ประเพณีบุญหลวง การละเล่นผีตาโขนของคนด่านซ้าย

เรื่อง/เรียบเรียง : ศุภกิตติ์ คุณา

เป็นอีกช่วงโอกาส ที่ผมได้นำพาผู้อ่านทุกท่าน ไปเยือนดินแดนอีสานเหนือที่มีภูเขาสลับซับซ้อน พื้นที่กลุ่มอารยธรรมของชาวไทเลยลุ่มน้ำหมัน ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ครับ และในช่วงเวลาที่เรากำลังจะเดินทางไปเยือนนั้น เป็นช่วงที่คนด่านซ้ายกำลังจะมีงานบุญใหญ่ประจำปี ผู้คนที่นี่ก็จะเตรียมงานบุญประจำปีกันตามฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ตามฮีตของคนอีสาน

นอกจากเตรียมงานแล้วหนึ่งในการละเล่นที่เป็นที่รู้จักกันอย่าง ผีตาโขน ก็ถูกทำหน้ากาก ชุดแต่งกายขึ้นมาใหม่ สำหรับเตรียมพร้อมการละเล่นในงานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ประเพณีหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เป็นอีกงานที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเชื่อเรื่องผีในพื้นที่ ทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวและสัมผัสประเพณีการละเล่นที่เมืองด่านซ้ายอย่างต่อเนื่อง

ดินแดน แห่งสัจจะ และไมตรี

อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นดินแดนที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันยาวนาน จากข้อมูลของนักวิชาการจังหวัดเลยโดย สาร สาระทัศนานันท์ และ ไทยโรจน์ พวงมณี ระบุว่า อำเภอด่านซ้ายเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเลย มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาและวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ก่อนสุโขทัยเป็นราชธานี ดังรายละเอียดที่ว่า ด่านซ้ายตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของเมืองบางยาง ซึ่งเชื่อกันว่าตั้งอยู่ในอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งพ่อขุนบางกลางท้าว เจ้าเมืองบางยางตั้งขึ้นเป็นเมืองหน้าด่าน และเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองด่านซ้าย”

และอีกตำนานกล่าวคือ ด่านซ้าย มาจากคำว่า “ด่านช้าง” ซึ่งในสมัยโบราณพื้นที่บริเวณนี้มีช้างป่าอยู่ชุกชุม เที่ยวหากินไปมา และหากินดินโป่ง อยู่ระหว่างป่าภูหลวง ป่าโป่งลิงต้น ป่าเขตเมืองลานช้าง แขวงเมืองไชยบุรี ประเทศลาว คนในสมัยนั้นจึงเรียกว่า “ด่านช้าง” ต่อมาเพี้ยนเป็น “ด่านซ้าย”

พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย (2566)

ต่อมาอำเภอด่านซ้ายได้กลายเป็นอำเภอในเขตการปกครองของจังหวัดเลย ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2450 ทำให้ปัจจุบัน (2567) เมืองด่านซ้ายในเขตการปกครองของจังหวัดเลย มีอายุครบ 117 ปี ด้วยเหตุนี้ ชาวด่านซ้ายจึงภูมิใจในประวัติศาสตร์อันยาวนานของตน และตำนานพระธาตุศรีสองรัก ที่ประชาชนที่นี่มีความรักสงบ ซื่อตรง และมีความสามัคคีสมานฉันท์ อันสะท้อนถึงคำขวัญของอำเภอที่ว่า “ดินแดนแห่งสัจจะไมตรี ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน”

เมื่อได้ศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ของอำเภอด่านซ้ายแล้ว ต้องไม่พลาดที่จะพูดถึง “ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน” ตามที่ได้เกริ่นนำไว้ข้างต้น ซึ่งเป็นประเพณีที่โด่งดังและเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ ผีตาโขนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ทำให้จังหวัดเลยเป็นที่รู้จัก

หน้ากากผีตาโขนกาบมะพร้าวหน้าพิพิธภัณฑ์ผีตาโขน วัดโพนชัย (2565)

ก่อนที่สถานการณ์โรคโควิด-19 จะแพร่ระบาดหนักในประเทศไทยและทั่วโลก ผมมีโอกาสมาเยือนอำเภอด่านซ้าย ถึงแม้จะพลาดการชมประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน แต่ก็ได้ศึกษาเรื่องราวจากนิทรรศการที่วัดโพนชัย ภายหลังเมื่อมีโอกาสกลับมาเยือนอีกครั้ง ผมได้พบกับคุณจริยาทร สูหู่ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเลย ที่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมผีตาโขน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานประเพณีบุญหลวง

นอกจากนี้ ผอ.จริยาทร ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จังหวัดเลยยังเป็นที่รู้จักในนาม “เมืองสามผี” ซึ่งประกอบด้วย ผีตาโขน (อำเภอด่านซ้าย) ผีขนน้ำ (อำเภอเชียงคาน) และผีบุ้งเต้า (อำเภอภูเรือ) แต่ในครั้งนี้ ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักกับงานบุญหลวงของชาวด่านซ้ายกันก่อนครับ

