เครือข่ายงดเหล้า และ สสส. ร่วมกับภาคีการท่องเที่ยว เปิดวงเสวนา Online ชวนปชช. ผ่อนคลายช่วงโควิด “เที่ยวทิพย์ทั่วไทย ปลอดเหล้าปลอดภัย ห่างไกลโควิด” หวังให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ เยียวยาประชาชนในพื้นที่ต่างๆ หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย
(10.00 น.)วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในเสวนา Online “เที่ยวทิพย์ทั่วไทย ปลอดเหล้าปลอดภัย ห่างไกลโควิด”ว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย สนับสนุนกระบวนการทำงานสร้างความเข้าใจถึงสถานการณ์โควิด เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสังคม โอกาสนี้เครือข่ายงดเหล้า ได้นำประสบการณ์การทำงานเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงในงานประเพณีวัฒนธรรมและเทศกาลการท่องเที่ยว ซึ่งช่วงที่ยังไม่สามารถเที่ยวจริงได้ เรายังสามารถเที่ยวทิพย์ไปก่อนได้ และให้ถือโอกาสจังหวะนี้หารือกันว่าจะยกระดับการท่องเที่ยวไทยได้อย่างไรบ้าง เมื่อถึงเวลาเปิดให้เที่ยวจริง การท่องเที่ยวจะได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดจากโควิดไปได้ เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่ทุกอย่างคลี่คลาย การท่องเที่ยวไทยจะกลับมาคึกคักอย่างเต็มที่ ทางสสส. เชื่อมั่นว่าพลังแบบรวมหมู่นี้เองจะนำพาชุมชนและสังคมข้ามวิกฤตนี้ไปได้
นางสาวมาลัย มินศรี ผู้จัดการโครงการวัฒนธรรมสร้างสุข-ท่องเที่ยวปลอดภัย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวว่า เดิม สคล.มีโครงการวัฒนธรรมสร้างสุข-ท่องเที่ยวปลอดภัย แต่ในสถานการณ์ของการเกิดโรคระบาดโควิด19 มีแนวคิดจัดกิจกรรมรณรงค์“เที่ยวทิพย์ทั่วไทย ปลอดเหล้าปลอดภัย ห่างไกลโควิด” หวังจะสร้างให้เกิดการคลายความเครียด ด้วยยุคนี้การเที่ยวทิพย์เป็นปรากฎการณ์ที่สร้างผลดีต่อบรรยากาศโดยรวมในโลกออนไลน์ สามารถนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาศักยภาพชุมชน ให้เข้าถึงวิถีวัฒนธรรมและคุณค่าแท้ในการจัดการชุมชน ถือเป็นเรื่องสำคัญ คุณค่าแท้ในวิถีชีวิตของชุนชนเราเอง การกินอยู่อาศัย การแต่งกาย หากดึงอัตลักษณ์มาช่วยกันนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ในช่วงที่ยังไปไหนไม่ได้นี้ หากทุกคนสามารถเป็นนักสื่อสารได้ ทุกชุมชนจะสามารถมีภาพจำในแต่ละชุมชน เมื่อสถานการณ์โควิดผ่อนคลาย อาจจะเกิด Trip การท่องเที่ยวภายในประเทศหลากหลายรูปแบบ คาดว่าจะเป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ขณะนี้สิ่งที่ควรคำนึงด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ล้วนเป็นการทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย ยิ่งการรวมตัวกันสังสรรค์ทำให้มีโอกาสแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 มากยิ่งขึ้น
ขณะที่ คุณพิชญ์สินี ทัศน์นิยม ผู้อำนวยการ ททท. จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า เมื่อ Covid มาทำให้ชีวิตและพฤติกรรมเปลี่ยน นักท่องเที่ยว New Normal เน้นเรื่องของความปลอดภัย ความสะอาด สุขอนามัย ตามเกณฑ์มาตรฐานของสาธารณสุข SHA (Amazing Thailand Safety & Health Administration) เพื่อการยก ระดับมาตรฐานสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวให้ผู้ประกอบการป้องกันและลดความเสี่ยงของนักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย การท่องเที่ยวชุมชนเป็นอีกทางเลือกที่นักท่องเที่ยวสนใจ เพราะวิถีชีวิต ตั้งอยู่บนความเรียบง่าย ประกอบกับ อาหารที่มีสรรพคุณกินเป็นยา หรือกินตามเรือนธาตุ ซึ่งเป็น Trend ที่มาแรง ทั้งนี้ ททท.สำนักงานนครศรีธรรมราชเราจึงจัดทำ ๘ ชุมชนสีเขียวเที่ยวได้ทั้งปี เป็น E –book เน้นกิจกรรมเด่น อาหารดี ไปเที่ยวทั้งทีต้องมีรูปตามจุด Check in ต่างๆ
ขณะนี้ ททท. ร่วมกับ ม.วลัยลักษณ์ จัดทำ Application มานะมานคร ซึ่งเป็น App บนมือถือที่มีข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ให้ถ่ายรูปในคอนเซปต์ “เที่ยวสนุก สุขสะสม”เข้าถึงข้อมูลและเรื่องราวต่างๆในพื้นที่ได้ง่าย และ Amazing ยิ่งกว่าเดิมกับ ภาพจำที่ไม่จาง ด้วยกิจกรรม ทบทวนความหลัง “เที่ยวทิพย์ ทริปคอนลุง แบบ Slowlifeสไตล์โหม๋เรา” ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง เพจ TAT : Nakhon Si Thammarat + Phatthalung เที่ยวทิพย์ทั้งที ต้องไม่มีแอลกอฮอล์
ในขณะที่คุณสาวิกา กาญจนมาศ (ตวง) นักแสดงสาวแลกเปลี่ยนประสบการณ์การท่องเที่ยวของเธอว่า ได้มีโอกาสท่องเที่ยวที่ต่างๆในรูปแบบของนักท่องเที่ยวอาสา มีกิจกรรมร่วมกับเด็กๆและคนในชุมชน ได้ทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ ไม่ว่าจะปลูกต้นไม้ เก็บขยะ สอนหนังสือ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม สอนภาษาอังกฤษ พัฒนามัคคุเทศก์น้อย ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีโควิด คิดว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่มีประสบการณ์ในแนวทางนี้ พร้อมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในช่องทางของตนเอง และจะส่งเสริมให้คนที่ติดตามเราอยู่ได้มีมุมมองใหม่ๆ เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง ซึ่งชุมชนเองก็สามารถนำไปคิดพัฒนารูปแบบในพื้นที่ของตน ให้เกิดรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพใหม่ๆ และยั่งยืนในที่สุด แต่ในช่วงโควิดนี้เห็นว่าการเที่ยวทิพย์ นับเป็นอีกทางหนึ่งที่จะจุดประกายการท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ หรือนำเสนอมุมมองด้านการท่องเที่ยวในแบบที่มีคุณภาพ มาเล่าสู่กันฟังได้
และคุณกล้ายุทธ ช่างยันต์ ในฐานะที่เป็น Blogger Fanpage ลาพักเที่ยว ที่มีผู้ติดตามชมมากกว่าล้านคน แนะนำถึงวิธีการสื่อสารบนสื่อออนไลน์ว่าเป็นเรื่องสำคัญในยุคนี้ โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านรูปภาพและเรื่องเล่า ซึ่ง 4 รูปแรกในการโพสต์ของแต่ละเนื้อหาถือว่าสำคัญที่สุดเพราะคนจะเห็นก่อนเป็นไฮไลต์ของทริปส่วนใหญ่จะไม่มีสูตรสำเร็จใดๆ ขอให้ทำเพจให้คนจำได้ด้วยสูตรของตัวเอง โดยนำสิ่งที่ตนเองชอบและถนัดใส่เข้าไปก่อน และค่อยๆ เติมหรือพัฒนาสิ่งที่ตัวเองขาดลงไปภายหลัง ขอให้เดินทางด้วยความสุข จะทำให้คนจำเราให้ได้ในแบบที่เป็นเราเอง
ในกิจกรรมช่วงท้ายยังมีผู้ร่วมให้ความคิดเห็น อาทิ คุณดวงจิต ศิริมังคโลดม นักโฆษณาและผู้เขียนเพจ “ไกลหมอ” และคุณอำนาจ รักษาพล สมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชนภาคใต้ อีกทั้งผู้แทนจากพื้นที่ชุมชนท่องเที่ยวต่างๆที่ได้ร่วมพูดคุยทางระบบออนไลน์ อาทิ ชุมชนบ้านเกาะกลาง จังหวัดกระบี่, ชุมชนบ้านหนองส่าน จังหวัดสกลนคร, ชุมชนบางปะอิน จังหวัดอยุธยา, ชุมชนกุฏีจีน ฝั่งธนบุรีกรุงเทพ, ชุมชนหาดทรายขาว จังหวัดปัตตานีชุมชนบ้านคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมชนจากเกาะสมุย เป็นต้น โดยพื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยว และใช้โอกาสในช่วงสถานการณ์โควิด พัฒนารูปแบบการทำงาน พัฒนาข้อมูลต่อยอดทุนทางวิถีวัฒนธรรม เพื่อเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต หากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย
ทั้งนี้ นางสาวมาลัย มินศรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ท่านที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรม “เที่ยวทิพย์ทั่วไทย ปลอดเหล้าปลอดภัย ห่างไกลโควิด” และกิจกรรมต่างๆได้ที่เพจ Happysafetravel ร่วมกิจกรรมการแชร์คลิปและภาพ โดยติด Hashtag #เที่ยวทิพย์ทั่วไทย #ปลอดเหล้าปลอดภัยห่างไกลโควิด#HST ทำให้เที่ยวทิพย์กลายเป็น New Normal ในยุคนี้ ซึ่งจะมีการแจกของรางวัลมากมายที่เป็นผลิตภัณฑ์ของแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้แก่ผู้โชคดีที่เข้ามาร่วมกิจกรรมในทุกๆเดือน