เที่ยวชุมชน ชมบั้งไฟ ตะไลสิบล้าน วิถีผู้ไทกุดหว้า

เรื่องโดย: ศุภกิตติ์ คุณา
ภาพโดย : นาฎชฎา แจ้งพรมมา

ฮีตสิบสอง หรือประเพณีสิบสองเดือนที่มีความเชื่อและการดํารงชีวิตทางเกษตรกรรมของชาวอีสานที่ปฏิบัติและสืบสานต่อกันมาอย่างยาวนาน “ประเพณีบุญบั้งไฟ” ถือเป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือนของชาวอีสานที่ทำกันในเดือนหก ช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูทำเกษตร ทำนา โดยจะมีการจุดบั้งไฟเพื่อบูชาเทพยดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย หรือที่ชาวอีสานเรียกกันว่า “พญาแถน” ซึ่งเป็นตำนานพื้นบ้าน คือ เรื่องสงครามระหว่างพญาคันคากกับพญาแถน โดยเป็นเรื่องที่กล่าวถึงที่มาของการยิงบั้งไฟเดือนหก

“พญาแถน” ประทานฝนให้ที

ตามตํานานพื้นบ้านอีสาน เชื่อว่าเป็นการจุดบั้งไฟเป็นสัญญาณเตือนให้พญาแถน รู้ว่าถึงฤดูทํานาแล้ว ให้พญาแถนบันดาลให้ฝนตกและมีปริมาณเพียงพอแก่การปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร

ประเพณีบุญบั้งไฟ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญเดือนหก จัดเป็นบุญประจำปีทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะลงมือทำเกษตร อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ชาวอีสาน ถือว่าบุญบั้งไฟเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญ สำหรับการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟของบ้านกุดหว้าจะกำหนดไว้วันเสาร์และอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งหากต้องการไปเที่ยวก็สามารถวางแผนปฏิทินท่องเที่ยวไว้ได้เลย

บั้งไฟ ตะไลล้าน หนึ่งเดียวที่กุดหว้า

“บั้งไฟ ตะไล” ฟังดูจากชื่อแล้วค่อนข้างแปลกหูไปสำหรับนักท่องเที่ยว และลักษณะคงจะแตกต่างจากบั้งไฟที่มักเห็นทั่วไปที่เป็นหางยาว ซึ่งว่ากันว่ามีแห่งเดียวในโลก นั่นก็คือที่บ้านกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์

จึงเป็นเหตุที่มาพาเที่ยวกุดหว้า ซึ่งเป็นตำบลมีพื้นที่ทั้งหมด 4.2 ตารางกิโลเมตร ห่างจากจังหวัดประมาณ 85 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอกุฉินารายณ์ ประมาณ 5 กิโลเมตร สำหรับใครที่ขับรถผ่านชุมชนตำบลกุดหว้า คงต้องเอะใจเห็นป้ายบั้งไฟตะไลล้าน ที่ติดอยู่ริมทาง แน่นอนว่า ที่นี่เขามีบั้งไฟตะไลล้าน ที่ขึ้นชื่อ ถึงต้องมาชมกับตา

ผู้ไทกุดหว้า เดิมมีชื่อว่า “คำหว้า” ในหนังสือตำนานหมู่บ้าน เล่าไว้ว่า ชนเผ่าภูไทบ้านกุดหว้า ได้มีการอพยพมาจาก เมืองกะแตบ ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างเมืองบกและเมืองวัง ซึ่งได้ตั้งอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในปัจจุบัน เมื่อปี 2387 ได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐาน ที่บริเวณคำหว้าซึ่งเป็นบริเวณบ้านกุดหว้าปัจจุบันเป็นป่าไม้สูงหนาทึบ และมีแหล่งน้ำเพื่อสะดวกในการทำมาหากิน

ผมเองที่เป็นคนภาคเหนือ พึ่งเคยไปที่กุดหว้าครั้งแรก มีความอยากรู้ว่าทำไมที่นี่ถึงเรียก บั้งไฟตะไล แล้วมีที่มาจากไหน จากการลงพื้นที่เบื้องต้นโดยสอบถามจากผู้ใหญ่บ้านนารี ศรีกำพล เล่าว่า คนแรกที่ทำบั้งไฟตะไลล้าน คือ พิศดา จำพล เป็นช่างทำบั้งไฟในหมู่บ้าน ได้คิดค้นวิธีทำบั้งไฟเพื่อให้แตกต่างจากพื้นที่อื่น ปี 2519 ได้ทดลองทำตะไลหมื่นขึ้นมาจากท่อพีวีซี จนกลายเป็นการทำบั้งไฟตะไลแสน และได้มีการจุดบั้งไฟตะไลบั้งแรกในงานบุญบั้งไฟ ประจำปี 2521 และตำบลกุดหว้าก็ได้สืบสานเปลี่ยนเป็นการจัดงานบุญบั้งไฟตะไลเรื่อยมา ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนกุดหว้า

