หากใครที่เคยอ่านบทกวีของสุนทรภู่ หนึ่งในยอดนักประพันธ์กลอนระดับตำนานของสยามประเทศในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “กวีเอกของโลก” แล้ว นอกจากความเพลิดเพลินเจริญหูเจริญตาไปกับความเพราะพริ้งของบทกลอนที่มีสัมผัสนอกสัมผัสในอันแพรวพราวราวเกล็ดแก้วแล้ว ยังน่าจะได้เคยพบเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องความเจ้าชู้เสเพล และเรื่องเหล้าๆ เบียร์ๆ อยู่ในบทกวีของสุนทรภู่อยู่แบบเนืองๆ กระทั่งอาจทำให้ใครหลายคนอดคิดมิได้ว่า ตัวตนที่แท้จริงของสุนทรภู่นี้ต้องเป็นเพลย์บอยที่เจ้าชู้ ขี้หลี แถมยังเป็นนักดื่มตัวยงด้วยแน่แท้เชียว
ทว่าจากข้อมูลการวิเคระห์เจาะลึกของอาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงประวัติศาสตร์ประเทศไทยมาช้านาน พบว่าแท้ที่จริงแล้ว สุนทรภู่นั้นไม่ได้เจ้าชู้ ขี้หลี และขี้เมาอย่างที่เราๆ ท่านๆ เข้าใจมาโดยตลอดแต่อย่างใด โดย อ.สุจิตต์ยกข้อมูลที่ว่าสุนทรภู่นั้นเป็นข้าราชการฝ่ายใน เป็นที่นับหน้าถือตา เกิดในวังหลัง เป็นผู้ดีมีตระกูล ซ้ำยังเป็นคนทันโลก มีความเป็นเสรีชนอีกด้วย จึงนับเป็นผู้ที่มีการวางตัวที่ดีมากในยุคนั้นเลยทีเดียว
อ.สุจืตต์กล่าวว่า ข้อหาเรื่องเจ้าชู้ที่ใช้กับผู้คนในสมัยก่อนนั้นอาจฟังดูเกินจริงไปหน่อย ด้วยค่านิยมการมีเมียหลายคน แต่ผู้คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ละเลยคนเดิมๆ ยังดูแลเป็นอย่างดี ส่วนในกรณีของสุนทรภู่นั้น นิยามคำว่า “เจ้าชู้” ที่ใครหลายคนมอบให้ น่าจะมองถึงช่วงวัยรุ่นของสุนทรภู่มากกว่า ที่อาจจะมองๆ ผู้หญิงไว้หลายคน ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากสังคมยุคปัจจุบันที่วัยรุ่นซึ่งยังไม่ได้ลงหลักปักฐานกับใคร ก็อาจจะยังมีเวลาในการเลือกคบเพื่อดูให้แน่ใจว่าใครกันหนอที่จะมาเป็นคู่ชีวิตที่แท้จริงของเรา ดังนั้นข้อหาที่ว่าเจ้าชู้นั้นอาจจะเกินจริงไปสักหน่อย
ส่วนการที่สุนทรภู่ถูกกล่าวหาว่าขี้หลีนั้น ก็อย่างที่ได้บอกไปข้างต้นว่าสุนทรภู่เป็นคนที่ได้รับการนับหน้าถือตาอยู่มาก วันๆ จึงมีแต่ผู้หญิงเข้าหา มกกว่าการวิ่งเข้าไปหาผู้หญิง ดังนั้นข้อหาเรื่องขี้หลีจึงใช้ไม่ได้ เพราะขี้หลีนั้นคือต้องเป็นฝ่ายเข้าหาเขาแบบไม่เลือกหน้า
และข้อสุดท้าย อันนี้สำคัญสุดเพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องของเราโดยตรง นั่นคือ การถูกตราหน้าว่าเป็นคน “ขี้เมา” ของสุนทรภู่นั่นปะไรกัน สำหรับข้อนี้ อ.สุจิตต์ ได้ให้ข้อมูลแบบชัดๆ ชัวร์ๆ เพื่อแก้ข้อกล่าวหานี้ว่า แต่เดิมสมัยวัยรุ่นสุนทรภู่อาจจะเคยร่ำสุราจริง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเป็นมาทุกยุคสมัย แต่เมื่อสุนทรภู่ได้บวชเรียนแล้ว ก็รับรู้และเข้าใจถึงข้อเสียของเหล้าเบียร์ รวมถึงได้มองเห็นตัวตนในอดีตของท่านเองในยามที่เมามาย ทำให้ตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่นั้นว่าจะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับเหล้าเบียร์อีก ดังที่ปรากฎในส่วนหนึ่งของนิราศภูเขาทองว่า
ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นหน้าอาย
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ซึ่งบทกวีดังกล่าวอ้างถึงในช่วงที่สุนทรภู่ได้อุปสมบท และล่องเรือผ่านโรงเหล้าบางยี่ขัน ระหว่างเดินทางไปยังภูเขาทองที่อยุธยา และระลึกได้ถึงความไม่ดีของเหล้า “น้ำนรก” ที่ทำให้ท่านเคยเมามายเหมือนคนบ้า จึงกรวดน้ำคว่ำขันสัญญาว่าจากนี้จะไม่ดื่มเหล้าอีกต่อไปนั่นเอง ดังนั้น ความเป็นคนขี้เมาของสุนทรภู่ จึงขาดลงนับแต่บัดนั้น แถมกลอนบทนี้ยังช่วยสอนใจคนรุ่นต่อๆ มาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
Story by สนสามใบ
ขอบคุณภาพสวยๆ จาก wikipedia.org, Google และ aromklon.com นะคร๊าบ