วันพืชมงคล นับเป็น วันเกษตรกรไทย เพื่อระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรรมในเศรษฐกิจไทย จัดขึ้นเพื่อเริ่มต้นฤดูการปลูกข้าว หมายจะให้เกษตรกรมีขวัญกำลังใจ มีความเชื่อมั่นในการลงทุนเพาะปลูก ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ไม่สามารถดำเนินการจัดได้ตามปกติ ในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีปลุกเสกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน ในวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม 2564 เวลา 17.00 น. ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
โดยปกติ พี่น้องเกษตรกรจะรอคอยคำพยากรณ์จากการเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกายของพระยาแรกนาขวัญ และคำพยากรณ์ เสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งที่ตั้งเลี้ยงพระโค เพื่อจะทราบเป็นแนวทางในการเพาะปลูกในปีนั้นๆ น้ำท่า นาข้าว ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร การคมนาคม การค้าขายกับต่างประเทศ จะเป็นเช่นไร
การใช้ผ้านุ่งเสี่ยงทาย พระยาแรกนาขวัญจะตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งแต่งกาย ซึ่งเป็นผ้า 3 ผืน 3 ขนาด คือผ้าสี่คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ ผ้าห้าคืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบรูณ์ ผ้าหกคืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
คำพยากรณ์เสี่ยงทาย เมื่อพระโคแรกนา เลือกของกิน 7 สิ่ง สื่อถึงอะไร
ประกอบด้วย ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำพยากรณ์ ดังนี้
พระโคกินข้าว หรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี
พระโคกินถั่ว หรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบรูณ์ดี
พระโคกินน้ำ หรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบรูณ์ดี
พระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
ทำไมต้องเป็นพระโค เพื่อการเสี่ยงทาย
พระโคในทางศาสนาพรามหณ์ หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของพระอิศวรซึ่ง เปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง และเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแล ซึ่งเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัญแรกนาขวัญ จึงได้ กำหนดให้ใช้พระโคเพศผู้เข้าร่วมพระราชพิธีเสมอมา เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็ง และความอุดมสมบูรณ์นั่นเอง