สคล. เปิดบ้านต้อนรับคณะดูงานจาก Berendina Development Services ประเทศศรีลังกา

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ให้การต้อนรับคณะดูงานจาก Berendina Development Services ประเทศศรีลังกา

ระหว่างวันที่ 22 – 28 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ได้ต้อนรับคณะศึกษาจาก Berendina Development Services (BDS) จำนวน 5 ท่าน โดย Berendina Development Services (BDS) เป็นองค์กรภาคประชาสังคมของประเทศศรีลังกา ก่อตั้งแต่ปี 2525 เพื่อทำงานเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้แก่กลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะในชนบทและเกษตรกรในศรีลังกา การมาศึกษาดูงานที่ สคล. มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรระดับผู้ประสานให้มีมุมมองในเรื่องบทบาทและหน้าที่ของภาคประชาสังคม รวมถึงมุมมองด้านการทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนและเยาวชน โดยเฉพาะในเรื่องอาหารกลางวันสำหรับเด็ก การแก้ไขปัญหาความยากจน การส่งเสริมคุณภาพชีวิตในทุกมิติ และการจัดการสิ่งแวดล้อม

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้จัดให้คณะศึกษาดูงานไปเรียนรู้ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น

– คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยศึกษาดูงานเรื่องบทบาทภาคประชาชนในการผลักดันนโยบายสาธารณะ

– ชุมชนลาดพร้าว 45 ศึกษาดูงานเรื่องการส่งเสริมคุณภาพชีวิตในสังคม โดยมุ่งเน้นเรื่องการสร้างอาชีพ (เช่น โครงการการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การปลูกต้นกระบองเพชร กลุ่มแปลรูปอาหาร กลุ่มเครื่องจักสาน เป็นต้น) การส่งเสริมที่พักอาศัย การจัดการขยะ

– การเรียนรู้บทบาทหน้าที่ของภาคประชาสังคม และการส่งเสริมให้เด็กและประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาด้านสังคม โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ นายชัยณรงค์ คำแดง รองผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และทีมงานของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า

นอกจากนี้ “คณะศึกษาดูงานได้เดินทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงานภาคสนามที่จังหวัดราชบุรี”     

– การเรียนรู้ “การบริโภคผัก ผลไม้ อาหารที่ถูกหลักโภชนาการ  ส่งผลต่อพัฒนาการทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม” ณ โรงเรียนบ้านเนินม่วง (ประชาบำรุง) อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โดยนายวันเฉลิม ไพรศิลป์ ผอ.โรงเรียนบ้านเนินม่วง, นายศุภกร วิแสง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ราชบุรี เขต 2,  นางพัณณ์ชิตา  กนกพงษ์เสถียร รอง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ราชบุรี เขต 2,  น.ส.สุธีรา  ศิริพิรุณ ศึกษานิเทศก์, และคณะครูโรงเรียนบ้านเนินม่วง(ประชาบำรุง) ให้การต้อนรับ

โรงเรียนบ้านเนินม่วง (ประชาบำรุง) ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาจากการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ เกิดปัญหาภาวะโภชนาการที่จะมีผลกระทบต่อพัฒนาการทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของนักเรียน  ทั้งนี้คณะศึกษาดูงานจากประเทศศรีลังกาได้เรียนรู้เรื่อง โภชนาการและการจัดอาหารกลางวันสำหรับเด็ก โดยเฉพาะการบริหารจัดการด้านการส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้ในโรงเรียนให้เป็นไปตามตารางอาหาร โปรแกรม Thai School Lunch ผสมผสานตามบริบทของชุมชนด้วย แบบเศรษฐกิจพอเพียง และส่งเสริมการปลูกผักออร์แกนิกแบบปลอดสารเคมี โดยให้นักเรียนได้ลงมือทำเอง ปลูกเอง ขายเอง และบริโภคเอง  นอกจากนี้โรงเรียนได้จัดกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพเด็กนักเรียน ทุกวันพุธช่วงเช้า นักเรียนทุกระดับชั้นมีการมารวมตัวกันเพื่อ เต้นแอโรบิกหรือเต้นบาสโลบ และออกกำลังกายตามที่ตนเองถนัด และทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการของนักเรียน เพื่อให้เด็กได้มีพัฒนาการทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของนักเรียนดีขึ้น    

– การเรียนรู้อำเภอปากท่อ และอำเภอบ้านคา ประเด็น “การส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน และการขับเคลื่อนวาระของชุมชนกับวัฒนธรรมและการจัดการสิ่งแวดล้อม” อำเภอปากท่อเป็นอำเภอต้นแบบ ปลอดปัจจัยเสี่ยง พัฒนาสร้างอาชีพ ภายใต้ โครงการ “สังคมข้าวเต็มบาตร” ป้องกันชุมชนจากเหล้า ยาสูบ สารเสพติด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดปัจจัยเสี่ยง พัฒนาสร้างอาชีพ บำบัดทุกข์บำรุงสุข ลดปัจจัยเสี่ยง และการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเรียนรู้จากฐานชุมชนที่สำคัญ ดังนี้  