“บุญหลวง”
งานบุญเดือนแปด
ของชาวด่านซ้าย

ประเพณีและวิถีชีวิตของชาวอีสาน หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องของ “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ซึ่งเป็นประเพณีสิบสองเดือนและวิถีที่ควรปฏิบัติสิบสี่ประการที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นและแตกต่างจากภาคอื่นๆ และสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในประเพณีที่น่าสนใจคือ งานบุญฮีตเดือนแปดของชาวด่านซ้าย จังหวัดเลย ซึ่งมีการจัดงานบุญหลวงอย่างยิ่งใหญ่ และถ้าพูดถึงการละเล่น “ผีตาโขน”น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ซึ่งผีตาโขนเป็นการละเล่นที่เป็นส่วนหนึ่งของงานบุญหลวงนี้เอง

งานบุญหลวง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “บุญใหญ่” เป็นการรวมเอางานบุญสองงานตามฮีตสิบสองของชาวอีสานเข้าด้วยกัน คืองาน “บุญผะเหวด” หรือ “บุญพระเวสสันดร” ซึ่งมักทำในเดือนสี่ และ “บุญบั้งไฟ” ซึ่งทำในเดือนหก มารวมเข้าด้วยกันรวมเรียกว่า “งานบุญหลวง (Boon Luang)”

บุญผะเหวด เป็นสำเนียงของชาวอีสานจะออกเสียง “พระเวส” เป็น “ผะเหวด” มาจากคําว่า “บุญพระเวส” หรือบางที่เรียกว่า งานบุญมหาชาติ งานบุญพระเวสสันดร  เป็นบุญที่จัดทำขึ้นเพื่อฟังเทศน์ เรื่องพระมาลัยหมื่น พระมาลัยแสน เทศน์สังกาส และเทศน์เรื่องพระเวสสันดรตามลำดับ ชาวบ้านเชื่อว่าหากได้ฟังเทศน์จบในวันเดียวจะได้กุศลแรงและอาจดลบันดาลให้ได้พบพระศรีอริยเมตไตรยในชาติหน้า

ส่วนบุญบั้งไฟ เป็นงานบุญที่จัดทำขึ้นเพื่อบูชาอารักษ์หลักเมือง การแห่บุญบั้งไฟและการจุดบั้งไฟ เพื่อการถวายพญาแถน เพื่อให้พญาแถนนั้น ได้ดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกถูกต้องตามฤดูกาล เมื่อทำบุญนี้แล้วเชื่อว่าจะช่วยดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล อันจะทำให้การปลูกพืชพันธุ์ได้ผลดี ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความร่มเย็นเป็นสุข

นอกจากนี้ยังเป็นการถวายบั้งไฟให้กับวิญญาณผีเจ้านายไปพร้อมกัน สำหรับพิธีกรรมดังกล่าวจะมีเจ้าพ่อกวนเป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผีเจ้านายกับชาวเมืองด่านซ้าย

เจ้าพ่อกวน
เจ้าแม่นางเทียม

นักท่องเที่ยวหลายคนที่ไปเยี่ยมชมการทำพิธีกรรมในพื้นที่ต่างสงสัยว่า “พ่อกวน” คือใครในพิธีกรรม รวมถึงตัวผมเองที่เพิ่งเคยมาเป็นครั้งแรก ผมจึงได้สอบถามปราชญ์ชาวบ้านในระหว่างที่เจ้าพ่อกวนกำลังทำพิธีในขณะนั้น และได้รับคำตอบว่า “เจ้าพ่อกวน” คือ คนที่ดูแลหอบ้านและเป็นร่างทรงในพิธีเลี้ยงบ้านประจำปี ตำแหน่งนี้ได้รับการแต่งตั้งโดยวิญญาณผีเจ้าเมืองที่มาเข้าทรง หากเจ้าพ่อกวนคนก่อนเสียชีวิตหรือถูกถอดถอน มักจะมีการเลือกคนในตระกูลเดียวกันมาสืบทอดต่อไป

จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ศ.(พิเศษ) ศรีศักร วัลลิโภดม ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ผีกับพุทธ ศาสนาและความเชื่อในสังคมด่านซ้ายว่า พิธีกรรมต่างๆ ในด่านซ้าย ไม่ว่าจะเป็นพิธีทางพุทธศาสนาหรือพิธีเกี่ยวกับบ้านเมือง เช่น งานบุญหลวง หรือพิธีเกี่ยวกับชีวิต จะต้องทำผ่านคนสำคัญอย่าง “เจ้าพ่อกวน” และ “เจ้าแม่นางเทียม” รวมถึงบริวารอย่าง “พ่อแสน” และ “นางแต่ง” ซึ่งทั้งหมดต้องประพฤติตนตามประเพณีอย่างเคร่งครัด

