การดื่มแอลกอฮอล์จัดจะนำไปสู่ภาวะตับอักเสบ ตับแข็ง และโรคมะเร็งตับตามมา แต่กรณีผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีและซีจะไม่นำไปสู่ภาวะตับแข็ง แต่จะนำไปสู่มะเร็งตับได้เลย ดังนั้นจึงการตรวจคัดกรองมะเร็งตับจึงเป็นเรื่องสำคัญ
แล้วโรคมะเร็ง คืออะไร
โรคมะเร็ง หรือภาษาอังกฤษคือ Cancer เป็นเนื้อร้ายกลุ่มของโรคที่เกิดจากเซลล์ ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายเราที่มีความผิดปกติ ของดีเอ็นเอ (DNA) หรือ สารทางพันธุกรรม โดยเซลล์จะแบ่งตัวอย่างควบคุมไม่ได้ ทำให้มีการเจริญเติบโตผิดปกติเกิดเป็นก้อนเนื้อ ที่มีการลุกลามไปอวัยวะข้างเคียง หรือกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้นั่นเอง
จุดเริ่มต้นของมะเร็งเกิดจากการกลายพันธุ์ระดับยีน (Genetic mutation) ในปัจจุบันจากการศึกษาข้อมูลยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุใดเพียงสาเหตุเดียว แต่เชื่อว่าน่าจะมาจากสาเหตุหรือปัจจัยหลายๆอย่างร่วมกัน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 90-95% ยีนเกิดการกลายพันธุ์ที่มาจาก พฤติกรรมการใช้ชีวิตและปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา อาหาร มลภาวะจากสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และ 5-10% ยีนเกิดการกลายพันธุ์ที่มาจากทางพันธุกรรม คือ การมียีนที่มีความผิดปกติตั้งแต่ กำเนิด โดยส่งผ่านความผิดปกตินี้ไปยังรุ่นลูกหลาน
มะเร็งตับและท่อน้ำดี
พบมากสูงสุดในชายไทย
มะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma) เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์บริเวณตับมีลักษณะหรือ การทำงานผิดปกติและพัฒนาเป็นมะเร็ง สำหรับมะเร็งในเพศชาย จากข้อมูล Cancer in Thailand Vol.X 2016-2018 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ของไทย ระบุว่า ของโรคมะเร็งที่เกิดในผู้ชายไทยที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 คือ โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี ถึงร้อยละ 33.2 (หน่วย: ASR ต่อประชากร 100,000 คน) โดยมักพบในคนอายุ 30-70 ปี และพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่า เนื่องจากเพศชายมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง
โรคมะเร็งตับในระยะเริ่มต้นจะไม่มีอาการแสดง โดยจะมีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นขนาดเล็กประมาณ 2-3 เซนติเมตร เป็นระยะที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยอาจรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งตับเมื่อตรวจสุขภาพ ส่วนอาการแสดงของโรคมะเร็งตับนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเซลล์มะเร็งมีขนาด 10 เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ยาก ซึ่งมะเร็งของเซลล์ตับเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดทั่วโลก และพบมากที่สุดในประเทศไทย
“มะเร็งตับและท่อน้ำดี พบผู้ป่วยรายใหม่
ประมาณ 22,213 คน/ปี
และมี ผู้เสียชีวิต 16,288 คน/ปี
ข้อมูลจาก Cancer in Thailand Vol.X (2016-2018) สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถิติสาธารณสุข ปี 2562
ทำไมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงเสี่ยงมะเร็ง
ความเสี่ยงของการดื่มแอลกอฮอล์นั้น มีความเกี่ยวข้องกับสารเคมี 2 ชนิด ที่สามารถทำลายดี DNA ภายในเซลล์ นั่นก็คือ เอทานอล ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดย เอทานอล หรือแอซีทาลดีไฮด์ (Acetaldehyde) เป็นแอลดีไฮด์ที่มีคาร์บอน 2 อะตอม หรือสารก่อให้เกิดมะเร็ง ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการย่อยสลายของสารเอทานอลในร่างกาย ส่งผลให้เกิดการทำลาย DNA ภายในเซลล์ ทำให้เซลล์ในร่างกายอ่อนแอลง (ศึกษาข้อมูลเพิ่ม: นักดื่มสายดริ๊งค์กับความเสี่ยงโรคมะเร็ง)
ชนิดของมะเร็งตับ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
- มะเร็งตับชนิดปฐมภูมิ เกิดจากเนื้อเยื่อของตับโดยตรง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ มะเร็งเซลล์เนื้อเยื่อตับ และมะเร็งท่อน้ำดีของเนื้อตับ
- มะเร็งตับชนิดทุติยภูมิ เกิดจากการแพร่กระจายมาจากโรคมะเร็งชนิดอื่น เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งเต้านม
ลักษณะอาการของผู้ป่วยมะเร็งตับแต่ละรายอาจมีอาการของโรคแตกต่างกัน อาการส่วนใหญ่ที่พบ เช่น แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อเป็นประจำ ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวม บริเวณขาทั้ง 2 ข้าง
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งตับ
- ภาวะตับแข็ง
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี
- การได้รับสารพิษ จากเชื้อรา
- การดื่มแอลกอฮอล์
หลีกเลี่ยงความเสี่ยง
มะเร็งตับ
