เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา ให้สติชาวพุทธหยุดทำลายศาสนา จัดงานบวชใช้เงินตั้งหลายแสน แถมเป็นหนี้ระยะยาว นั่นไม่ใช่พิธีปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ควรจัดงาน “บวชสร้างสุข ยึดพระธรรมวินัย ประหยัด เรียบง่าย”
เมื่อวันที่ 20-21 มีนาคม 2567 เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคมผู้แทน 9 ภาค ได้สัมมนาถอดบทเรียนการขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุข ณ วัดห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง และวัดลานแซะ อำเภอนาขยาด จังหวัดพัทลุง โดยได้มีการทบทวน ผลการดำเนินงานของแต่ละภาค และสะท้อนข้อมูลหลักการบวชในพระพุทธศาสนา, ผลการสำรวจสถานการณ์การจัดงานบวชของสังคมไทย, และการสังเคราะห์ลักษณะการจัดงานบวชของสังคมไทยในปัจจุบัน โดยสรุป ดังนี้
1) หลักการบวชในพระพุทธศาสนา : เพื่อประโยชน์เกื้อกูล (พหุชนหิตาย) เพื่อความสุขของคนจำนวนมาก (พหุชนสุขาย) และที่สุดเพื่อเกื้อการุณย์แก่โลก (โลกานุกมฺปาย) สำหรับผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา วัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และเพื่อทดแทนคุณผู้มีพระคุณ เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เป็นต้น
2) ผลการสำรวจความคิดเห็นของคนไทยตัวแทน 9 ภาค 9 จังหวัด ต่อคำถามที่ว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ในการส่งเสริมให้การจัดงานบวชที่จะช่วยลดผลกระทบปัญหา ประหยัดค่าใช้จ่าย เรียบง่าย ยึดพระธรรมวินัย เน้นให้เป็นไปตามการบรรลุวัตถุประสงค์ของการบวช ส่วนใหญ่สังคมต้องการจัดงานบวชแบบ ยึดธรรมวินัย ประหยัดค่าใช้จ่าย เรียบง่าย ลดปัญหาการทะเลาะวิวาท ความรุนแรง เน้นตามวัตถุประสงค์ของการบวชอย่างแท้จริง ซึ่งเห็นด้วยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
3) ลักษณะการจัดงานบวชของสังคมไทยในปัจจุบัน
3.1) มุ่งตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ นับจำนวนโต๊ะจีน เชิญแขกจำนวนมาก หวังเอาเงินซองคืน หน้าตาของเจ้าภาพ ต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมาก ข้อมูลพบว่า การจัดงานบวชที่ผ่านมาต้องใช้เงินจำนวนมากงานขนาดเล็ก 50,000 บาท ถึง 200,000 บาท ขนาดกลาง 200,000 ถึง 500,000 บาท ขนาดใหญ่ 500,000 ถึง มากว่า 1,000,000 บาท บางคนต้องกู้ยืมเงินมาจัดงานหวังได้เงินซองแล้วใช้คืนสุดท้ายได้เงินไม่พอต้องเป็นหนี้ระยะยาว
3.2) การจัดงานบวชปัจจุบัน เป็นการสร้างความแตกแยก รุนแรง ระหว่างชุมชน จากข้อมูลสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในงานบวชปี 2559 ถึง 2563 พบว่าความรุนแรงในงานบวชที่เป็นข่าวทางสื่อโซเซียล พบเหตุทะเลาะวิวาท 50 งานเกิดเหตุฆ่ากันตายถึง 30 ศพ บาดเจ็บมากกว่า 80 ราย
3.3) นอกจากนี้การจัดงานบวชในปัจจุบันเป็นการกระตุ้นให้เกิดการดื่มทั้งนักดื่มหน้าเก่า ใหม่ และเน้นความสนุกสนามมากเกินไปกว่าคุณค่า สาระสำคัญของการบวช ดังนั้น ทำให้เห็นวัยรุ่นดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเต้นท่าต่างๆ ทั้งนอกและดื่มในวัดซึ่งผิดกฎหมายด้วย
3.4) ค่านิยมทางสังคมในการจัดงานดังกล่าวเท่ากับการทำลายหลักการทางศาสนา และปิดกั้นการเข้าถึงศาสนา เนื่องจากผู้ที่จะบวชต้องมีความพร้อม ฐานะทางการเงิน ถ้าไม่มีต้องยืมสุดท้ายก็เป็นหนี้ ในขณะเดียวกันจากข้อมูลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาสถิติประชากรสงฆ์ลดลงเฉลี่ยปีละ 10,000 รูป เป็นต้น
