เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

“เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกันมาหลายปี โดยมีประเด็นข้อกังวลในเรื่องของปัญหาผลกระทบตั้งแต่สุขภาพไปจนถึงเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อีกด้วย

ภาพจาก : SDG MOVE

การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal – SDGs) เป็นแผนกระทบที่สำคัญสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับโลกที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายและมีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยมีเป้าหมายทั้งหมด 17 ประการที่เป็นเป้าหมายในการแก้ไขปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดจากแอลกอฮอล์เช่น การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ลดความยากจน ความอดอยาก การศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และความร่วมมือที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน (อ้างอิงจาก แอลกอฮอล์และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อุปสรรคสำคัญของการพัฒนา , ศวส.2562) เป็นต้น

ตามแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนการรับรู้และเข้าใจถึงผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีความสำคัญอย่างมากในการสร้างสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมาย SDGs ในหลาย ๆ ด้าน เช่น

1.เป้าหมายที่ 3 : สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างรุนแรงและยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคกว่า 200 โรคและการบาดเจ็บเช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งของอวัยวะต่าง ๆ , โรคตับอักเสบ , อุบัติเหตุจราจร , การบาดเจ็บจากความรุนแรง , ปัญหาสุขภาพจิต

2. เป้าหมายที่ 5 : ความเท่าเทียมทางเพศ
การดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งผลกระทบที่นำไปสู่ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศและความรุนแรงในครอบครัว

3. เป้าหมายที่ 6 : น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
ในกระบวนการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจจะต้องใช้น้ำในปริมาณมาก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงน้ำและสุขาภิบาลที่ดีเนื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์

4. เป้าหมาย 11: เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
การดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบที่อันตรายในระดับชุมชน ซึ่งนำไปสู่อัตราการเกิดอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น ความไม่เป็นระเบียบทางสังคม และความเครียดในระบบการรักษาพยาบาล 

5. เป้าหมายที่ 13 : การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในกระบวนการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจเกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการระบายคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากกระบวนการผลิตและการจัดส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย

6. เป้าหมาย 16 : สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
การดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบโดยตรงทำให้เกิดอาการขาดสติ เลยอาจบั่นทอนความสามัคคีของสังคม ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง ความรุนแรง และอาชญากรรม ทำให้สังคมเกิดความวุ่นวาย ไม่สงบสุข

นี่คือตัวอย่างจากน้ำเมาที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาในด้านต่าง ๆ นอกจากเป้าหมายข้างต้นแอลกอฮอล์นั้นส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมาก ๆ ซึ่งแทบจะอยู่ในทุกเป้าหมายทั้ง 17 ข้อเลย

อย่างไรก็ตามการจะลดผลผกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์และทำให้เป้าหมายของแผนนี้เป็นไปอย่างยั่งยืนคือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม ให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน ให้การบริการในการรักษาและสนับสนุนให้ทุกคนนั้นสามารถมีโอกาสเข้าถึงได้ 

นอกจากนี้ธนาคารโลกซึ่งเป็นสถาบันทางเศรษฐกิจได้เสนอไว้ใน The World Development Report 1993 เรื่อง “Investing in Health” สนับสนุนรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ให้มีนโยบายควบคุมการบริโภคบุหรี่และสุราอย่างเข้มงวดและระบุอย่างชัดเจนว่า “การตัดสินใจในเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจเชิงสังคมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ”

กองบรรณาธิการ SDNThailand