สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และภาคีเครือข่ายได้จัดเสวนาออนไลน์ เพื่อทบทวนและระดมสมอง เกี่ยวกับการจัดงาน“ลอยกระทงปลอดเหล้าปลอดภัย ห่างไกลโควิด” ผ่าน FB live เครือข่ายงดเหล้า
โดยนายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิด “พื้นที่ปลอดภัย” เป็นการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดทอนปัจจัยเสี่ยง งานลอยกระทงใน 3 พื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ได้แก่ งานยี่เป็งจังหวัดเชียงใหม่ งานเผาเทียนเล่นไฟจังหวัดสุโขทัยและงานกระทงสายไหลประทีปพันดวงจังหวัดตาก พบว่าต่างก็เคยถูกใช้เป็นพื้นที่เพื่อโฆษณาสื่อสารการตลาดของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เคยเต็มไปด้วยความเสี่ยงความไม่ปลอดภัยจากเหตุทะเลาะวิวาทจากคนเมา แต่การขับเคลื่อนที่ผ่านมาโดยการจัดงานลอยกระทงแบบปลอดเหล้า ทำให้งานลอยกระทงของทั้งสามจังหวัดนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก กลายเป็นงานที่มีความปลอดภัยและมีชีวิตชีวามากขึ้น ชุมชนท้องถิ่นและเยาวชนมีความเป็นเจ้าของ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงาน ในการกำหนดทิศทางของการอนุรักษ์คุณค่าวิถีวัฒนธรรมมากขึ้น ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืนของการเปลี่ยนแปลง
น.ส. ทัศนีย์ ศิลปะบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า การจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าที่ผ่านมามีต้นแบบที่ดีหลายพื้นที่ โดยเฉพาะการจัดงานโดยเน้นความหมายและวัฒนธรรมของงาน และการส่งเสริมสังคมสุขภาวะ การจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าได้แสดงให้เห็นถึงความเข็มแข็งของชุมชน และจากการทำงานใน 3 พื้นที่สำคัญพบว่าแต่ละจังหวัดมีรูปแบบการทำงานปลีกย่อยที่ต่างกัน แต่ล้วนเป็นจุดเด่นที่สามารถเป็นพื้นที่ต้นแบบ จะเป็นตัวอย่างให้พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในการร่วมกันขยายผล รวมถึงการลงลึกด้านการควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สิ่งแวดล้อม สังคม เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทอัตลักษณ์พื้นถิ่นของแต่ละพื้นที่
ด้านนายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานนโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เปิดเผยว่า สคล.เรารณรงค์งานลอยกระทงปลอดเหล้าตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่รณรงค์งานลอยกระทงปลอดเหล้าทั้งหมด 99 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยในช่วง 7 ปีแรกเน้นรณรงค์ให้เกิดการจัดงานแบบปลอดเหล้า หลังจากนั้นได้พัฒนาไปสู่การจัดการความเสี่ยงอื่นๆ อาทิ ประทัดยักษ์ โคมลอย และเน้นการให้คุณค่าและความหมายของลอยกระทง ส่งผลให้การทะเลาะวิวาทภายในบริเวณงานแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย อุบัติเหตุทางถนนลดลง ยอดจองห้องพักเพิ่มมากขึ้น งานลอยกระทงปลอดเหล้าจึงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งจากผู้จัดงาน นักท่องเที่ยว รวมทั้งบรรดาผู้ประกอบการร้านค้าและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ทั้งนี้เรามีการสำรวจข้อมูลงานลอยกระทงล่าสุด พบว่าร้อยละ 74.40 ของพื้นที่จัดงานลอยกระทงทั่วประเทศจัดงานแบบปลอดเหล้า อย่างไรก็ตาม เครือข่ายฯยังต้องเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ที่ยังคงพยายามเข้าไปแทรกแซงเชิงนโยบายกับหน่วยงานรัฐ เพื่อให้มีพื้นที่ในการจำหน่ายสุราและลานเบียร์ในพื้นที่จัดงานต่างๆ ซึ่งเครือข่ายฯ จะร่วมผนึกกำลังกับท้องถิ่นและภาคส่วนต่างๆ สร้างการมีส่วนร่วมในงานประเพณีของพื้นที่ให้ปลอดเหล้ามากขึ้น เน้นการจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมแบบร่วมสมัย เพื่อสืบสานวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวและต่อยอดเชิงเศรษฐกิจอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ให้มากยิ่งขึ้น
