2567). ประเพณีบุญหลวง การละเล่นผีตาโขนของคนด่านซ้าย. สืบค้น 22 มิถุนายน 2567, จาก https://sdnthailand.com/blog_post/bunluang-phitakhon
  • สาระผี สตอรี่. (2566). ตำนานผีตามคน (ผีตาโขน) ความศรัทธาของภูติผีตามออกจากป่าเพื่อมาส่ง. สืบค้น 22 มิถุนายน 2567, จาก https://youtu.be/R3_GKBn3eCc?si=4m5WBCLSyPKoc1bC
  • พรรษชล แข็งขัน. (2557). รายงานผลการดำเนินโครงการบริการวิชาการแก่สังคม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น. อุดรธานี : ศูนย์วิทยพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อุดรธานี.
  • สาร สาระทัศนานันท์ (เรียบเรียง). (2542). “ผีตาโขน (จังหวัดเลย)” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 8. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
  • ภญ.ดาริน จึงพัฒนาวดี. ภาพ ผีตาโขนใหญ่ (2534). และ ผีตาโขนเล็ก (2550). อนุญาตเผยแพร่ใน sdnthailand.com
  • นนทวรรณ แสนไพร. (2561). การดำรงอยู่ของประเพณีเซิ้งผีโขนบ้านไฮหย่อง ตำบลไฮหย่อง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร. ราชภัฏเพชรบูรณ์สาร. สืบค้น 21 มิถุนายน 2567 จาก https://so05.tci-thaijo.org/index.php/jpcru/article/view/182024
  • ทัศพล สายสุข. (2562). ภาพผีโขนบ้านไฮหย่อง จากเพจ พังโคนบ้านเฮา

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล และ Data Journalism