“ผาสาดลอยเคราะห์” อัตลักษณ์เชิงพิธีกรรมที่สืบทอดต่อกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน ของชาวเชียงคานในสมัยโบราณ ที่เชื่อว่า หากผู้ใดได้พบเห็นสิ่งไม่ดีสิ่งที่ไม่เป็นมงคล หรือมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ได้รับประสบเคราะห์ร้าย หรือมีลางบอกเหตุว่าจะเกิดเหตุร้ายกับชีวิตและครอบครัว ให้ผู้นั้นทำการลอยผาสาดเพื่อเป็นการลอยสิ่งไม่ดีทิ้งไป จะทำให้ชีวิตดีขึ้นและมีแต่สิ่งดีเข้ามาสู่ชีวิต
บทความก่อนหน้านี้ ที่นำเสนอประวัติและที่มาของ ผาสาดลอยเคราะห์ ของชาวเชียงคานไปแล้วนั้น (อ่าน : ผาสาดลอยเคราะห์ ประเพณีความเชื่อโบราณชุมชนลุ่มน้ำโขง อำเภอเชียงคาน) และสำหรับบทความนี้ จะพาทุกท่านไปเรียนรู้การทำผาสาดลอยเคราะห์และเรียนรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมการลอยเคราะห์ กับวิสาหกิจชุมชนบ้านต้นหล้าเชียงคาน และกลุ่มจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนวัดป่าใต้ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ขับเคลื่อนงานโครงการวัฒนธรรมสร้างสุขและท่องเที่ยวปลอดภัย โดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เป็นอีกภาคีที่มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร และองค์ความรู้ประเพณีวัฒนธรรมในอำเภอเชียงคาน
วิธีการทำผาสาดลอยเคราะห์
วัสดุประกอบการทำผาสาด
- กาบกล้วย
- ใบตอง
- ไม้ไผ่/ตอก (ไม้กลัดกาบกล้วย)
- เทียน เป็นเล่มหรือดอกเทียน
- ผึ้งแผ่นหรือดอกผึ้ง
- พิมพ์ดอกผึ้งจากหัวมะละกอ แกะลายดอกไม้หรือลายดอกประจำยาม
- เกสร ดอกผึ้ง หั่นจากมะละกอแกะสลัก
- ไม้จิ้มฟันใช้เสียบเกสร
ขั้นตอนการทำผาสาดลอยเคราะห์
- คุณพี่ติ๋ม หรือ ไพรินทร์ แก้วกัญญา ได้นำพาเราไปทำขั้นตอนแรก คือ การต้มเทียน โดยการนำเทียนและขี้ผึ้งลงในกระทะไฟฟ้า ต้มให้เดือดด้วยน้ำร้อนด้วยไฟเบาๆ ใช้ไม้ยาวเสียบพิมพ์ดอกเทียน ที่ตัดจากด้านก้นของมะละกอจุ่มตอนเดือดๆ ครึ่งนึงของพิมพ์ ทำการจุ่มสองรอบ เพื่อความหนาของดอกเทียน แล้วนำมาจุ่มในน้ำเปล่าที่เตรียมไว้ ดอกผึ้งจะหลุดจากพิมพ์มะละกอ
- นำกาบกล้วย ตัดไว้ที่ความ กว้าง 10 ซม. ยาว 100 ซม. มาพับเข้าหากันเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสเท่ากัน ใช้ตอกเสียบมัดเข้าด้วยกัน
- ใช้ไม้ไผ่ขนาด 1×10 ซม. เสียบด้านข้างของกาบกล้วยที่ทำไว้ เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส เสียบทั้งสี่ด้านขนานกัน แล้วนำใบตองขนาดเท่าฐานกาบกล้วย มาวางด้านในตรงกลางเพื่อเป็นฐานรอง (ป้องกันไม่ให้น้ำผ่านเข้าด้านใน)
