“วันรณรงค์โรคถุงลมโป่งพองโลก”

ในผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง ถุงลมและหลอดลมจะเสียความยืดหยุ่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ในระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการ แต่ต่อมาเมื่อเป็นมากขึ้น อาการก็จะแสดงชัดขึ้นตามลำดับ โดยอาการสำคัญที่พบบ่อยๆ ได้แก่ หายใจลำบาก หอบ เหนื่อย และหายใจมีเสียงวี๊ด

องค์การอนามัยโลก และองค์การโรคถุงลมโป่งพองแห่งโลก ได้ร่วมกันกำหนดให้วันพุธสัปดาห์ที่สอง หรือที่สามของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันรณรงค์โรคถุงลมโป่งพองโลก” มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2545   ร้อยละ 90 ของสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง คือ การสูบบุหรี่ มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ ถึงประมาณปีละ 3 ล้านคนหรือเท่ากับเสียชีวิตนาทีละ 6 คน และในปี 2563  มีผู้ป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพองเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 และอาจทำให้โรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 3 ของประชากรโลก

ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19  ทำให้ต้อง ยิ่งควรเพิ่มความระมัดระวัง เนื่องจากผู้ป่วยโรคปอด ซึ่งรวมถึงโรคถุงลมโป่งพอง หอบหืด ถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง หากติดเชื้อ สมรรถภาพในการทำงานของถุงลมจะยิ่งลดลง โอกาสที่จะทำให้เกิดอาการหัวใจล้มเหลวหรือปอดบวมนั้นสูงมาก จึงควรระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษ ควรอยู่ให้ห่างจากคนที่มีอาการไอ จาม เป็นไข้ ควรใช้หน้ากากอนามัย เลี่ยงสถานที่เสี่ยง ล้างมือให้สะอาด หรือพกเจลล้างมือติดตัวไปด้วยเสมอ

ปัจจุบันโรคถุงลมโป่งพอง เป็นโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สำหรับการรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือ การกิน และพ่นยา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ซึ่งปอดจะถูกทำลายช้าลง ดังนั้นเราสามารถป้องกันโรคนี้ได้ โดยการไม่สูบบุหรี่ ถ้าเป็นเพียงช่วงเริ่มต้น ก็ควรเลิกให้ได้ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการทำงานและการเข้าไปหรืออาศัยอยู่ในบริเวณที่มีควันพิษหรือในที่ที่มีผู้สูบบุหรี่จะเป็นการดีที่สุด

นักสื่อสาร องค์กรสุขภาวะ