30 หน่วยงาน ร่วมแสดงข้อคิดเห็น-ยื่นหนังสือความห่วงใยด้านปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า และสิ่งเสพติดในกลุ่มเด็ก เยาวชนจังหวัดเลย ต่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ผวจ.เลย

ภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดเลย เสนอแนวทางร่วมกันส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพ ในเวทีรับฟังความคิดเห็น และความห่วงใยด้านปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า และสิ่งเสพติดในกลุ่มเด็ก นักเรียน และเยาวชนจังหวัดเลย

วันที่ พุธ ที่ 9 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุมศรีสองรัก ศาลากลางจังหวัดเลย 30 หน่วยงานในจังหวัดเลย ประกอบด้วย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย ปกครองจังหวัดเลย ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย สรรพสามิตพื้นที่เลย เทศบาลเมืองเลย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เลย-หนองบัวลำภู  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเลย เครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดเลย และมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม ร่วมจัดเวทีฟังความคิดเห็น และแสดงความห่วงใยด้านปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า และสิ่งเสพติดในกลุ่มเด็ก นักเรียน และ เยาวชน จังหวัดเลย

จากการสำรวจพื้นที่เสี่ยง พื้นที่สร้างสรรค์ ในจังหวัดเลย เพื่อให้เห็นสถานการณ์ โดยนำรอง 5 อำเภอได้แก่ อำเภอเมืองเลย อำเภอเชียงคาน อำเภอด่านซ้าย อำเภอวังสะพุง อำเภอเอราวัณ   ข้อค้นพบที่สำคัญคือ

           สถานที่ที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ส่วนใหญ่คือ สวนสาธารณะหรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ หอสมุด พิพิธภัณฑ์ สถานที่ออกกำลังกายต่างๆ  วัด วิสาหกิจชุมชนต่างๆ รวมถึงโรงเรียนและสถานที่ราชการ

           สถานที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงส่วนใหญ่คือ  สถานที่ที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่น ผับ บาร์ ร้านขายบุหรี่ไฟฟ้า น้ำสาธารณะ ถนนโดยเฉพาะแยกต่างๆ แหล่งมั่วสุมต่างๆ เช่นสถานที่รกร้าง ใต้สะพาน ร้านเกมส์ ร้านสนุ๊กเกอร์ รีสอร์ท

           พบว่า สถานที่เสี่ยงต่อปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด มีค่อนข้างมากในพื้นที่ ซึ่งรวมกันอยู่พื้นที่ชีวิตประจำวันทั่วไป ในการชีวิตของเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปตัวอย่าง สถานที่ที่เป็นทั้งพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่สร้างสรรค์ เช่น สวนสาธารณะ กลางวันเป็นสถานที่ออกกำลังกาย พักผ่อน แต่กลางคืน กลับเป็นแหล่งมั่วสุม พบปะของกลุ่มวัยรุ่น ในจุดที่มืด หรือจุดลับตา รวมกลุ่มกันทำอะไรบางอย่างหรือ สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งดื่มแอลกอฮอล์ สถานบันเทิงบางที่ แม้จะเปิดถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับไม่กระทำตามกฎหมาย ด้วยการอนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปใช้บริการได้ ไม่มีการตรวจบัตรประชาชน ส่วนในสถานศึกษา ก็ยังเป็นพื้นที่เสี่ยง โดยการที่นักเรียนแอบนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไปสูบในโรงเรียน จนโรงเรียนต้องมีมาตรการต่างๆ ในการดำเนินการ ทั้งป้องกัน และยับยั้ง

ข้อห่วงใยจากสถานการณ์ดังกล่าว คือ  

  • ครอบครัว เพื่อน สภาพแวดล้อมในชุมชน สื่อโซลเชียล มีผลต่อการเข้าถึงปัจจัยเสี่ยง
  • อยากให้มีส่วนร่วม ของนโยบาย ที่ร่วมมือกันในการป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้ จากหน่วยงาน องค์กร ภาคีในจังหวัดเลย  
  • กลไกการซื้อ-ขาย จะทำยังไง ให้หาซื้อได้ยาก
  • ไม่อยากให้ผลิตสุราแบบเสรี ฝากให้พิจารรามาตรการอีกครั้ง เพราะหากเปิดเสรี อาจจะมีปัญหามากขึ้นแน่นอน

ข้อเสนอแนะ

  • ยังไงให้มีกิจกรรมดีๆ พื้นที่ดีๆ จนไม่มีเวลาไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติด
  • การใช้โซเชียล การสร้างการตระหนักรู้
  • การมีมาตรการป้องกันเด็กและเยาวชนกลุ่มใหม่อย่างเข้มข้นไม่ให้เข้ามาในวังวนปัจจัยเสี่ยง หน่วยงานช่วยกวดขัน ไม่ให้นักเรียนเข้าถึงง่าย
  • อยากให้ฝ่ายปกครองให้ความช่วยเหลือ ในการออกตรวจปัสสาวะในโรงเรียน อย่างน้อยเทอมละ 2 ครั้ง

