แถลงการณ์ 1001 บุคลากรทางการแพทย์ คณาจารย์ นักวิชาการ และนักการศาสนา

แสดงความห่วงใยและเสนอแนะแนวทางเกี่ยวกับร่าง พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่

ด้วยร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ… อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระ 2 ขั้นการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการ  จากการรายงานข่าวของสื่อพบว่า ร่างฯ อาจมีเนื้อหาที่ลดทอนการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ การขยายเวลาการจำหน่าย การอนุญาตให้โฆษณา ฯลฯ บุคลากรทางการแพทย์ คณาจารย์ นักวิชาการ และนักการศาสนา ตามรายนามด้านท้าย จึงเป็นตัวแทนขอแสดงความห่วงใย และเสนอแนะความเห็นต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รวมถึงพรรคการเมืองทุกพรรค ดังนี้

1. ด้านเศรษฐศาสตร์ : เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสินค้าที่เสรีภาพในการบริโภคของบุคคล สามารถก่อให้เกิดความเสียหาย รวมถึงละเมิดต่อสิทธิบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การบาดเจ็บ/ทุพพลภาพ/เสียชีวิตจากการเมาแล้วขับ การถูกทำความรุนแรงทางร่างกาย ฯลฯ นอกจากนี้ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ก่อให้เกิด
การบาดเจ็บ และโรคไม่ติดต่อหลายชนิด ส่งผลต่อเนื่องถึงผลิตภาพของแรงงาน และงบประมาณภาครัฐด้านสาธารณสุข ทั้งหมดนี้ฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่รัฐบาลทุกประเทศต้องควบคุม เพื่อลดการบริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า มาตรการด้านภาษี การจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการห้ามการโฆษณา เป็น 3 วิธีที่มีประสิทธิผลและคุ้มค่า รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วจึงใช้ 3 มาตรการนี้ เพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคม 

2. ด้านการแพทย์ : การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมองที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้และจดจำ โดยการดื่ม
ในระดับสูง อาจทำให้พัฒนาการของสมองบกพร่องอย่างถาวร รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคและ
มีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นหนึ่งในสาเหตุการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้มีการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 3 ล้านคนต่อปี ในกรณีประเทศไทย การศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ตามที่สื่อรายงานเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 พบว่า แต่ละปีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดต้นทุนความเสียหายกว่า 1.7 แสนล้านบาท จำแนกเป็นผลกระทบต่อสุขภาพ 9.4 หมื่นล้านบาท ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน 5.3 หมื่นล้านบาท
การบาดเจ็บต่าง ๆ 1.7 หมื่นล้านบาท ทั้งหมดนี้เป็นภาระต่อครอบครัวและชุมชน ในการดูแลผู้ป่วยตลอดช่วงของการรักษาเยียวยา การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเป็นสาเหตุของการเซาะกร่อน บ่อนทำลายสุขภาพของสังคมโดยรวม

3. ด้านสังคมศาสตร์ : การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ดื่มและครอบครัว เพราะการใช้จ่ายด้านนี้ หมายถึง ค่าเสียโอกาสในการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ในสิ่งจำเป็น การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงมักส่งผลต่อเนื่องถึงปัญหาสังคมอื่น ๆ อาทิ ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาอาชญากรรม ซึ่งท้ายที่สุดต้องได้รับการแก้ไขโดยงบประมาณภาครัฐ เป็นค่าเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ เมื่อพิจารณามิติผลกระทบต่อเยาวชน การศึกษาในต่างประเทศพบว่า การดื่มในวัยรุ่นมีความเกี่ยวพันกับภาวะซึมเศร้า การขาดเรียน ผลการเรียนตกต่ำ รวมไปถึงการฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ ผลการศึกษายังชี้ว่า การที่พ่อแม่
ดื่มเหล้า ส่งผลให้ลูกมีปัญหาด้านอารมณ์ รวมถึงมีแนวโน้มติดเหล้าเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะเห็นได้ว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บั่นทอนคุณภาพ ศักยภาพ ความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

4. ด้านศาสนา : เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่ผิดหลักคำสอนของทุกศาสนา เมื่อพิจารณาศาสนาพุทธ การรักษาศีลข้อ 5 มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการดื่มสุราทำให้ขาดสติ จนเป็นเหตุให้ผิดศีลข้ออื่น ๆ อาทิ การผิดลูกผัวเมียคนอื่น การทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย การใช้วาจาหยาบคาย เหลวไหล แทะโลม รวมไปถึงการฆ่าข่มขืน เช่นเดียวกัน การดื่มสุราเป็นข้อห้ามเด็ดขาดตามวินัยแห่งศาสนาซิกข์ เพราะสุราทำให้เสียซึ่งสติ ดังวจนะของพระศาสดาองค์ที่ 3  ในขณะที่ศาสนาคริสต์ มีบทบัญญัติในคัมภีร์ไบเบิล
ความว่า “การดื่มมากเกินไปทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจและ ‘ปลิดเอาสติไปเสีย’” “พระเจ้าไม่ชอบการดื่มจัดและการเมาเหล้า” “ทำให้ยากจนและมีปัญหาสุขภาพหลายอย่าง” เป็นต้น สำหรับศาสนาอิสลาม
บรมศาสดามูฮัมหมัด ประกาศเจตนารมณ์เมื่อประมาณ 1,400 ปี ที่ผ่านมาว่า สุราเป็นสิ่งต้องห้ามเด็ดขาดตามบทบัญญัติอิสลาม เพื่อรักษาไว้ซึ่งศาสนา ชีวิต สติปัญญา เทือกเถาเหล่ากอ และทรัพย์สิน จะเห็นได้ว่า ทุกศาสนามีหลักการสำคัญพื้นฐาน ให้ประชาชนหลีกห่างจากน้ำเมา เพื่อดำรงไว้ซึ่งชีวิตที่มีคุณภาพ และทำคุณประโยชน์แก่สังคมต่อไป

ด้วยเหตุผลที่กล่าวอ้างมา จึงนำมาสู่ข้อเสนอแนะ ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และพรรคการเมืองทุกพรรค ดังนี้

เนื่องจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน สังคม และเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงควรคงมาตรการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งด้านอายุ เวลา และสถานที่ รวมถึง
มีมาตรการห้ามการโฆษณา ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก พร้อมกับเร่งปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสามารถลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคม ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งการบัญญัติกฎหมาย อนึ่ง การหวังพัฒนาเศรษฐกิจด้วยสินค้าอบายมุข เป็นแนวนโยบายสาธารณะ ที่ผู้แทนปวงชนและรัฐบาลพึงสังวร เพราะอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางความคิด รวมถึงพฤติกรรมของคนในสังคม 

จึงเรียนมาเพื่อแสดงความห่วงใย และเสนอแนะความเห็น ประกอบการตัดสินใจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี เพื่อความสงบสุขของประเทศชาติและประชาชนต่อไป

กองบรรณาธิการ SDNThailand