พระครูสุมณฑ์ ธรรมธาดา เจ้าอาวาสคลองกระจง จังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า งานลอยกระทงของจังหวัดสุโขทัยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ ในอดีตการจัดงานนำมาซึ่งปัญหาอุบัติเหตุและคนสุโขทัยมาเที่ยวงานลอยกระทงน้อยลงเพราะเห็นว่าไม่ปลอดภัย จึงพยายามแก้ปัญหาโดยเริ่มจากการรณรงค์เรื่องเหล้าและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ผลักดันให้จังหวัดกำหนดนโยบายให้งานลอยกระทงเป็นงานปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ ซึ่งจังหวัดสุโขทัยมีมติให้การจัดงานปลอดเหล้าปลอดบุหรี่ตั้งแต่ปี 2550 ทำให้ภาคส่วนต่างๆ นำนโยบายไปปฏิบัติตาม โดยมีการทำข้อตกลงกับทุกภาคส่วนเพื่อไม่ให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มในบริเวณงาน มีการติดป้ายรณรงค์ การตรวจเตือนโดยเจ้าหน้าที่และเยาวชนในพื้นที่ มีการบังคับใช้ พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างจริงจัง ทำให้พื้นที่จัดงานลอยกระทงกว่าหมื่นไร่ไม่มีการดื่มเหล้า และกลายเป็นวัฒนธรรมว่ามาเที่ยวงานลอยกระทงสุโขทัยต้องไม่ดื่มไม่สูบ เป็นจารีตของคนสุโขทัยไปแล้ว นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อการจัดงานบุญประเพณีอื่นๆอีกด้วย
นายธงชัย ยงยืน ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือตอนบน กล่าวว่า งานลอยกระทงช่วงปี 2549 โดยเฉพาะบริเวณริมน้ำปิง และสะพานนวรัตน์ ซึ่งเป็นจุดเสี่ยง ริมฝังแม่น้ำปิงเต็มไปด้วยลานเบียร์ มีอุบัติเหตุประทัดยักษ์ระเบิดใส่มือนักท่องเที่ยว มีปัญหาผลกระทบของโคมไฟต่อเครื่องบินและบ้านเรือนบริเวณใกล้เคียง ซี่งปี 2550 จึงได้เริ่มจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าขึ้น เริ่มมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมรณรงค์มากขึ้น อาทิ สำนักงานสรรพสามิต สำนักงานสาธารณสุขและเครือข่ายนักศึกษา 7 สถาบันมาช่วยรณรงค์ มีการจัดเวทีกิจกรรมสร้างสรรค์เป็นความพยายามเปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ มีการทะเลาะวิวาทและเคยมีผู้เสียชีวิต จึงเสนอผลกระทบต่อเทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อปี 2555 ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ที่มาร่วมจัดงาน โดยเน้นการรักษาวัฒนธรรมของงานลอยกระทงของเมืองเชียงใหม่ และมีภาคส่วนต่างๆ ให้ความร่วมมือมากขึ้น ปัจจุบันได้ก้าวข้ามประเด็นเรื่องเหล้าและปัจจัยเสี่ยงไปแล้ว เริ่มให้ความสำคัญต่อประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการรวมกันกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเรื่องการจัดงานลอยกระทงที่เป็นที่ต้องการของคนเชียงใหม่
น.ส.ศิวะพร คงทรัพย์ ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดตาก กล่าวว่า กระทงสายไหลประทีปพันดวงของจังหวัดาก กระทงสายทำมาจากกะลามะพร้าวเป็นวัสดุในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นในเรื่อง การเป็นกระทงพระราชทาน การเน้นวัฒนธรรมของท้องถิ่นเช่น การฟั่นเทียน การบูชาพระแม่คงคา และการทอดผ้าป่าน้ำ เป็นต้น รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะ16 ชุมชนในอำเภอเมืองตากและเยาวชน เดิมปี 2554 งานลอยกระทงจังหวัดตากมีลานเบียร์มากถึง 32 ลานเบียร์ ต่อมาเน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน โดยเน้นการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายควบคู่กับการรณรงค์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนมีการรณรงค์ ทั้งติดป้าย ประชาสัมพันธ์ก่อนจัดงาน เสียงตามสาย ร่วมมือกับสถานีวิทยุ อสมท.ตาก รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่จะมาขายสินค้าในงานทราบพร้อมกับลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานว่าจะไม่ขายไม่ดื่มในงาน จนกระทั่งปี 2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดตากได้ร่วมมือกับหน่วยงานองค์กรต่างๆ รวมทั้งผู้นำชุมชนในพื้นที่ร่วมลงนาม MOU ให้งานบุญประเพณีของจังหวัดเป็นงานปลอดเหล้าทั้งหมด เพราะเห็นว่าถ้าจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าสำเร็จก็สามารถจัดงานอื่นๆ ให้ปลอดเหล้าด้วยเช่นกัน นอกจากนี้พบว่าในทุกๆ ปีประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 พึงพอใจต่อการจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้า