ผาสาดลอยเคราะห์ ประเพณีความเชื่อโบราณชุมชนลุ่มน้ำโขง อำเภอเชียงคาน

เรื่องโดย ศุภกิตติ์ คุณา

แดนดินถิ่นอีสานในบทความนี้ ผมเองในฐานะผู้เขียนและเป็นนักท่องเที่ยวไปในคราวเดียวกัน รู้สึกตื่นเต้น อาจเป็นเพราะผมเองนั้นเป็นคนต่างถิ่นด้วย และได้ยินชื่อเสียงของเมืองนี้ในเรื่องของการท่องเที่ยวติดอันดับต้นๆเลยก็ว่าได้ นั่นก็คืออำเภอเชียงคาน เป็นอำเภอริมฝั่งน้ำโขง จังหวัดเลย ซึ่งสามารถมองเห็นอีกฝั่งของเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวได้ ที่นี่เป็นเมืองที่มีมนต์เสน่ห์ขึ้นชื่อในเรื่องของบรรยากาศ วิถีชีวิต อัตลักษณ์บ้านเก่าและสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย อาทิ ภูทอก, แก่งคุดคู้, สกายวอล์คเชียงคาน หรือแม้แต่ช่วงค่ำ ก็ยังสามารถมาเดินเที่ยวเล่นที่ถนนคนเดินเชียงคานต่อได้

นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงหลายแห่งแล้ว อำเภอเชียงคานยังมีประเพณีและวัฒนธรรมที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ “ผาสาดลอยเคราะห์” ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่สืบทอดต่อกันมายาวนานหลายชั่วอายุคน โดยชาวเชียงคานในสมัยโบราณเชื่อว่า หากผู้ใดได้พบเห็นสิ่งไม่ดีสิ่งที่ไม่เป็นมงคล หรือมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ได้รับประสบเคราะห์ร้าย หรือมีลางบอกเหตุว่าจะเกิดเหตุร้ายกับชีวิตและครอบครัว ให้ผู้นั้นทำการลอยผาสาดเพื่อเป็นการลอยสิ่งไม่ดีทิ้งไป จะทำให้ชีวิตดีขึ้นและมีแต่สิ่งดีเข้ามาสู่ชีวิต

วิสาหกิจชุมชนบ้านต้นหล้าเชียงคาน และกลุ่มจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนวัดป่าใต้ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ขับเคลื่อนงานโครงการวัฒนธรรมสร้างสุขและท่องเที่ยวปลอดภัย โดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ซึ่งเป็นอีกภาคีที่มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร และองค์ความรู้ประเพณีวัฒนธรรมในอำเภอเชียงคาน และครั้งนี้ผู้เขียนเองได้มีโอกาสติดตามลงพื้นที่ศึกษาพิธีกรรม ผาสาดลอยเคราะห์ ด้วยเช่นกัน จึงพาทุกคนไปเที่ยวและรู้จักประเพณีโบราณของชาวเชียงคานไปพร้อมกัน

“ลอยผาสาดลงสู่นทีโขง
ปล่อยปลดปลงทุกข์โศกให้หนีหาย
เคราะห์เอย กรรมเอย
จงไหลลงนําโขงไป
ให้เหลือไว้แต่สิ่งดีงาม”

เรียบเรียงโดย ผอ.สวาด แก้วสุฟอง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2561

สำหรับผาสาดที่เชียงคานนั้นจะมี 2 ขนาด คือ ผาสาดขนาดเล็ก เรียกว่า “ผาสาดลอยเคราะห์” และผาสาดขนาดใหญ่ เรียกว่า “ผาสาดสะเดาะเคราะห์” ชาวเชียงคานนิยมไปลอยผาสาดที่แม่น้ำโขง เพื่อให้สิ่งที่ไม่เป็นมงคล สิ่งที่เป็นเสนียดจัญไรไหลไปกับน้ำ ซึ่งผาสาดลอยเคราะห์ ส่วนใหญ่ใช้กับการลอยเคราะห์ทั่วไป จะลอยผาสาดโดยการใส่เส้นผม หรือใส่เล็บของตัวเองลงไป เมื่อปล่อยผาสาดลงสู่น้ำแล้วอย่าหันกลับไปมองอีก ซึ่งหมายความว่าไม่อาลัย อาวรณ์กับทุกข์ โศก เคราะห์กรรม สิ่งที่ไม่ดีงามที่เราปล่อยไป กับผาสาดลอยเคราะห์แล้ว หลังจากนั้นก็เข้าสู่พิธีผูกข้อต่อแขนบายศรีสู่ขวัญ เพื่อนําสิ่งที่เป็นศิริมงคลเข้าสู่ชีวิตต่อไป ส่วนผาสาดสะเดาะเคราะห์ จะใช้สำหรับคนที่มีเคราะห์ใหญ่ เจ็บป่วยเจียนตาย หรือชะตาขาด ก็จะมีการทำพิธีสะเดาะเคราะห์จากพราหมณ์ด้วย