บั้งไฟ ตะไลล้าน สิบล้าน ยี่สิบล้าน

บ้านกุดหว้า เป็นหมู่บ้านที่มีการผลิตตะไลหมู่บ้านเดียวในประเทศไทย แต่ละปีก็ได้จัดงานประเพณีนี้ขึ้นมา ด้วยทีมช่างทำตะไลยักษ์ที่มีความชำนาญและมีชื่อเสียง เริ่มจากการทำ บั้งไฟตะไลหมื่น เป็น บั้งไฟตะไลแสน และในที่สุดจึงได้มีการสร้างบั้งไฟตะไลขนาดใหญ่หรือ บั้งไฟตะไลล้าน แล้วเพิ่มหน่วยความจุดินประสิวมากขึ้นกลายเป็นตะไลสิบล้าน และปัจจุบัน (2566) ได้สร้าง บั้งไฟ ตะไลยี่สิบล้าน ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าทุกปีที่สร้างมา

ในวันงาน บุญบั้งไฟ ถือว่าเป็นวันที่ชาวกุดหว้า หรือชาวกาฬสินธุ์รอคอย แม้แต่นักท่องเที่ยวก็มุ่งเป้าหมายมาที่กุดหว้า ทำเอารถติดที่สุดในรอบปี มีการปิดถนนและขบวนแห่ เหล่าบรรดา สาวๆแม่ๆ ร่วมฟ้อนชุดผู้ไทหลายร้อยชีวิต ถึงแม้ว่าเริ่มมีการถ่ายทอดสดบั้งไฟผ่านสื่อออนไลน์ให้รับชมกันมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่อยากไป คือได้เห็นกับตาและสัมผัสวิถีผู้ไทด้วยตนเอง

การแข่งขันตะไลในแต่ละรุ่น จะมีทีมงานเข้าไปติดตั้งที่ฐานจุด ในสนามการแข่งขันที่อยู่กลางทุ่งนา โดยมีกติกาเพื่อความปลอดภัยว่า เมื่อจุดแล้วทุกคนต้องวิ่งเข้ากำแพงดินที่เป็นแนวกำบังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ หากใครไม่เข้ามาในเขตที่กำหนดไว้ จะถูกปรับให้แพ้ทันที

ส่วนกติกาการตัดสิน ว่าของใครขึ้นสูงที่สุด อยู่บนอากาศได้นานที่สุด เมื่อสุดแรงขับดินประสิวแล้ว ร่มชูชีพจะกางลงมาพร้อมกับตะไล คือ ผู้ชนะ ถ้าหากร่มไม่กาง ปรับแพ้ทันทีทำให้มันหมุนเป็นวงกลมทะยานขึ้นท้องฟ้าสูงขึ้น ในสมัยเด็กๆยังคิดขำๆว่า บั้งไฟนี่แหละที่เป็นต้นแบบจรวดของ NASA ตามปะสาเด็ก

เสียงโห่ร้องของทีมงานบั้งไฟ และเสียงฟู่ฟ่าวฟ่าวดังถี่ขึ้น รวมถึงเสียงจากคนดู ต่างเชียร์ให้ตะไลหมุนทะยานสูงขึ้น เมื่อสุดแรงขับดินประสิวแล้ว ร่มชูชีพจะกางลงมาพร้อมกับตะไล คือ ผู้ชนะ ถ้าหากร่มไม่กาง ปรับแพ้ทันที