ชาวบ้านในลุ่มลำน้ำหมันยังคงมีความเชื่อในพระพุทธศาสนาและผีต่างๆ รวมถึงอำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ ชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมคือบุคคลที่วิญญาณผีเจ้านายแต่งตั้งเป็นร่างทรง ซึ่งได้รับการเลือกโดยวิญญาณเสื้อเมืองมาเข้าทรงบุคคลนั้นๆ การแต่งตั้งเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมเสียชีวิตหรือถูกถอดถอนจากตำแหน่งเมื่อแก่ชรา อย่างไรก็ตาม เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ มักเป็นคนในสายตระกูลเดียวกัน โดยเจ้าพ่อกวนได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีการสืบทอดและได้รักษาประเพณีความเชื่อเจ้าพ่อกวนของชาวด่านซ้ายตามรอยวัฒนธรรม ครรลองครองธรรม ที่มีประวัติการสืบทอดยาวนานกว่า 400 ปี

เจ้าพ่อกวน ดร.ถาวร เชื้อบุญมี (2566)

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2567) เจ้าพ่อกวน คือ ดร.ถาวร เชื้อบุญมี ถือเป็นทายาทรุ่นที่ 7 ซึ่งเป็นร่างทรงผู้ติดต่อกับวิญญาณผีเจ้าเมืองด่านซ้าย และได้รับความเคารพจากชาวบ้าน จากตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา เจ้าพ่อกวนคนแรกชื่อ เจ้าพ่อกวนขุนไกร ซึ่งได้รับแต่งตั้งเมื่อครั้งสร้างพระธาตุศรีสองรัก

เจ้าแม่นางเทียม ประกายมาศ เชื้อบุญมี (2566)

เจ้าแม่นางเทียมปัจจุบัน (พ.ศ. 2567) คือ เจ้าแม่นางเทียมประกายมาศ เชื้อบุญมี ร่างทรงวิญญาณเจ้านายฝ่ายหญิง การสืบทอดโดยส่วนใหญ่มักเลือกลูกหลานของเจ้าแม่นางเทียมคนก่อนๆ เช่นเดียวกับเจ้าพ่อกวน เมื่อตำแหน่งเจ้าแม่นางเทียมว่างลงโดยการถึงแก่กรรม หรือเมื่อไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ เช่น เจ็บป่วยนานๆ หรือชราภาพ เป็นต้น

ในปัจจุบัน เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตชุมชนอำเภอด่านซ้าย การประกอบพิธีกรรมต่างๆ มักต้องมีการบอกกล่าวเจ้านายทุกครั้ง และนำความเชื่อทางพุทธศาสนามาผสมกับความเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณบรรพบุรุษ

การประกอบพิธีเบิกอุปคุต อัญเชิญไปประดิษฐานที่หอพระอุปคุตวัดโพนชัย

การประกอบพิธีบุญหลวง

การประกอบประเพณีงานบุญหลวง นิยมจัดในเดือนเจ็ดหรือเดือนแปด โดยงานพิธีบุญหลวงนั้นไม่มีวันกำหนดตายตัวแน่นอน ขึ้นอยู่กับเจ้าพ่อกวนที่จะทรงร่างเจ้าแสนเมือง ในงานเลี้ยงหอน้อย แล้วจึงกำหนดวัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในราวเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม นิยมจัดกัน 3 วัน ทั้งนี้ผมต้องบอกผู้อ่านว่า พิธีบุญหลวง อำเภอด่านซ้ายในบทความนี้ ทางผมจะกล่าวถึงพิธีกรรมที่ประกอบขึ้นภายในวัดโพนชัยเป็นข้อมูลหลัก

ก่อนจะถึงวันงาน ชาวบ้านกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ และกลุ่มหนุ่มสาว จะพากันไปที่วัด เพื่อเตรียมงาน โดยช่วยกันทำที่พัก ตกแต่งประดับศาลาโรงธรรมด้วยดอกไม้พวงมาลัย ธงทิว ทำหมากพันคํา เมี่ยงพันคํา เทียนพันธูปพัน และข้าวตอกดอกไม้ เพื่อบูชาพระ มีดอกบัวพันดอก ดอกผัก ตบชวาพันดอก นิยมทำด้วยไม้เนื้ออ่อน กระดาษสีใบลานหรือใบตาล นําด้ายสายสิญจน์มาขึงรอบศาลาโรง ธรรมทั้งแปดทิศ โดยมีความเชื่อว่าเป็นที่ปลอดภัยและป้องกันพญามาร

บ้านเจ้าพ่อกวน (2566)

สำหรับสถานที่ประกอบพิธีบุญหลวง มี 5 แห่ง ได้แก่ 1.ริมฝั่งลำน้ำหมัน 2.บ้านเจ้าพ่อกวน 3.วัดโพนชัย 4.สี่แยกบ้านเดิน และ 5.หน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย โดยการประกอบพิธีบุญหลวงจะมีผู้เกี่ยวข้อง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก จะเป็นกลุ่มผู้นําในการประกอบพิธีบุญหลวง ประกอบด้วย พระสงฆ์ เจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม คณะพ่อแสน นางแต่ง และเจ้าหน้าที่ของทางราชการ กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มผู้ร่วมในพิธีบุญหลวง ประกอบด้วย ชาวบ้านที่มีความเชื่อความศรัทธา ผู้ทำหน้าที่บรรเลงดนตรี ผู้เล่นผีตาโขน กลุ่มผู้มาชม นักท่องเที่ยวและผู้ที่ศึกษาพิธีกรรม

งานพิธีบุญหลวง มีการจัดอย่างยิ่งใหญ่ที่วัดโพนชัย ซึ่งเป็นวัดที่มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ผีตาโขนอยู่ภายในวัด ตั้งอยู่ริมลำน้ำหมัน ในตำบลด่านซ้าย โดยงานบุญหลวงจะจัดขึ้นที่วัดโพนชัยเป็นวัดแรก นอกจากที่วัดโพนชัยแล้ว ยังมีวัดศรีภูมิ (บ้านนาหอ) วัดศรีสะอาด (บ้านหนามแท่ง-นาทุ่ม) และวัดโพธิ์ศรี (บ้านนาเวียงใหญ่) ซึ่งงานจะมีขนาดเล็กกว่างานที่จัดขึ้นที่วัดโพนชัย

วันโฮมบุญหลวง

ช่วงระยะการจัดงาน 3 วัน วันแรกของงาน เรียกว่า “วันโฮม” หรือวันรวม ชาวบ้านจะมารวมกันที่วัดโพนชัย มีการเริ่มพิธีตั้งแต่เช้ามืด ประมาณเวลาตีสาม โดยผู้คนจะมีการรวมตัวกันที่วัดโพนชัย ผมเดินมาเกือบไม่ทันด้วยความที่พักนั้นอยู่ไม่ไกลมากนัก จึงได้เห็นการประกอบพิธีกรรม คนที่มาร่วมงานส่วนใหญ่แต่งกายชุดขาวห่มขาว มีการทำพิธีบอกกล่าวพระใหญ่ ซึ่งเป็นประธานในพระอุโบสถ จากนั้นจะพากันเดินไปสถานที่ประกอบพิธีเบิกอุปคุตริมลำน้ำหมัน ซึ่งไม่ไกลมานักจากวัดโพนชัย บริเวณริมลำน้ำหมัน จุดที่ลำน้ำหมันบรรจบกับลำห้วยศอก จะประกอบพิธีบวชพราหมณ์

การทำพิธีเบิกพระอุปคุต โดยกล่าวอาราธนาพระอุปคุต “พ่อแสนเมืองจันทร์” จะลงไปในแม่น้ำหมัน เพื่ออัญเชิญพระอุปคุตขึ้นมา โดยสมมติเอาก้อนหินเพียงหนึ่งก้อนที่วางอยู่ใต้น้ำ เปรียบเป็นตัวแทนของพระอุปคุต และพ่อแสนเมืองจันทร์จะต้องงมก้อนหินสามรอบ รอบแรกจะถามว่าใช่พระอุปคุตหรือไม่ ชาวบ้านบริวาร จะตอบว่า “ไม่ใช่” ในรอบที่สาม ชาวบ้านจะตอบว่า “ใช่ นั้นแระพระอุปคุตที่แท้จริง” จากนั้นอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นมาใส่พานที่ได้เตรียมไว้

พิธีเบิกอุปคุตริมลำน้ำหมัน, Photo : Living Thailand (2565)

และมีการจุดประทัด ยิงปืน 4 ทิศ พร้อมทั้งมีเครื่องดนตรีประกอบในขบวนแห่ เช่น ฆ้อง กลอง แคน บรรเลงกันอย่างครึกครื้น เพื่ออัญเชิญพระอุปคุตมาช่วยปกปักษ์รักษา ให้เกิดความโชคดีมีชัย ป้องกันภยันตรายต่างๆ และเพื่อให้การจัดงานบุญเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น ไม่มีมารตนใดกล้ามารุกราน และอัญเชิญไปประดิษฐานที่หอพระอุปคุต ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้กับพระธาตุศรีสองรักองค์จำลองภายในวัดโพนชัย

พิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม ขอขมาและเบิกงานเล่นบุญ (2566)

เมื่อถึงตอนรุ่งเช้าจะมีขบวนแห่ไปที่บ้านเจ้าพ่อกวน เพื่อที่จะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้แก่เจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม ขอขมาและเบิกงานเล่นบุญเมื่อได้เวลาอันสมควร เจ้าพ่อกวนเจ้าแม่นางเทียมก็จะออกมาต้อนรับ ในขณะเดียวกันก็จะมีชาวบ้าน นักท่องเที่ยว คณะพ่อแสน นางแต่ง เหล่าบรรดาผีตาโขนใหญ่ ผีตาโขนเล็กทั้งหลาย ตลอดจนคณะแห่เครื่องดนตรี จะร่วมกันเคลื่อนขบวนแห่ไปยังวัดโพนชัย และเวลาประมาณ 10 โมงเช้า พิธีเปิดงานบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนแบบโบราณ เพื่อเล่นผีตาโขนให้เจ้านายดู เสร็จแล้วก็จะมีการแห่เวียนรอบอุโบสถ จำนวน 3 รอบ

การละเล่นผีตาโขน แห่เวียนรอบอุโบสถวัดโพนชัย (2566)

