ความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นจากการล๊อกดาวน์และการดื่มแอลกอฮอล์

            การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเกิดความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น โดย Organization for Economic Co-operation and Development รายงานว่า ผลจากนโยบายล็อกดาวน์ (Lockdowns) ทำให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นโดยเป็นการดื่มที่บ้าน ผลจากการที่มากขึ้นส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น เช่นในสหภาพยุโรปแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ในภาพรวมโดยผู้หญิง 1 ใน 3 คนถูกกระทำความรุนแรงจากแฟน และเด็ก 1 ใน 3 คน เช่น การถูกกระทำความรุนแรงจากผู้ปกครองหรือจากสมาชิกในครอบครัว

          ผลของการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิดจะส่งผลกระทบถึง 30 ปี เช่นในกลุ่มประเทศ OECD ประชากรเพศชายที่ดื่มมากกว่าวันละแก้วครึ่ง และผู้หญิงที่ดื่มมากกว่าวันละหนึ่งแก้วจะมีอายุขัยเฉลี่ยน้อยลง 0.9 ปี (เพราะป่วยด้วยโรคที่มีสาเหตุจากแอลกอฮอล์ เช่น โรคตับแข็ง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง เป็นต้น) การเจ็บป่วยและความเมายังทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ประกอบกับการจ้างงานระหว่างปี 2563 – 2593 จะลดลงร้อยละ 0.33 กลุ่มประเทศ OECD ยังจะมีรายจ่ายด้านสุขภาพคิดเป็นร้อยละ 2.4 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ GDP ของประเทศลดลงร้อยละ 1.6 ดังนั้นเพื่อให้งบประมาณเพียงพอกับรายจ่ายคาดว่าประชาชนจะต้องจ่ายภาษีปีละ 232 ดอลลาร์สหรัฐ

          การดื่มในปริมาณน้อยก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน โดยโครงการศึกษาภาระปัญหาของโลกว่าด้วยเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ (Global Burden of Disease) สำรวจพฤติกรรมการบริโภคแอลกอฮอล์และผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นกับประชากรอายุ 15-95 ปี จาก 195 ประเทศทั่วโลกพบว่า การดื่มในปริมาณเล็กน้อย หรือ 10 กรัมต่อวันทำให้ผู้ดื่มมีความเสี่ยงจากโรคหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุสูงกว่าคนที่ไม่ดื่ม 0.5% ส่วนคนที่ดื่มวันละ 20 กรัมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 7% และคนที่ดื่มวันละ 50 กรัมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 37%

          การป้องกันหรือลดการดื่มในช่วงสถานการณ์โควิด จะเกิดประโยชน์อย่างน้อย 3 ประการได้แก่

          1. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายลดลง การดื่มแอลกอฮอล์ในระดับมากยังขัดขว้างการสร้างภูมิต้านทานของวัคซีน การลดการบริโภคจึงเป็นการช่วยลดการติดเชื้อ

          2. งดเหล้า เป็นการลดกระจายเชื้อ เพราะในวงเหล้า ที่คนขาดสติ ไม่สามารถควบคุม ป้องกันการกระจายเชื้อได้ และมีหลักฐานมากมายว่า วงเหล้าเป็นคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่งการงดตั้งวงเหล้าเท่ากับเป็นการ ลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ เพราะอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยจากแอลกอฮอล์ลดลง ทำให้หมอและพยาบาลสามารถรับมือกับผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยโควิดได้มากขึ้น เช่นในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ที่มีนโยบายห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าการใช้ห้องฉุกเฉินที่มีสาเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 65

          3. ประชาชนและประเทศจะฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิดได้ไวขึ้น เพราะประชาชนมีสุขภาพที่ดี และมีความศักยภาพในการทำงานสูง  

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดนี้ยังต้องเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นพิเศษ เพราะเด็กมีเวลาดูทีวีและเล่นโซเดียลมีเดียเพิ่มมากขึ้น 50% ซึ่งอาจหลงเชื่อกลยุทธ์ทางการตลาด นอกจากนี้ควรเฝ้าระวังการลักลอบจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์และร้านค้าปลีก โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ราคาไม่แพง นอกจากนี้เด็กจะเรียนรู้พฤติกรรมจากผู้ปกครองโดยเฉพาะถ้าผู้ปกครองดื่มเหล้าให้ลูกจะทำให้ลูกเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้

อ้างอิง

บีบีซี. (2561). ผลวิจัยล่าสุดชี้ “ระดับปลอดภัย” ในการดื่มแอลกอฮอล์ไม่มีจริง. https://www.bbc.com/thai/international-45297195

Calina D, Hartung T, Mardare I, Mitroi M, Poulas K, Tsatsakis A, Rogoveanu I, Docea AO. (2021). COVID-19 pandemic and alcohol consumption: Impacts and interconnections. Toxicol Rep. 2021;8:529-535. doi: 10.1016/j.toxrep.2021.03.005.

Organization for Economic Co-operation and Development. (2021). The effect of COVID-19 on alcohol consumption, and policy responses to prevent harmful alcohol consumption. https://www.oecd.org/coronavirus/policy-responses/the-effect-of-covid-19-on-alcohol-consumption-and-policy-responses-to-prevent-harmful-alcohol-consumption-53890024/?fbclid=IwAR1W4wThN1SdTXRv23JNwL9iEETjLqILeJCY8boLvRGOCr90bWHTSR68RTk.

กองบรรณาธิการ SDNThailand