เราจะข้ามผ่านสะพานศรีสุราษฎร์ เพื่อเดินทางก้าวข้ามปัญหา

“สะพานศรีสุราษฎร์” เป็นสะพานที่สูงที่สุดในภาคใต้ ตั้งอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี สะพานแห่งนี้เป็นเส้นทางสัญจรสำคัญสำหรับข้ามแม่น้ำตาปี และยังเป็นเส้นทางที่ใช้เลี่ยงรถติดในตัวเมืองสุราษฎร์​ฯ ทำจากคอนกรีตอัดรูปกล่อง ก่อสร้างแบบสะพานคู่ มีความยาว 2.56 กิโลเมตรและความยาวของถนนประมาณ 3.24 กิโลเมตร

แต่อีกด้านหนึ่งก็กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงเชิงสัญลักษณ์ในการใช้หนีปัญหาต่าง ๆ  เนื่องจากความสูงของสะพานมักจะเกิดเหตุสะเทือนใจขึ้นอยู่บ่อย ๆ

ด้วยสภาพปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจและรวมถึงปัญหาภายในครอบครัวที่เป็นเหตุในการสร้างผลกระทบต่อจิตใจหรือสร้างความทุกข์ใจให้กับผู้คน

จึงเรียกได้ว่าสะพานศรีสุราษฎร์นี้เป็นสะพานที่ข้ามผ่านได้ยากเพราะจะมีผู้คนเลือกใช้สะพานแห่งนี้ในการจบชีวิตตัวเองกันอย่างต่อเนื่อง

โดยทั่วโลกมีคนมากกว่า 7 แสนคนฆ่าตัวตายสำเร็จ เฉลี่ยมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ในทุก 40 วินาทีสำหรับประเทศไทยอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2563 สูงขึ้นทุกปี โดยตัวเลขล่าสุดประเทศไทยมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 4,800 คนต่อปี

ด้านข้อมูลจากคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางจิตเวช โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี พบว่าในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 2 สิงหาคม 2566 ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีพบผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 15 ราย คิดเป็นอัตรา 7.90 ต่อประชากรแสนคน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ จำนวนมากถึง 71 ราย โดยมีสาเหตุสำคัญจากโรคซึมเศร้า 30%  โรคจิตเวช 10% และส่วนใหญ่ 60% เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบขาดสติ หุนหันพลันแล่น โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน ที่มีการใช้สารเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วม

กลุ่มเยาวชน นักศึกษา ประชาชาชน เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนบน กลุ่มประมงพื้นบ้านเพื่อการอนุรักษ์บึงขุนทะเล เครือข่ายเยาวชน “South Youth Ranger” และเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) กว่า 100 คน ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เชิงสัญลักษณ์เพื่อก้าวข้ามปัญหาและลดอัตราการฆ่าตัวตาย โดยภายในงานมีการแสดงกิจกรรมละครเชิงสัญลักษณ์และกิจกรรมไว้อาลัยต่อผู้ที่จากไป ณ สะพานแห่งนี้

นอกจากนี้ยังมีการยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังนี้

1.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงสร้างแผงกันบนขอบสะพาน  ติดตั้งกล้องวงจรปิด และตั้งจุดเฝ้าระวัง พร้อมให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจการตลอดเวลา

2.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อำเภอ ให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตของผู้คนโดยเพิ่มศูนย์บริการสำหรับดูแลสุขภาพจิตอย่างทั่วถึง ให้มีระบบการคัดกรองความเสี่ยง และส่งต่อหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

3.ขอให้ทุกคนในสังคมเป็นพลังบวกซึ่งกันและกัน และร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะทางจิตใจที่ดี  มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังเป็นหูเป็นตาแจ้งเหตุ” 

ทั้งนี้การป้องกันหรือทำให้การเข้าถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งเรื่องเหล้า ยาเสพติดซึ่งเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญของปัญหานี้ รวมไปถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน  จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรทำ

เพื่อไม่ให้สะพานศรีสุราษฎร์เป็นสะพานแห่งการสูญเสียและจบชีวิต แต่เป็นสะพานแห่งความหวัง เป็นสะพานแห่งการก้าวข้ามผ่านปัญหาและอุปสรรค
Author Name

กองบรรณาธิการ SDNThailand