ฐานเรียนรู้ที่หนึ่ง วัดเขาพระพุทธบาท ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เป็นศูนย์การเรียนรู้ “วิถีปากท่อ วิถีพอเพียง สุขที่ยั่งยืน” โดยมี 3 โครงการย่อยได้แก่ (1) ชันโรงเปลี่ยนคน ดิน  น้ำ ป่า (2) ขยะ สร้างชีวิต และ (3) สังคมข้าวเต็มบาตร ซึ่งเป็นโครงการที่นายอำเภอดำเนินงานร่วมกับวัดและผู้นำชุมชน นอกจากนี้คณะศึกษาดูงานได้เรียนรู้เรื่องการจัดการน้ำโดยเฉพาะโครงการธนาคารน้ำซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง รวมถึงโครงการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรด้วยการเพาะเลี้ยงผึ้งชันโรง ซึ่งช่วยสร้างรายได้และปรับพฤติกรรมของเกษตรกรให้เลิกใช้สารเคมีในการเกษตรเพราะผึ้งชันโรงมีความอ่อนไหวต่อสารเคมี หรือถ้ามีการใช้สารเคมีในบริเวณใกล้เคียงจะทำให้ผึ้งชันณรงค์ตาย 

ฐานเรียนรู้ที่สอง ชุมชนบ้านเขาดิน ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นหมู่บ้านเข้มแข็งด้านเอาชนะปัญหายาเสพติด ทั้งนี้นายยุทธนา นวมนิ่ว ผู้ใหญ่บ้านให้การต้อนรับ คณะศึกษาดูงานได้เรียนรู้บทบาทของชุมชนในแก้ปัญหาความยากจนและส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด การส่งเสริมอาชีพของกลุ่มเปราะบาง และการจัดสวัสดิการชุมชน เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้แก่กลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะเกษตรกรในชนบท เช่น กลุ่มเลี้ยงโคขุน ปลูกมันญี่ปุ่น ร้านค้าชุมชน โรงสีข้าวชุมชน สวัสดิการเงินกู้เพื่อประกอบอาชีพ นอกจากนี้นายนิคม แสงจันทร์  ผอ.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเขาดิน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ได้นำเสนอการขับเคลื่อนการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชนบำบัด (Community Based Treatment and Care:CBTx ) และการส่งเสริมอาชีพ การฝึกอาชีพด้านการเกษตรให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการบำบัดยาเสพติดของอำเภอปากท่อ เป็นต้น

ฐานเรียนรู้ที่สาม  ไร่หมื่นไม้ ตำบลอ่างหิน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี โดยนายประเทือง หมื่นชำนาญ กำนันตำบลอ่างหินได้ให้ความรู้และให้คำแนะนำในการเลี้ยงชันโรง  รวมถึงได้เล่าประสบการณ์การทำรังชันโรง การแยกรังชันโรง และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้ศึกษาดูงานอย่างสนุกสนานและคึกคัก โดยผู้ศึกษาดูงานได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ผู้ร่วมดูงานได้กล่าวว่าสามารถนำความรู้ไปต่อยอดเพื่อส่งเสริมอาชีพได้ โดยศรีลังกายังไม่มีการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงผึ้งเพื่อเป็นรายได้เสริมของเกษตรกร ผู้ศึกษาดูงานยังประทับในที่ได้ลองชิมน้ำผึ้งชันโรงจากรังแบบสดๆ ก่อนเดินทางกลับได้อุดหนุนของฝากจากกลุ่มเพาะเลี้ยงชันโรง 

ฐานการเรียนรู้ที่สี่ การเรียนรู้สังคมข้าวเต็มบาตร ณ วัดป่าโป่งกระทิงบน อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี โดยนายอำเภอปากท่อ ร่วมกับ นายอำเภอบ้านคา กำนันตำบลบ้านบึง ให้การต้อนรับ โดยการศึกษาดูงานเริ่มตั้งแต่ตีห้า ด้วยการสวดมนต์นั่งสมาธิ การเดินตามพระบิณฑบาตร่วมกับนายอำเภอ กำนันและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ คณะภิกษุยังได้มอบอาหารเพื่อนำไปให้แก่กลุ่มเปราะบางในพื้นที่ กิจกรรมนี้ทำให้ผู้ศึกษาดูงานได้เรียนรู้วิธีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายอำเภอ ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน รวมถึงทำให้ภาครัฐเข้าใจเศรษฐกิจและความทุกข์ของคนในชุมชน

ฐานการเรียนรู้ที่ห้า  ตลาดน้าเอ๊ อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นตลาดวิถีชุมชน โดยยกระดับจากชุมชนคนสู้เหล้าแล้วร่วมกันพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน ตลาดน้าเอ๊เป็นตลาดที่ส่งเสริมให้ชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะกะเหรี่ยงได้มีตลาดในการจำหน่ายสินค้าชุมชนและเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ในตลาดมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ และมีการส่งเสริมให้อาชีพให้แก่กลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะการทำไม้กวาดซึ่งทางศรีลังกามีวัตถุดิบในการทำไม้กวาดแต่ยังไม่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน

การจัดเตรียมความพร้อมสถานที่ศึกษาดูงานในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อาทิเช่น น.ส.ณนุต มธุรพจน์ และ น.ส.ขนิษฐา แซ่เอี้ยวจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, นายสุทธิพงษ์ พุทธจันทรา นายอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี, นายสิทธิศักดิ์  คำนุ สสอ.ปากท่อ, นายนิคม แสงจันทร์  ผอ.รพ.สต.บ้านเขาดิน, นายยุทธนา น่วมนิ่ม ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 บ้านเขาดิน, นายประเทือง  หมื่นชำนาญ กำนันตำบลอ่างหิน, กำนันนัฐยุทธ ร่มโพรีย์ กำนันตำบลบ้านบึง, นายชูศิลป์ ชีช่วง ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 บ้านโป่งกระทิงบน, ผอ.วันเฉลิม ไพรศิลป์ โรงเรียนบ้านเนินม่วง (ประชาบำรุง), นายศุภกร วิแสง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ราชบุรี เขต 2,  นางพัณณ์ชิตา  กนกพงษ์เสถียร รอง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ราชบุรี เขต 2 , น.ส.สุธีรา  ศิริพิรุณ ศึกษานิเทศก์อำเภอโพธาราม และภาคีเครือข่าย รวมถึงประชาชนในชุมชนร่วมต้อนรับ กว่า 200 คน 

ทั้งนี้คณะศึกษาดูงานได้กล่าวถึงความประทับใจอาทิเช่น ประหลาดใจมากที่การไปดูงานแต่ละที่มีคนมาให้การต้อนรับจำนวนมาก และประทับใจที่ภาคประชาสังคมของไทยมีความใกล้ชิดและได้รับการสนับสนุนที่ดีจากภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนไทยในประเด็นเรื่อง Berendina Development Services (BDS) ซึ่งได้รับการสรับสนุนงบประมาณจากประเทศเนเธอร์แลนด์แต่ก็มีแหล่งรายได้ของตัวเอง ด้วยให้กลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคารได้กู้ยืมเงิน และนำรายได้กลับไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเช่น การส่งเสริมอาชีพ โดยการให้เงินกู้ส่วนใหญ่จะเป็นไปเพื่อประกอบอาชีพ ทำให้มีการฝึกอาชีพให้กับผู้ที่กู้ยืมเงินด้วย โดยจากนี้ยังฝึกอาชีพให้แก่นักเรียนที่จบ ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ โดยการฝึกทักษะช่างต่างๆ เช่น ช่างไฟ ช่างก่อสร้าง ช่างตัดผม ฯลฯ ผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับใบประกาศนียบัตรเพื่อทำงานในองค์กรต่างๆ ซึ่งร่วมถึงการทำงานในต่างประเทศ นอกจากนี้ได้มีการสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อให้ผู้ผ่านการอบรมสามารถเป็น startup ได้

นางสาวอุบลวรรณ คงสว่าง ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายงดเหล้าภาคตะวันตก สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยการสนับสนุนจาก สสส. กล่าวว่า การให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงานในครั้งนี้ทำให้ในพื้นที่มีการตื่นตัวมาก มีการทบทวนการทำงานและสรุปเนื้อหาที่จะนำเสนอ และทำให้เครือข่ายการทำงานในพื้นที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น

ขณะที่ Mr.Janitha Chamara Sandaruwan Tikiribandage ตำแหน่ง Youth Development Coordinator จาก Berendina Development Services (BDS) ประเทศศรีลังกา กล่าวว่า ตนเองรู้สึกประทับใจมาก ไม่คิดว่าจะได้รับการต้อนรับที่ดีมาก คนไทยใจดี นอกจากนี้ประทับใจที่หน่วยงานภาครัฐของไทยให้การสนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคม สิ่งที่ได้เรียนรู้และจะนำไปเล่าเพื่ออยากให้มีการดำเนินงานเช่น การส่งเสริมอาชีพด้วยการเลี้ยงผึ้งชันณรงค์และการทำไม้กวาด ทั้งนี้รู้สึกประทับใจประเทศไทยและมีแผนจะนำครอบครัวมาเที่ยวประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

Mr. Janitha Chamara Sandaruwan Tikiribandage, Youth Development Coordinator from Berendina Development Services (BDS), Sri Lanka, said that he was very impressed. He did not expect that many people greeting and sharing with BDS.  He feels that Thai people are kind. Moreover, He am impressed that Thai government agencies are close and support the civil society sector. He will share the good experience from this exposure to his team in order to apply to promoting careers such as Chanarong beekeeping and broom making. He is impressed with Thailand and plans to visit Thailand with his family in February next year.

กองบรรณาธิการ SDN Thailand