วันที่สองของงาน จะมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการของประเพณีบุญหลวงการละเล่นผีตาโขนที่เวทีลานหน้าที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย โดยมีขบวนแห่ผีตาโขนอย่างยิ่งใหญ่ บนถนนด่านซ้าย-ปากหมัน (ช่วงหน้า สภ.ด่านซ้ายถึงวัดโพนชัย) ในวันนี้จะมีพิธีการแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง โดยเริ่มจากเจ้าพ่อกวนนำคณะพ่อแสนพร้อมชาวบ้าน และขบวนผีตาโขนน้อยใหญ่ แห่กัณฑ์เทศน์ออกจากบ้านพ่อกวนไปยังวัดโพนชัย

ขบวนพิธีอัญเชิญพระเวสสันดรแห่เข้าเมือง (2566)

เมื่อถึงเวลาประมาณบ่ายสามโมงเย็น (15.00 น.) มีขบวนพิธีอัญเชิญพระเวสสันดรแห่เข้าเมือง โดยอัญเชิญพระพุทธรูป 1 องค์ และพระภิกษุ 4 รูปขึ้นนั่งบนเสลี่ยงก่อนเริ่มขบวนแห่ เมื่อเสร็จพิธีแห่ โดยมีรูปภาพเกี่ยวกับเรื่องพระเวสสันดรและมีขบวนบั้งไฟร่วมด้วย โดยเจ้าพ่อกวนจะถูกเชิญขึ้นนั่งบนบั้งไฟ ตามด้วยเหล่าผีตาโขน (ตามตำนาน “ผีตามคน” มีที่มาจากเรื่องเวสสันดรชาดก) เมื่อขบวนแห่ถึงวัดโพนชัย ก็จะมีการเดินเวียนรอบอุโบสถวัดโพนชัย 3 รอบ ในระหว่างที่เคลื่อนขบวนแห่ จะมีการโปรยกัลปพฤกษ์ ซึ่งก็คือ เหรียญเงินเหรียญทอง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะแย่งกันเก็บไว้เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง เป็นที่สนุกสนาน เหล่าบรรดาผีตาโขนจะรวมกลุ่มกันอยู่ที่วัดโพนชัย วาดลวดลาย เต้นตามจังหวะดนตรีที่สนุกสนานครื้นเครง

พิธีจุดบั้งไฟบูชาพญาแถน หลังวัดโพนชัย (2566)

หลังจากนั้นเจ้าพ่อกวนและคณะก็จะมีพิธีจุดบั้งไฟบูชาพญาแถน ซึ่งจัดสถานที่ใกล้ๆกับหลังวัดโพนชัย และคณะผู้เล่นบุญหลวงนำหน้ากากผีตาโขนน้อยและผีตาโขนใหญ่นำไปทิ้งลำน้ำหมันที่ท่าวังเวิน วัดโพนชัย เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี แต่ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะนำหน้ากากผีตาโขนเก็บไว้ประดับบ้านและนำไปใช้ต่อในปีถัดไป และในช่วงเย็นก็มีพิธีสวดมนต์เย็น เจริญพระพุทธมนต์เทศน์พระมาลัยหมื่น พระมาลัยแสน และถวายกัณฑ์เทศน์มหาชาติ โดยชาวบ้านเชื่อว่าใครฟังเทศน์ดังกล่าวจบในวันเดียวจะได้กุศลแรง ชาติหน้าจะได้เกิดในยุคพระศรีอริยเมตไตรยที่เป็นยุคที่มีแต่ความสุข

การทิ้งผีตาโขนใหญ่ในลำน้ำหมัน, ภาพ : ศุภกิตติ์ คุณา (2566)

วันที่สาม มีพิธีเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ตั้งแต่ตอนเช้ามืด เชื่อกันว่าผู้ที่ได้ฟังภายในวันเดียวทั้ง 13 กัณฑ์ จะประสบความสำเร็จทุกประการ ทั้งนี้ตลอดวันจะมีการถวายแห่กัณฑ์หลอนแด่ภิกษุรูปที่กำลังเทศน์มหาชาติอยู่ขณะนั้น และที่วัดโพนชัยก็จะมี ยังมีพิธี “สวดซำฮะ” สูตรกระทง และพ่อแสนทำพิธี “จ้ำข้าวจ้ำคิง” โดยจะนำปั้นข้าวเหนียวมาจ้ำบนตัวแล้วนำไปทิ้งลงในกระทง จากนั้นนิมนต์พระ 4 รูป ทำพิธีสวดซำฮะและพิธีสูตรกระทง เพื่อขอขมาลาโทษ สะเดาะเคราะห์รับโชค* นำอาหารหวานใส่กระทง เพื่อให้ทานสะเดาะเคราะห์ และสืบชะตาบ้านเมือง นำเครื่องสะเดาะเคราะห์ทิ้งลงแม่น้ำหมัน ทำพิธีคารวะองค์พระใหญ่ โดยเจ้าพ่อกวนและคณะ เป็นอันเสร็จพิธีงานบุญพระเวสสันดร