ผลที่เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคม 9 ภาค ได้ร่วมผลักดันร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ และเชิญชวนเจ้าภาพที่มีความหนักแน่นศรัทธาเข้าใจในพระธรรมวินัย ระหว่างปี 2564-2566 (ก.ย.64-พ.ค.66) จัดงานบวชสร้างสุข ยึดพระธรรมวินัย ประหยัด เรียบง่าย ในลักษณะมาจัดงานที่วัด เพื่อหลีกเลี่ยงค่านิยมทางสังคม บางคนก็จัดงานที่บ้านโดยตรง ในระดับพื้นที่มากกว่า 514 งาน และมีนาคที่ผ่านกระบวนการบวชพระสร้างสุข มากกว่า 825 คน/พระ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดงานเฉลี่ยขั้นต่ำเทียบกับงานขนาดเล็กรายบุคคลเท่ากับ 825 รูป x 100,000 บาท = 82,500,000 บาท (แปดสิบสองล้านห้าแสนบาท) และระหว่างเดือน กันยายน 2566 ถึง มีนาคม 2567 มีบวชสร้างสุข จำนวน 235 รูป สามารประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดงาน 235 รูป x 100,000 บาท = 23,500,000 บาท รวมระยะเวลา ระหว่างปี 2564 ถึง เดือน มีนาคม 2567 เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคม
ได้ช่วยให้ชาวพุทธประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดงานบวชพระ 1,060 รูป/งาน x 100,000 บาท = 106,000,000 บาท (หนึ่งร้อยหกล้านบาท) สามารถประหยัดค่าเหล้าเบียร์ได้ 1,060 รูป/งาน x 20,000 บาท = 21,200,000 บาท (ยี่สิบเอ็ดล้านสองแสนบาท) ระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปีครึ่ง
พระครูสุวรรณโพธิวรธรรม (มนัส อิ่มรัตน์) ประธานมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง ผู้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า การบวชต้องนึกถึงหลักการทางศาสนา และวัตถุประสงค์ของการบวช สังคมได้สร้างค่านิยมที่ออกนอกกรอบพระธรรมวินัย การบวชเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข แต่กลายเป็นความวุ้นวาย เป็นหนี้สินในการจัดงาน ทางที่ดีควรจัดงานบวชแบบเรียบง่าย ประหยัด ส่วนงบประมาณที่จะจัดงานเป็นหมื่นเป็นแสนควรตั้งวัตถุประสงค์ใหม่ ถ้าลูกจะบวชแล้วสึกควรตั้งไว้เป็นกองทุนตั้งต้นการดำเนินชีวิตของลูกดีกว่า อย่างน้อยเงิน 4-5 แสนก็สามารถชื้อบ้านได้เป็นหลัง
พระครูภัทรธรรมคุณ ประธานเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคมภาคกลาง เจ้าคณะอำเภอพัฒนานิคม จ.ลพบุรี กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุขภาคกลาง มีความก้าวหน้าในเรื่องกระแสตอบรับเป็นอย่างดีซึ่งต้องยอมรับว่าจากข้อมูลผลสำรวจ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่โยมต้องการจัดงานบวชแบบเรียบง่าย ยึดพระธรรมวินัย และวัตถุประสงค์ของการบวชเป็นหลัก แต่ก็ต้องสู้กับค่านิยมทางสังคมที่มันฝั่งรากลึกมาต่อเนื่องซึ่งสังคมเองก็ยังไม่รู้ตัว เช่น จัดงานบวช เพื่อหน้าตา ฐานะ เจ้าภาพ เพื่อเอาคืนจากที่ตนเองได้เคยช่วยคนอื่นก่อนนั้น โดยไม่ได้เอาหลักพระธรรมวินัยเป็นตัวตั้ง และประเด็นสำคัญของภาคกลาง คือ ขาดเครือข่ายพระสงฆ์ที่มากพอในการทำให้เป็นกระแส อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นในการจะทำให้โครงการงานบวชสร้างสุขสำเร็จได้ ยังยืนยันว่า ต้องทำ
1.ค่อยเป็นค่อยไป
2. หาแนวร่วมในการขับเคลื่อน สร้างภาพ และการสื่อสารในวางกว้างให้เป็นกระแส 3.หาผู้มีส่วนร่วม เช่น พระสงฆ์ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