- นำใบตองขนาด 40×60 จำนวน 4 ใบซ้อนกัน ม้วนเป็นรูปกรวยสามเหลี่ยม สูงประมาน 10 ซม. นำไปวางตรงกลางฐานกาบกล้วย แล้วใช้ไม้ที่เตรียมไว้เสียบยึดให้ทะลุกับกับกล้วยทั้งสองฝั่ง
- นำไม้จิ้มฟันเสียบดอกผึ้งเข้ากับเกสรจากมะละกอที่หั่นเป็นรูปเกสรที่เตรียมไว้ แล้วประดับบนตัวกรวยใบตอง บนยอดกรวย 1 ดอก ถัดลงมาชั้นสอง 2 ดอก ถัดลงมาชั้นสาม 3 ดอก และบนกาบกล้วยทั้งสี่ด้าน 4 ดอก ก็จะได้เป็นผาสาด ที่ประดับด้วยดอกผึ้ง
ขั้นตอนพิธีกรรมการลอย
- นำผาสาดที่เราทำเอง หรือที่ซื้อเตรียมไว้ ตัดเล็บและเส้นผม เล็กน้อย ใส่ไว้ในฐานของผาสาด (เป็นสิ่งของในร่างกายหรือตัวแทนผู้ลอยเคราะห์)
- นำเทียน 2 เล่ม เสียบตั้งบนฐานของผาสาด (เพื่อส่องทางนำเคราะห์ให้ออกไปจากตัวเรา)
- เข้าสู่พิธีกรรมทางพราหมณ์ จุดเทียน และสวดมนต์/สวดบทสะเดาะเคราะห์ ตามพราหมณ์ของท้องถิ่น
- นำผาสาดลงไป บริเวณริมแม่น้ำโขง อธิษฐาน และลอยลงไปในแม่น้ำโขง (เมื่อผาสาดแตะน้ำไม่ให้หันกลับไปมอง ไม่อาลัยอาวรณ์เคราะห์โศกที่เราปล่อยไป
ด้วยความเชื่อที่ว่าการทำผาสาดจะช่วยลอยความทุกข์ ความโศก หรือเคราะห์ร้ายต่างๆ ที่มีอยู่ให้ลอยออกไปจากตัว ประเพณีนี้จึงปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน มาถึงทุกวันนี้ ประเพณีดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในวิถีของชาวเชียงคานตลอดมา ที่ทำการศูนย์ข้อมูลเชียงคาน ริมฝั่งโขง เป็นอีกหนึ่งสถานที่พื้นที่แลกเปลี่ยนภูมิปัญญาวิถีเชียงคาน รองรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจที่จะมาศึกษาเรียนรู้เรื่องผาสาดลอยเคราะห์ และข้อมูลทั่วไปของการท่องเที่ยวเมืองเชียงคาน
ศูนย์ข้อมูลเมืองเชียงคาน เทศบาลตำบลเชียงคาน นอกจากจะเป็นจุดลงท่าเรือ และสถานที่ลอยผาสาดลอยเคราะห์แล้ว ยังเป็นจุดบริการเช่ายืมจักรยานปั่นรอบเมือง และจุดบริการนักท่องเที่ยว
ผู้ที่สนใจการศึกษาทำผาสาดลอยเคราะห์ หรือศึกษาดูงาน ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ลอยผาสาดได้ตลอดทั้งปี ติดต่อได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านต้นหล้าเชียงคาน ชุมชนวัดป่าใต้ สามารถเช็คสอบถามข้อมูลได้ที่เบอร์โทร. 097-3215321 (คุณไพรินทร์) หรือ 093-1053611 (คุณสุริยัน)
เรื่องราวประวัติความเป็นมา ประเพณีผาสาดลอยเคราะห์ ความเชื่อโบราณคนเชียงคาน ชุมชนลุ่มน้ำโขง คลิกที่นี่
- แหล่งข้อมูลโดย คุณไพรินทร์ แก้วกัญญา วิสาหกิจชุมชนบ้านต้นหล้าเชียงคาน และกลุ่มจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนวัดป่าใต้
- เรียบเรียง และกราฟิกโดย ศุภกิตติ์ คุณา