การละเล่นผีตาโขน
Phi Ta Khon

ตำนานผีตาโขน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ไม่ปรากฏชัดแจ้ง แต่มีผู้รู้สันนิษฐานไว้หลายกรณี ทำให้มีเรื่องราวหลายตำนาน มีทั้งที่มาจาก หัวโขน โขนละคร ผีตามคน ผีตาขน ผีโขน หรือ ผีขน ทั้งนี้ในส่วนของบทความการละเล่นผีตาโขนในส่วนของเนื้อหาตำนาน ผมได้เรียบเรียงและเขียนเนื้อหาแยกออกมาเพื่อให้ได้ผู้อ่านศึกษาเพิ่มเติม (อ่านตำนานเพิ่มเติม : ผีตาโขน สีสันลวดลายบนจิตวิญญาณ)

ก่อนจะมีการละเล่นผีตาโขนในงานบุญหลวงนั้น ผมได้เดินทางไปยังวัดโพนชัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ผีตาโขน พบว่า หน้ากากผีตาโขนที่สวมนั้นทำจากวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น เช่น หวดนั่งข้าวเหนียว ก้านมะพร้าวแห้งตกแต่งระบายสีสัน เขียนรูปหน้าตาให้น่ากลัว มีลวดลายสวยงาม มีการแต่งกายโดยใช้เศษผ้ามาตัดเย็บ มีอุปกรณ์ต่างๆ กระป๋อง กระดิ่งแขวนมีเสียงดังกรุ๊งกริ๊ง นอกจากนี้ผมเองยังได้ประชันฝีมือวาดหน้ากากผีตาโขนด้วย ไปรูปหน้ากากลายต่างๆ ซึ่งเป็นแบบง่ายๆ โดยวาดลงบนก้านมะพร้าวแห้ง เรียกได้ว่าไปทั้งสองปี ก็วาดหน้ากาทั้งสองปี

ผีตาโขนน้อย คณะศิลป์อีสาน, ภาพ : ศุภกิตติ์ คุณา (2565)

ลักษณะการละเล่นผีตาโขนของอำเภอด่านซ้าย แบ่งออกเป็น ผีตาโขนน้อย และผีตาโขนใหญ่ สำหรับ “ผีตาโขนน้อย” ข้อมูลจากการศึกษารายงานของรองศาสตราจารย์ ไทยโรจน์ พวงมณี (2554:50) ที่ผ่านมาพบว่า มีการละเล่นมาตั้งแต่สมัยโบราณ สาเหตุที่เรียกว่าผีตาโขนน้อยนั้นเป็นเพราะสัดส่วนและขนาดเท่ากับรูปร่างของคนจริงที่ซ่อนอยู่ภายใน ปัจจุบันสามารถเล่นได้ทั้งชายและหญิง แต่สมัยก่อนนิยมเล่นเฉพาะผู้ชาย อาจเนื่องมาจากผู้แสดงต้องแสดงอาการทะลึ่งด้วย

ผีตาโขนใหญ่, (2544) ภาพ : ภญ.ดาริน จึงพัฒนาวดี อนุญาตเผยแพร่ใน sdnthailand.com

ส่วน “ผีตาโขนใหญ่” นั้นช่างชาวบ้านจะสร้างให้มีขนาดรูปร่างที่ใหญ่โตกว่าตัวจริงของคนถึงสองเท่า วัสดุที่นำมาสร้างนั้นชาวบ้านจะช่วยกันขึ้นโครงสร้างของหุ่นด้วยไม้ไผ่โดยนำมาทำเป็นตอก จากนั้นจึงนำมาประกอบเป็นโครงสร้างของผีตาโขนเพศชายและผีตาโขนเพศหญิง อย่างละหนึ่งตัว โดยมีความเชื่อดั้งเดิมว่า “เดิมคนโบราณเป็นคนที่มีรูปร่างสูงใหญ่ สูง 8 ศอก การสร้างผีตาโขนใหญ่นั้นมีมากกว่า 50 ปี โดยมีนายเกี้ยว เนตรผง เป็นผู้สร้างคนแรก หลังจากนั้นก็มีผู้สืบทอดต่อมาคือ นายกวนใจ หมื่นโสม

นอกจากนี้ ไทยโรจน์ พวงมณี ยังระบุว่า ประเพณีผีตาโขนใหญ่ที่เข้ามาอยู่ร่วมขบวนแห่ผีตาโขนนั้น ได้มีการรับมาอิทธิพลและรูปแบบทางความคิดมาจากหมู่บ้านแก่นท้าว เมืองแก่นท้าว แขวงไชยะบุลี ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยผีตาโขนใหญ่นี้จะมีรูปลักษณ์จำลองแบบมาจากร่างกายของคนโบราณ ก่อนที่จะมีสร้างนั้นผู้สร้างต้องมีการแต่งคายขัน 5 ขัน 8 มีดอกไม้ขาวและเทียนขาวอย่างละ 5 คู่ และ 8 คู่ ขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนการสร้างผีตาโขน โดยมีความเชื่อเดียวกับ “ผีปู่เยอ ย่าเยอ” ที่มีตำนานกล่าวกันว่า “ปู่เยอ ย่าเยอ” ทั้งสองต้องเสียชีวิตเพราะเครือเขากาดล้มทับ เนื่องจากรับอาสาที่จะไปตัดเครือเขากาดไม่ให้มาบดบังแสงอาทิตย์ ชาวลาวจึงได้มีการจัดพิธีกรรมแห่ปู่เยอ ย่าเยอผู้เป็นบรรพบุรุษของชาวลาว