4. ระยะยาวทำให้เป็นรูปแบบประเพณียึดถือปฏิบัติ และ
5. มีป้ายคอยเตือนงานบวชสร้างสุข เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าภาพ
พระครูสมุห์วิเชียร คุณธัมโม ประธานเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาภาคเหนือบน “การขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุขภาคเหนือล้านนา เราเริ่มจากการพัฒนากลไกและกระบวนการดูแลเอาใจใส่ผู้ที่จะเข้ามาบวชทั้งก่อน ระหว่างที่ยังบวชอยู่ และหลังบวชให้ครบวงจร คู่ขนานกันไป เพื่อให้เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีในทุกสภาวะ ให้มีคุณภาพช่วยจรรโลงพระพุทธศาสนาสืบไป โดยมีเป้าหมาย คือ “บวชอย่างมีสุขภาวะ อยู่เป็นสมณะอย่างทรงคุณค่า แม้ลาสิกขาก็ยังมีศรัทธาที่ตั้งมั่น”
“อย่าให้ลูกหลานเรา ทั้งเมาทั้งบวช”
พระครูโพธิวีรคุณ เจ้าคณะอำเภอปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ผู้ประสานเครือข่ายภาคอีสานบน “การสร้างเครือข่ายงานบวชสร้างสุข” หมายถึง การรวมกลุ่มของพุทธศาสนิกชน, พระสงฆ์, และผู้ที่มีจิตศรัทธาที่ต้องการส่งเสริมและรักษาความเรียบง่ายและความสงบของพิธีการบวช โดยมีเป้าหมายให้งานบวชเป็นไปในแบบที่เน้นคุณค่าทางจิตวิญญาณและการสืบทอดพระพุทธศาสนามากกว่าการเน้นความบันเทิงหรือการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย “อย่าให้ลูกหลานเรา ทั้งเมาทั้งบวช” แสดงถึงความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการจัดงานที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหรือปัญหาสังคมอื่นๆ
“งานบวชสร้างสุข ปลอดอบายมุข เป็นสุขตลอดชีวิต” คือ การส่งเสริมให้งานบวชเป็นพิธีที่มีความหมาย, สร้างความสุขและสันติภาพในชีวิต, และปลอดจากสิ่งที่เป็นอบายมุขหรือสิ่งไม่ดีการสร้างเครือข่ายและการขยายผลในลักษณะนี้จะช่วยให้งานบวชเป็นไปในแนวทางที่สร้างสรรค์และมีคุณค่าทางจิตวิญญาณ พร้อมทั้งส่งเสริมให้สังคมไทยมีความเข้มแข็งและยั่งยืน
พระสันต์ทัศน์ สินสมบัติ ดร.นักวิชาการเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคมภาคเหนือตอนล่าง กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมากระผมได้ลงพื้นที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสถานการณ์จัดงานบวชในพื้นที่วัดที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 8 จังหวัด พบว่าความเชื่อของชุมชนในมิติที่ว่า หมดเงินเยอะก็ไม่เป็นไรขอให้ได้พระ 1 รูปได้เห็นชายผ้าเหลืองของลูก ค่าเหล้าเบียร์แทบจะครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายตลอดงาน และมีความเชื่อว่าต้องมีมหรสพ ดนตรีมาฉลองถึงจะรู้สึกว่าเป็นงานบวช ส่วนคนที่มีเงินไม่เยอะก็ต้องยืมเซ็นร้านเหล้าไว้ก่อนเสร็จงานแล้วค่อยจ่าย กรณีงานบวชหนึ่งมีเงินอยู่ 1 แสนบาทแต่ส่วนที่จะใช้ทั้งงานประมาณ 4 แสนบาทเมื่อเสร็จงานแล้วแกะซองได้เงิน 1 แสนรวมเป็น 2 แสนที่เหลือเป็นหนี้ 2 แสนสึกมาหลายปีแล้วยังใช้หนี้ไม่หมด เป็นเรื่องที่หดหู่มาก ดังนั้น ภาคเหนือล่างจึงเสนอทางเลือกว่า จัดงานบวชอาหารบุฟเฟต์ ดนตรีท้องถิ่น แห่นาครำไทย หรือรำแบบท้องถิ่น โดยยึดพระธรรมวินัยเป็นหลัก