การหลีกเลี่ยงโรคมะเร็งตับ โดยเฉพาะในชายไทยที่พบสูงอันดับต้นๆ นั้น เมื่อเราได้ทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับโรคมะเร็งตับไปเบื้องต้นแล้ว ส่วนใหญ่ทราบกันดีคือ การลด งดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ถือว่าเป็นปัจจัยหลักนำมาสู่โรคตับแข็ง สาเหตุมาจากโรคพิษสุราเรื้อรังที่เกิดจากการดื่มแอลกฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานาน และกลายเป็นมะเร็งตับได้ ผู้ที่เป็นพาหะหรือสงสัยว่าเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจเลือดและตรวจหามะเร็งตับระยะแรกทุกๆ 6 เดือน
นอกจากการหลีกเลี่ยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว การรับประทานอาหารที่มีสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) เป็นสารพิษชนิดหนึ่งที่มักพบปนเปื้อนอยู่ในอาหารจำพวกถั่วลิสง, หัวหอม, พริกแห้ง และกระเทียมที่มีราขึ้น เพราะสารพิษชนิดนี้มีความทนทานต่อความร้อนสูง ไม่สามารถทำลายได้แม้จะนำไปประกอบอาหารผ่านความร้อนได้
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงอีกประเภทก็คือ อาหารที่มีสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) เช่น อาหารจำพวกโปรตีนหมัก เช่น ปลาร้า, ปลาส้ม, หมูส้ม และแหนม เป็นต้น อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว เช่น ไส้กรอก, กุนเชียง, เนื้อเค็ม, และปลาเค็ม เป็นต้น ไม่รับประทานปลาน้ำจืดแบบดิบๆ หรือลาบปลาดิบ เพื่อป้องกันการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ และสำหรับทารกก็ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิด
ลดความเสี่ยง
เริ่มต้นจากลดละเลิก
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ให้นึกคิดอยู่เสมอว่าการดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ควรหลีกเลี่ยงหรือหาเครื่องดื่มทางเลือกอื่นๆ เช่น น้ำผลไม้สด น้ำสมุนไพร เป็นต้น
- ผู้ที่ดื่มระดับปานกลาง ระดับมาก และนักดื่มมืออาชีพมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ดื่มในระดับน้อย หรือผู้ดื่มเป็นครั้งคราว
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าชนิดไหน เช่น เบียร์ ไวน์ หรือค็อกเทล ต่างมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เหมือนกัน ดังนั้นไม่ว่าจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทไหน ต่างทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเหมือนกัน
- หากสามารถหยุดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ได้ ในเพศหญิงก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายเหมือนกับการลดการสูบบุหรี่ และการเพิ่มการออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์
อย่างไรก็ตามข้อมูลที่นำเสนอมะเร็งตับ ที่นำเสนอมีผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหลัก ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ หรืออาหารชนิดอื่นร่วมด้วย จากการศึกษางานวิจัยพบว่า การลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถือเป็นวิธีที่ลดความเสี่ยงมะเร็งได้หลายชนิด และเป็นวิธีที่นักดื่มสายดริ๊งค์ สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายที่สุด สำหรับท่านใดอยากทราบความเสี่ยงของมะเร็ง สามารถเข้าไปทำแบบประเมินอาการเสี่ยงโรคมะเร็งออนไลน์จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ที่ https://allaboutcancer.nci.go.th
บทสรุปของเนื้อหา
- การดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดมะเร็งตับ
- แอลกอฮอล์จะถูกย่อยสลายในร่างกายเป็นสารเคมี 2 ชนิด ได้แก่ เอทานอลและแอลดีไฮด์ ซึ่งสารเหล่านี้สามารถทำลาย DNA ในเซลล์ตับ ทำให้เซลล์ตับอ่อนแอลงและมีโอกาสกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
- มะเร็งตับจากการดื่มแอลกอฮอล์มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมักพบในผู้ที่มีอายุ 30-70 ปี
- อาการของมะเร็งตับในระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการใดๆ แต่หากเซลล์มะเร็งโตขึ้นอาจมีอาการ เช่น แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดชายโครงขวา ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต ขาบวม เป็นต้น
- งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หากไม่สามารถงดดื่มได้ ควรจำกัดปริมาณการดื่มให้น้อยลง โดยไม่ควรดื่มเกิน 30 กรัมต่อวันสำหรับผู้ชาย และไม่เกิน 20 กรัมต่อวันสำหรับผู้หญิง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารพิษ เช่น สารอะฟลาท็อกซิน
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดและตรวจหามะเร็งตับระยะแรกทุกๆ 6 เดือน
- หากมีอาการผิดปกติที่อาจบ่งบอกถึงมะเร็งตับ เช่น แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ ปวดชายโครงขวา ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต ขาบวม เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ข้อมูลอ้างอิง
- สถาบันมะเร็งแห่งชาติ. รู้สู้มะเร็ง. https://www.nci.go.th/th/File_download/fight_cancerรู้สู้มะเร็ง.pdf
- สถาบันมะเร็งแห่งชาติ. (2021). Cancer in Thailand Vol.X 2016-2018. https://www.nci.go.th/e_book/cit_x/index.html
- American Institute for Cancer Research (2017). Diet, Nutrition, Physical Activity and Cancer 2017. https://www.aicr.org/research/the-continuous-update-project/breast-cancer