แข่งเรือน่าน อนุรักษ์วัฒนธรรม สืบสานประเพณี

งานแข่งเรือเป็นเทศกาลท้องถิ่นในหลายพื้นที่ โดยการแข่งเรือได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัยซึ่งการเปลี่ยนแปลงประการหนึ่งคือ การจัดงานให้ใหญ่ขึ้นเพื่อดึงนักท่องเที่ยว การจัดงานในลักษณะนี้นำมาซึ่งการรับการสนับสนุนจากผู้มีงบประมาณโดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ถ้าไม่รับการสนับสนุนเจ้าภาพจะจัดงานอย่างไร?

อย่างไรก็ตามผลกระทบที่ตามมาคือ การทะเลาะวิวาท การชกต่อย อุบัติเหตุทางถนน ฯลฯ ที่หนักที่สุดคือ การทำร้ายวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของตนเอง เมื่อจัดงานในเชิงพาณิชย์จะเกิดการเพิ่มเรือแข่งให้มากที่สุดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เกิดการตระเวนแข่งของค่ายเรือรายใหญ่ สุดท้ายคือเรือท้องถิ่นไม่สามารถแข่งได้ และเรือท้องถิ่นค่อยๆ หายไป ขณะเดียวกันความเสื่อมโทรมและความรุ่นแรงที่เกิดขึ้นได้ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง และทำให้คนรุ่นใหม่ไม่เห็นคุณค่าและไม่สืบทอดศิลปะวัฒนธรรมของตนเอง

งานประเพณีแข่งเรือวันออกพรรษาตานก๋วยสลากวัดบุญยืนพระอารามหลวง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน

ชุมชนวัดบุญยืนพระอารามหลวงอยู่ใกล้แม่น้ำ โดยปี 2554 มีร่องรอยน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตรในหมู่บ้าน คนในชุมชนมีคำพูดว่า “คนในชุมชนจะไม่ตายด้วยการจมน้ำ” เพราะทุกคนได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสายน้ำ ซึ่งรวมถึงการหัดว่ายน้ำ และวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำเช่นตานก๋วยสลากทางเรือ ชุมชนมีความผูกพันกับการใช้เรือ แม้ปัจจุบันการเดินทางจะใช้ถนนแต่เรือแข่งยังเป็นความภาคภูมิใจของคนในชุมชน และวัดจะเป็นสถานที่เก็บรักษาเรือแข่ง ที่เคยเป็นเรือผ่านการแข่งขันและได้รับถ้วยรางวัลมาแล้ว

ประเพณีแข่งเรือของวัดบุญยืนพระอารามหลวงจะมีทั้งขบวนเรือสวยงามและเรือแข่ง แน่นอนว่าก่อนการจัดงานจะต้องมีการเตรียมงานทั้งฝึกพายเรือ ตกแต่งเรือ การฝึกซ้อมรำของกลุ่มแม่บ้านและเยาวชนนักพากย์เรือ การจัดเตรียมสถานที่และความเรียบร้อยในงาน

ในประเพณีแข่งเรือแต่ละชุมชมจะมีเต้นท์สำหรับกองเชียร์ของแต่ละชุมชน ในเต้นท์จะมีการทำอาหารมารับประทานร่วมกันทั้งฝีฝายและกองเชียร์ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่สนุกและอบอุ่น รวมถึงแสดงถึงความร่วมมือและความเข้มแข็งของคนในชุมชน

บรรยากาศของงานแข่งเรือ ยังแสดงถึงความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม โดยเรือที่เข้าร่วมแข่งขันมีการตกแต่งตามลักษณะของเรือพื้นถิ่นน่าน ขบวนเรือสวยงามมีการใส่เสื้อผ้าพื้นเมืองของคนน่าน ฝีพายของเรือแข่งมีการแต่งกายที่สุภาพ เรียบร้อย และที่สำคัญมีนักข่าวต่างชาติ โดยเฉพาะยุโรปมาทำข่าว นั้นเพราะเป็นการท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์และเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างแท้จริง

เบื้องหลังของภาพดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากความร่วมไม้ร่วมมือของคนเวียงสาที่จะจัดแข่งเรือให้คงอัตลักษณ์ของตนเองมากที่สุด รวมถึงไม่รับการสนับสนุนจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะทำร้ายลูกหลานของตนเอง เพราะการมีป้ายโฆษณาต่างๆ จะทำให้เด็กชินและเรียนรู้ว่าการดื่มในงานแข่งเรือเป็นเรื่องปกติ สำหรับที่เวียงสาไม่ได้ โดยมีประกาศเทศบาลตำบลเวียงสาเรื่องการจัดงานประเพณีแข่งเรือ ว่าห้ามฝีพายดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ในประกาศนี้ยังกำหนดว่า เรือที่จะเข้าร่วมแข่งขันต้องได้รับการรับรองว่าเป็นเรืออัตลักษณ์จากสมาคมเรือจังหวัดน่าน และฝีพายต้องเป็นคนในหมู่บ้าน ชุมชนในพื้นที่อำเภอเวียงสาเท่านั้น ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เชื่อว่างานแข่งเรือจะยังคงเป็นประเพณีที่สืบทอดกันอย่างยาวนาน สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนน่าน

เรื่องโดย : Dan Theertham
เรียบเรียงโดย : ยงยุทธ ยอดจารย์

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล และ Data Journalism