จากการสรุปภาพรวมการร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีครั้งนี้ จะนำไปสู่การประสานความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนงาน เชื่อมกับนโยบายสาธารณะงานบุญประเพณีปลอดเหล้า ปลอดภัย และลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดเลย ที่ได้มีการ MOU และมีการดำเนินการขับเคลื่อนมาตั้งแต่ ปี 2563 และมีการ MOU เพิ่มเติมอีกครั้ง ในปี 2566 ร่วมกับหน่วยงานในจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้มีการดำเนินการใน 14 อำเภอ ขับเคลื่อนงานเพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในงานบุญประเพณีต่างๆ เช่น งานกาชาดและดอกฝ้ายบาน งานแข่งเรืออำเภอเชียงคาน งานลอยกระทงอำเภอเมืองเลย งานสงกรานต์อำเภอเชียงคาน งานบุญบั้งไฟอำเภอเอราวัณ เป็นต้น

ในส่วนของน้องๆ เยาวชนตัวแทนจาก 6 สถานศึกษา ได้มีการยื่นหนังสือข้อเสนอความห่วงใยต่อ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ในพื้นที่ เพื่อที่จะส่งต่อข้อเสนอไปยังรัฐบาล เพื่อที่จะพิจารณามาตรการอย่างเข้มงวด ในการออกกฎหมาย การมีมาตรการปกป้องและดูแลสิทธิ เสรีภาพและความปลอดภัยของเด็ก เยาวชนจังหวัดเลย และทั่วประเทศ

และยื่นหนังสืออีกฉบับ ต่อ นายชัยพจน์ จรูญพงศ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ในเวทีเดียวกัน เพื่อให้มีนโยบายที่เข้มงวด ในการดูแลเด็ก และเยาวชนในจังหวัดเลย ให้เติบโตภายใต้ภุมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

ทั้งนี้ นางฐิติพันธ์ วงษ์คำจันทร์  ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดเลย กล่าวว่า เมื่ออัตราการเกิดของเด็กมีน้อย เราต้องร่วมมือกันปกป้องเขาให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่เขา โดยเฉพาะการควบคุม และป้องกันจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิเช่น บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น นอกจากนี้ ควรมีการร่วมมือกันเพื่อลดพื้นที่เสี่ยงที่เอื้อให้เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งในพื้นที่ 14 อำเภอ ในเขตเทศบาลเมืองเลย แหล่งท่องเที่ยว รวมไปถึงงานบุญประเพณีเทศกาลต่างๆ ในจังหวัดเลย ร่วมมือกันเพื่อเพิ่มพื้นที่และกิจกรรมสร้างสรรค์ เครือข่ายงดเหล้าจังหวัดเลย ในนามองค์กรที่มีการรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงในจังหวัดเลย และผลักดันให้เกิดความร่วมมือและหนุนเสริมกิจกรรม อยากเห็นจังหวัดเลยมีนโยบายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมให้เด็กของเราเติบโตอย่างมีคุณภาพ ทำงานในเชิงรุกซึ่งจะมีการทำงานที่หลากหลายมาก โดยอาจรวมถึงมาตรการป้องกันเหตุที่เกิดจากรถโรงเรียน หรือรถที่ใช้ในการทัศนศึกษาของนักเรียนเป็นต้น ดังนั้น “การส่งเสริมให้เยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีประเด็นที่ต้องดำเนินการที่หลากหลายมาก อาทิเช่น ผลการเรียน สังคมในโรงเรียนที่มีความรุนแรงมากขึ้น ยาเสพติดและความเสี่ยงต่างๆ ทั้งการท้องในวัยเรียน บุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังระบาดในเยาวชน และเด็กบางส่วนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เป็นต้น  เห็นด้วยและพร้อมสนับสนุนให้จังหวัดเลย มีคณะทำงานที่จะมาร่วมกันทำงานในเชิงรุก สำรวจปัญหา ร่วมกันออกแบบมาตรการแก้ไขและร่วมกันดำเนินงาน”


ภาพ ; เครือข่ายงดเหล้าจังหวัดเลย

ข่าว ; นางสาวนาฎชฎา แจ้งพรมมา จนท.ประสานงานแผนงานนโยบายสาธารณะ เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคอีสานตอนบน

จนท.แผนงานนโยบายสาธารณะและสื่อสารองค์กร เครือข่ายงดเหล้าภาคอีสานตอนบน