พี่ติ๋ม หรือ ไพรินทร์ แก้วกัญญา จากวิสาหกิจชุมชนบ้านต้นหล้าเชียงคาน และกลุ่มจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนวัดป่าใต้ ที่ผมเองได้ไปพบเจอ ได้เล่าเรื่องราวรายละเอียดของผาสาดต่อให้ฟังว่า การนำวัสดุมาทำผาสาดนั้น ส่วนใหญ่มาจากกาบกล้วย ใช้วัสดุธรรมชาติ โดยการนำกาบกล้วยทำฐานให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตกแต่งด้วยกรวยใบตอง และดอกไม้ ส่วนดอกไม้ที่ ใช้ตกแต่งนั้นเป็นขี้ผึ้ง หรือเทียน โดยในสมัยก่อนการตกแต่งด้วย ดอกไม้นั้น จะไม่มีดอกไม้ที่มีสีสันสวยงาม คนโบราณจะนํามะละกอมาแกะสลักเป็นดอกไม้ แล้วนําไปชุบน้ำเทียน จากนั้นนําไปชุบน้ำสลับไปมาจนกว่าจะหลุดออกจากกัน และนํามาตกแต่ง และเมื่อจะลอยก็มักจะใส่เส้นผมลงไป หรือใส่เศษเล็บของตัวเองลงไป เพื่อให้ลอย เคราะห์ ลอยโศกออกไป

ผาสาดสะเดาะเคราะห์ ต้องทำกระทง 9 ห้อง (ขนาดใหญ่) มีอาหาร หวานคาว เชิญตัวเคราะห์ที่อยู่ 8 ทิศ คือ บูรพา อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ อีสาน อุดร ให้มารับเอาไป ข้างในก็ต้องมีอาหาร

ให้ครบ ทิศอีสาน อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ อุดร และบูรพา มีของเช่นไหว้ทั้ง 9 ประกอบด้วย ข้าวดำ ข้าวแดง แกงส้ม แกงหวาน หมาก พลู บุหรี่ เนื้อย่างและปลาตาย

ประเพณีและความเชื่อ
ผาสาดลอยเคราะห์

ในช่วงเทศกาลวันออกพรรษา ที่อำเภอเชียงคานจะมีการทำพิธีกรรมผาสาดลอยเคราะห์ และผาสาดสะเดาะห์เคราะห์ตามความเชื่อชาวบ้าน มีการจัดพิธีกรรมที่บริเวณวัดศรีคุนเมืองอย่างยิ่งใหญ่ โดยเมื่อทำพิธีกรรมผาสาดเสร็จแล้ว จะแห่ไปตามถนนคนเดินหรือถนนชายโขงเรียบริมโขงในช่วงเวลาพลบค่ำ มีการฟ้อนรําไป ตลอดเส้นทาง ในขบวนก็มีเรือไฟบกให้ได้ชม ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวออกมาร่วมขบวนแห่กันอย่างมากมาย ซึ่งขบวนแห่จะไปจบลงที่บริเวณลานวัฒนธรรมวัดท่าคก เพื่อให้ชาวบ้านได้นําผาสาดไปลอยในแม่น้ำโขง เพื่อให้หมดทุกข์หมดโศก มีแต่สิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต

ด้วยความเชื่อที่ว่าการทำผาสาดจะช่วยลอยความทุกข์ ความโศก หรือเคราะห์ร้ายต่างๆ ที่มีอยู่ให้ลอยออกไปจากตัว ประเพณีนี้จึงปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน มาถึงทุกวันนี้ ประเพณีดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในวิถีของชาวเชียงคานตลอดมา ที่ทำการศูนย์ข้อมูลเชียงคาน ริมฝั่งโขง เป็นอีกหนึ่งสถานที่พื้นที่แลกเปลี่ยนภูมิปัญญาวิถีเชียงคาน รองรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจที่จะมาศึกษาเรียนรู้เรื่องผาสาดลอยเคราะห์ และข้อมูลทั่วไปของการท่องเที่ยวเมืองเชียงคาน

ศูนย์ข้อมูลเมืองเชียงคาน เทศบาลตำบลเชียงคาน นอกจากจะเป็นจุดลงท่าเรือ และสถานที่ลอยผาสาดลอยเคราะห์แล้ว ยังเป็นจุดบริการเช่ายืมจักรยานปั่นรอบเมือง และจุดบริการนักท่องเที่ยว

ผู้ที่สนใจการศึกษาทำผาสาดลอยเคราะห์ หรือศึกษาดูงาน ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ลอยผาสาดได้ตลอดทั้งปี ติดต่อได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านต้นหล้าเชียงคาน ชุมชนวัดป่าใต้ สามารถเช็คสอบถามข้อมูลได้ที่เบอร์โทร. 097-3215321 (คุณไพรินทร์) หรือ 093-1053611 (คุณสุริยัน)


ภาพประกอบเพิ่มเติมผาสาดสะเดาะเคราะห์จากเทศบาลตำบลเชียงคาน

นักสื่อสารสุขภาวะดิจิทัล