ตามความเชื่อการละเล่นผีตาโขนในงานบุญหลวงนั้น มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่หมู่บ้านพร้อมกับจะดลบันดาลให้มีโชคลาภ โดยมีความเชื่อว่าผู้ใดได้ใส่หน้ากากผีตาโขน จะหายทุกข์ หายโศก หายโรค หายภัย มีความสุขความเจริญ และสร้างความสนุกสนานอีกด้วย (คงสนุกจริงๆ เพราะเห็นผีตาโขนน้อยเต้นไม่หยุดพักเลย)

มาตรการความปลอดภัย

ชาวด่านซ้าย ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อประเพณีใหญ่ก็ต้องมีมาตรการความปลอดภัยของผู้มาร่วมงาน รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาร่วมงานในช่วงเทศกาลอย่างคึกคัก จากข้อสรุปจัดเวทีสาธารณะ “เล่าสู่กันฟัง สืบสานวัฒนธรรม” งานบุญประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2563 มีผู้เข้าร่วมกว่า 80 คน แม้ว่าที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ ที่เข้มงวดเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโรค อาทิ การสวมหน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) การห้ามออกจากเคหสถานในเวลากลางคืน ตลอดจนมาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อ ว่าด้วยเรื่องของการปิดสถานที่ หรือพื้นที่จาหน่ายสุรา นอกจากนั้นกระทรวงวัฒนธรรมได้ออกประกาศ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับเทศกาล ประเพณี พิธีทางศาสนา และพิธีการต่างๆ โดยมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน และต้องดำเนินการตามมาตรการ

ในช่วงการระบาดโควิด-19 ในปีนี้ (พ.ศ.2563) ชุมชนอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ได้มีมติร่วมกันในการจัดงานประเพณีบุญหลวง และการละเล่นผีตาโขนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายน พ.ศ.2563 โดยมีเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม นำขบวนแห่จากบ้านเจ้าพ่อกวนไปวัดโพนชัย มีพ่อแสน นางแต่ง ชาวบ้านอำเภอด่านซ้าย ร่วมพิธีฯ โดยในปีนี้มีการจัดงานเฉพาะพิธีกรรมเท่านั้น งดขบวนแห่ผีตาโขนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ งดพิธีเปิดงานฯ โดยผู้เข้าร่วมพิธีกรรมต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคฯ งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในบริเวณจัดงานวัดโพนชัย และขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านค้างดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการดำเนินงานที่ยึดหลักทางวัฒนธรรมอย่างแท้จริง

ขบวนนักเรียนในอำเภอด่านซ้ายรณรงค์วัฒนธรรมสร้างสุข (2566)

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดหล้า (สคล.) ภายใต้การสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รับฟังความคิดผู้เข้าร่วมเสวนาในอำเภอด่านซ้าย และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น โดยการเขียนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ใน 6 ประเด็น ดังนี้ 1.ด้านการรักษาประเพณีโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน 2.การจัดการท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์โดยหน่วยงานรัฐ 3.การมีส่วนร่วมบทบาทของเด็กและเยาวชน 4.การควบคุมและลดปัจจัยเสี่ยง : อุบัติเหตุ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5.การดูแลจัดการขยะ การจราจร ฯลฯ 6. โครงสร้างคณะทางานจัดงาน การรับฟังความคิดเห็นในการจัดงานครั้งต่อไป (สามารถดาวน์โหลดอ่านเพิ่มเติมได้ทาง https://bit.ly/3Rx8u2l)

หลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 ในปี พ.ศ.2565 ประเพณีบุญหลวง การละเล่นผีตาโขน กลับมาจัดยิ่งใหญ่คึกคักอีกครั้ง นักท่องเที่ยวต่างจับจองที่พัก และเดินทางมายังอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย อย่างเนืองแน่น ทั้งนี้มาตรการความปลอดภัย ก็ยังเป็นจุดเน้นย้ำของการจัดงานเพื่อให้ปีต่อๆไปนั้น เป็นงานผีตาโขนที่มีความปลอดภัย ทั้งในเรื่องอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท และร่วมสืบสานตำนานผีตาโขนเมืองด่านซ้ายให้เลื่องลือไกลไปทั่วโลก

งานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน เป็นงานประจำปี จัดขึ้นเพียงปีละครั้ง โดยสำหรับปีนี้ (พ.ศ.2567) ประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 กรกฎาคม พ.ศ.2567 (โดยวันที่ 8 กรกฎาคม เป็นวันที่มีผีตาโขนเยอะสุด) ณ วัดโพนชัย ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย

ส่งท้ายงานไหลผีตาโขน

นอกจากประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่วัดโพนชัยแล้ว สำหรับนักท่องเที่ยวที่พลาดการจัดงานที่วัดโพนชัย ยังมี “งานไหลผีตาโขน” หรือวันไหลผีตาโขน ซึ่งเป็นงานส่งท้ายการละเล่นผีตาโขน โดยจัดขึ้นอีกที่วัดสามแห่ง ได้แก่ วัดศรีภูมิ (บ้านนาหอ), วัดศรีสะอาด (บ้านหนามแท่ง-นาทุ่ม) และวัดโพธิ์ศรีนาเวียง (บ้านนาเวียงใหญ่) ซึ่งเป็นวัดสุดท้ายที่จัดงานผีตาโขน

งานไหลผีตาโขนที่วัดโพธิ์ศรีนาเวียง บ้านนาเวียงใหญ่ (2565). การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเลย

งานไหลผีตาโขนที่วัดโพธิ์ศรีนาเวียง บ้านนาเวียงใหญ่ ห่างจากอำเภอด่านซ้ายไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร โดยขบวนจะเริ่มที่สนามฟุตบอลโรงเรียนด่านซ้าย ในแต่ละปีจะมีกำหนดการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะจัดหลังจากที่วัดโพนชัยจัดงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยวัดโพนชัยจะเป็นที่แรกที่จัดงานตามการเข้าทรงของเจ้าพ่อกวน และวัดโพธิ์ศรีนาเวียงจะเป็นวัดสุดท้ายที่จัดงานผีตาโขน แต่งานนี้จะต้องเกิดขึ้นก่อนวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา

ความรื่นเริงของการละเล่นผีตาโขนที่วัดโพธิ์ศรีนาเวียงไม่แพ้งานที่วัดโพนชัย เพราะการละเล่นผีตาโขนที่นี่จัดในช่วงยามเย็นถึงกลางคืน โดยในช่วงค่ำคืนจะมีกลุ่มผีตาโขนจากหลากหลายกลุ่มมาประชันความงดงามของหน้ากากและเครื่องแต่งกายกันอย่างสนุกสนาน

ในปีนี้ (พ.ศ.2567) สำหรับผู้ที่พลาดงานที่วัดโพนชัย ยังสามารถไปร่วมงานประเพณีบุญหลวงที่วัดศรีภูมิ (บ้านนาหอ) ซึ่งเป็นการละเล่นตีตาโขนแบบโบราณ จัดระหว่างวันที่ 9-11 กรกฎาคม 2567 และงานบุญหลวงฯ ที่วัดศรีสะอาด (บ้านหนามแท่ง-นาทุ่ม) วันที่ 11-13 กรกฎาคม 2567 และปิดท้ายงานไหลผีที่นาเวียงใหญ่ หรือ Phitakhon Night Parade ระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2567 ณ สนามฟุตบอลโรงเรียนด่านซ้ายและวัดโพธิ์ศรีนาเวียง เป็นการสิ้นสุดเทศกาลบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขนในปีนี้


ข้อมูลอ้างอิง
  • พิพิธภัณฑ์ผีตาโขน วัดโพนชัย, (มิถุนายน 2566).  วัดโพนชัย ตำบลด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
  • จริยาทร สูหู่ (ผอ.ททท.สำนักงานเลย), สัมภาษณ์. (มิถุนายน 2566).  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงานเลย) ถนนมะลิวรรณ,ตำบลกุดป่อง อำเภอเมือง จังหวัดเลย
  • ธาราวิชชั่น และ LivingtalesThailand. (2566). ภาพยนตร์สารคดีผู้สูงอายุ ตอน คนทำผี. สืบค้นจาก https://youtu.be/rkXYWy8NxXI?si=h7_t91bu6l6VB990
  • ดร.ถาวร เชื้อบุญมี (เจ้าพ่อกวน), สัมภาษณ์. (สิงหาคม 2563).  เล่าสู่กันฟัง สืบสานวัฒนธรรม งานบุญประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน. ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอด่านซ้าย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
  • สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า. (ม.ป.ป.).  เล่าสู่กันฟัง สืบสานวัฒนธรรม งานบุญประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน. สืบค้นจาก https://sdnthailand.com/wp-content/uploads/2021/01สรุปเวทีเสวนางานประเพณีบุญหลวงและการละเล่นผีตาโขน-14-ส.ค..2563-final-2.pdf
  • มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. (2559). ชีวิต ประเพณีและความเชื่อหัวใจหลักของวัฒนธรรมลุ่มน้ำหมัน. สืบค้นจาก https://lek-prapai.org/home/view.php?id=458
  • สุพิชชา นักฆ้อง. (2559). บุญหลวง. ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. สืบค้นจาก https://rituals.sac.or.th/detail.php?id=72
  • ศรีศักร วัลลิโภดม. (2550). ผีกับพุทธ : ศาสนาและความเชื่อในสังคมด่านซ้ายดุลยภาพทางจิตวิญญาณของชาวบ้านในลุ่มน้ำหมัน (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.
  • สาร สาระทัศนานันท์ (เรียบเรียง). (2542). “ผีตาโขน (จังหวัดเลย)” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 8. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
  • ภญ.ดาริน จึงพัฒนาวดี. ภาพผีตาโขนใหญ่ ปี 2544. อนุญาตเผยแพร่ใน sdnthailand.com

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล และ Data Journalism