พระมหาบวร ปวรธมฺโม เลขาเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าอาวาสวัดบุญนารอบ ผู้ประสานเครือข่ายพระสงฆ์ภาคใต้ตอนบน กล่าวว่า เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา ต้องทำงานบวชสร้างสุขอย่างเข้มข้น เพราะพระเราต้องเป็นผู้นำญาติโยมในทางที่ถูกต้อง สามารถบอกโยมได้ว่าอันไหนถูกอันไหนผิด ต้องยืนยันให้โยมได้ ให้เป็น“งานบวชวิถีใหม่ เรียบง่าย เหมาะสม ประหยัดสุด ประโยชน์สูง ปลอดภัยจากอุบัติเหตุต่างๆ” พิธีกรรม หรือประเพณีทางศาสนาต้องไม่สร้างความเดือดร้อน ซ้ำเติมชีวิตโยม ต้องเป็นบวชสร้างสุขให้ได้
พระอธิการโสภณ ปิยธมฺโม,ดร. เจ้าอาวาสวัดโพนขวาว จังหวัดอำนาจเจริญ ประธานโครงการบวชสร้างสุขภาคอีสานตอนล่าง “ปัจจุบันชุมชน สังคม มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก แม้แต่การจัดงานบวชกุลบุตรในพระพุทธศาสนาก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก การจัดงานบวชในแต่ละครั้งต้องใช้เงินในการจัดงานบวชค้อนข้างสูงบางงานบางเจ้าภาพเสียค่าใช้จ่ายในการจัดงานบวชเป็นเงินหลายแสนบาท โครงการบวชสร้างสุข ที่มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม (สฆส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาทั่วประเทศ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนนับได้ว่าเป็นโครงการที่ดี มีประโยชน์ทำให้ชุมชนเกิดสุขภาวะที่ดี ทำให้เจ้าภาพงานบวชมีความรู้ความเข้าใจในการจัดงานบวชแบบประหยัดเรียบง่าย ลดค่าใช้จ่าย และถูกต้องตามพระธรรมวินัย มาร่วมกันขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุขให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อสุขภาวะที่ดีของชุมชน และสังคม สืบไป”
ด้านพระครูอุดมสุวรรณสถิต เจ้าคณะอำเภอเขาชัยสน เจ้าอาวาสวัดสุวรรณประดิษฐาราม จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า การบวชสร้างสุขคือการบวชเเบบประหยัด และไม่วุ่นวาย ไม่มีอบายมุขมาเกี่ยวข้องนั้นเองง่ายๆ และพระสงฆ์ต้องให้ความสำคัญว่า งานของพระสงฆ์ คือความมั่นคงของพระศาสนา หลักการที่ “ระเบียบ ประหยัด ปฏิบัติ ขจัดภัย รักธรรมและวินัย ใส่ใจบวชสร้างสุขเป็นหลัก” ผมได้มอบถวายป้ายให้พระในเขตอำเภอเขาชัยสนติดประกา
ก่อนสงกรานต์ประจำปี 2567 นี้ คาดว่า จะมีการจัดงานบวชเป็นจำนวนมาก เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคมที่เข้าร่วมโครงการบวชสร้างสุขมากกว่า 140 วัดส่งเสริมบวชสร้างสุขทั่วประเทศ มูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขอเชิญชวนชาวพุทธจัดงานบวชแบบ “บวชสร้างสุข ยึดพระธรรมวินัย ประหยัด เรียบง่าย” ดังนี้
1.บวชสร้างสุข คือ การจัดงานแบบเรียบง่าย ไม่จัดใหญ่ ไม่มีหรสพ ไม่มีรถแห่ หรือถ้าจำเป็นต้องมีขบวนแห่ก็เป็นดนตรีพื้นบ้าน ไม่มีกระบวนการส่งเสริม/กระตุ้นให้เกิดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นความเสี่ยง
2.เริ่มต้นเจากผู้ที่มีศรัทธาหนักแน่นในพระพุทธศาสนา จัดงาน “บวชสร้างสุข” เพื่อเป็นต้นแบบแก่ลูกหลานชาวพุทธสืบไป
3.พระสงฆ์ ควรสร้างความมั่นใจให้ญาติโยมด้วยความเมตตา ประโยชน์สูงสุดคือผู้บวชและเจ้าภาพ ให้ได้รับอานิสงส์การบวชอย่างเต็มที่ ได้บุญเต็ม 100 ด้วยการเทศนา เชิญชวน ชี้ประโยชน์ ยกย่องเจ้าภาพ มีกติกาวัด อาจเกื้อกูลให้บริขารที่มีเยอะอยู่แล้วในวัด เช่น บาตร จีวร เป็นต้น
4.การจัดงานบวชสร้างสุข เป็นการไม่ซ้ำเติมความทุกข์ให้ชาวพุทธ ไม่ปิดกั้นการเข้าถึงศาสนา เชิญชวนมีความพร้อมเมื่อไหร่ก็สามารถเข้าไปขอบวชได้ เท่ากับเป็นการรักษาพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงสืบไป
เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคม
ชัยณรงค์ คำแดง
ดิษณุลักษณ์ ไพฑูรย์