นายหนัน มโนขันธ์ หรือ ตาหนัน ปัจจุบันอายุกว่า 78 ปีแล้ว ผู้ที่คิดไอเดียติดผืนร่มผ้าใบชูชีพไว้ที่ตัวตะไล โดยทำคู่มากับคุณตาพิศดา จำพล แต่ทำแล้วร่มยังไม่กาง จากนั้นนายผาสุข พันธุโพธิ์ จากค่ายซุ้มกิ่งทอง นำมาต่อยอดพัฒนา จนร่มกางสำเร็จเป็นคนแรก เวลาปล้องร้อนทำให้เชือกฟางหรือชนวนที่พันผ้าใบขาด ทำให้ร่มนั้นกางพยุงตัวตะไลให้ค่อยๆ ร่วงลงมา ไม่เป็นอันตรายต่อบ้านเรือนที่อยู่ใกล้เคียง หรือคนที่เข้ามาชมการแข่งขัน ซึ่งปีนี้ (2566) ตาหนันเองก็ได้รับบทบาทเป็นประธานกรรมการตัดสินการแข่งขันบั้งไฟตะไล โดยจำนวนบั้งไฟปี 2566 นี้มีจำนวนทั้งหมด 44 บั้ง แบ่งเป็นตะไลแสน 40 บั้ง, ตะไลล้าน 2 บั้ง, ตะไล 10 ล้าน 1 บั้ง และที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกปีก็คือ ตะไล 20 ล้าน 1 บั้ง โดยจะเริ่มตั้งแต่เวลา 08:00 น. ของวันอาทิตย์

เข้มงวดความปลอดภัย

ส่วนสถานที่จุดตะไลก็จะเป็นทุ่งนา ห่างจากบ้านเรือนประชาชน แบ่งเขตผู้ชมจากสถานที่จุดห่างกันไม่ต่ำกว่า 500 เมตร มีธงสีแดงเป็นเขตไม่ให้ผู้ชมเข้าไป และส่วนบริเวณที่จุดตะไลก็มีบังเกอร์ให้หลบ เมื่อจุดไฟแล้วคนจุดต้องรีบวิ่งมาหลบหลังบังเกอร์ทันที จะบอกว่าไม่เคยเกิดเหตุการณ์ก็ไม่สามารถบอกได้ จึงต้องจำเป็นต้องเข้มงวด และต้องเตรียมพร้อมทุกเวลา

ความปลอดภัยอีกเรื่องที่ต้องเข้ามาเข้มงวดของงานบั้งไฟ นอกจากจะเป็นเรื่องความอันตรายของบั้งไฟแล้ว มาตรการการรณรงค์งานบุญบั้งไฟปลอดเหล้าของ สสส. และเครือข่ายงดเหล้า ที่ผ่านมาค่อนข้างประสบความสำเร็จ ในโซนที่มีการควบคุมการดื่ม โดยเฉพาะในโซนลานจุดของการแข่งขันบั้งไฟ ก็จะไม่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และถูกกำหนดไว้ในประกาศเทศบาลตำบลกุดหว้า ปี 2566 ทำให้ประเพณีบุญบั้งไฟยังคงเป็นประเพณีที่ยึดอยู่กับขนบธรรมเนียมและความเชื่อเดิมมากกว่าที่จะจัดขึ้นเพื่ออนุรักษ์เท่านั้น ชาวบ้านเล่าว่าบุญบั้งไฟของที่นี่ไม่ค่อยมีนักดื่มมากนักอยู่แล้ว การสนับสนุนปลอดเหล้าของ สสส. ก็ยิ่งเป็นการดียิ่งขึ้น ลดการทะเลาะวิวาท หรือแม้แต่อุบัติเหตุจากการเมาได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นวัยรุ่น

อย่าลืมมาเที่ยว “กุดหว้า” อีกนะ

นอกจากนี้ที่นี่ยังขึ้นชื่อของในเรื่องการทำมาลัยจากไม้ไผ่ หรือ มาลัยไม้ไผ่ โดยจะใช้ไม้ไผ่ไร่ ที่มีคุณสมบัติเหนียว นำมาสานเป็นพวงมาลัยลักษณะต่างๆ โดยเอกลักษณ์ของพวงมาลัยที่กุดหว้า แบบดั้งเดิม จะเป็นรูปดาว 6 แฉก และปรับให้เป็นรูปร่างเรียงต่อกันให้มีความสวยงาม ในปัจจุบัน ซึ่งไม่พลาดเลยที่นักท่องเที่ยวอย่างผมเอง จะได้ติดไม้ติดมือมาจากผู้ใหญ่บ้านนารี

นอกจากบุญบั้งไฟตะไลล้านแล้ว ประเพณีบุญพวงมาลัยไม้ไผ่ ถือว่าเป็นงานบุญหนึ่งที่จัดขึ้นสองครั้งในประเพณีบุญข้าวประดับดินและงานบุญประเพณีข้าวสากของชาวผู้ไทบ้านกุดหว้า ถึงคราวนี้คงต้องกลับมาเยือนกุดหว้ากันอีกครั้ง

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล