วันที่ 28 ต.ค. 2566 ที่สะพานข้ามแม่น้ำน่าน (ท่าน้ำบ้านป่ากล้วย) อ.เวียงสา จ.น่าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดประเพณีแข่งเรือออกพรรษา ตานก๋วยสลากวัดบุญยืน พระอารามหลวง ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2566 ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเรื่องเศรษฐกิจสุขภาพ โดยจะผลักดันเมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน คนอายุยืน โดยจัดทำ Blue Zone ซึ่งจะมีการผลักดันการดำเนินงานที่ จ.น่าน หรือที่เรียกว่า “น่านโมเดล” เพราะมีความพร้อมในทุกด้านที่จะขับเคลื่อนมิติการดูแลสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจไปพร้อมกัน และมีต้นทุนด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญมีเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลาย เช่น เครือข่ายประชาสังคมงดเหล้า เครือข่ายคนน่านจัดการตนเอง เครือข่ายมูลนิธิฮักเมืองน่าน เครือข่ายป่าชุมชน สภาเด็กและเยาวชนจัง เครือข่ายชาติพันธ์ สภาองค์กรชุมชนตำบล ชมรมเรือแข่ง และเครือข่ายด้านการศึกษา เพื่อพัฒนาประชากรทุกช่วงวัยให้มีสุขภาวะที่ดี มีความรอบรู้ด้านสุขภาวะ สามารถดูแลสุขภาพ มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์และคุณภาพชีวิตที่ดี ตามแผนพัฒนาจังหวัดน่าน
“การมีสุขภาพหรือสุขภาวะที่ดีต้องดีทั้ง 4 มิติ สุขภ าพกาย สุขภาพจิต ปัญญา และมิติเชิงสังคม ซึ่งงานประเพณีแข่งเรือยาวถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเชิงสังคมที่กำหนดสุขภาพ อย่างสมัยอดีตการจัดงานจะมีเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดเหตุการณ์ทั้งเรื่องของการเมา การทะเลาะวิวาท หรืออุบัติเหตุ ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพตามมา แต่จากการดำเนินงานของ สสส. และภาคีเครือข่ายทำให้เกิดงานบุญประเพณีปลอดเหล้าขึ้น โดยเฉพาะงานประเพณีแข่งเรือปลอดเหล้าในครั้งนี้ ถือเป็นวัฒนธรรมใหม่ในพื้นที่ที่ควรอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจภายในพื้นที่ โดยไม่ต้องมีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สนับสนุนการรณรงค์รณรงค์ให้จัดแข่งเรือยาวประเพณีปลอดเหล้า ปลอดเบียร์ มาต่อเนื่อง 15 ปี โดยสร้างความตระหนักคุณค่าของงานประเพณีวัฒนธรรมที่มีความปลอดภัย หนุนให้เกิดบรรทัดฐานทางสังคม วิถีชุมชน จารีตประเพณี และการบัญญัติกฎหมาย พร้อมสนับสนุนเยาวชนให้เข้ามามีบทบาทร่วมรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยง ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดีจากผู้จัดงานทั่วประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวมีความปลอดภัยจากผลกระทบที่เกิดจากคนมึนเมา ทั้งอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาทลดลง โดยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว งานแข่งเรือที่น่าน เกิดอุบัติเหตุ 100 กว่าครั้ง ปัจจุบันเหลือเพียง 10 กว่าครั้ง ลดการเสียชีวิต บาดเจ็บ รวมถึงสูญเสียทรัพย์สินได้อย่างมหาศาล ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการขยายผลส่งเสริมนักพากย์เรือเยาวชนรุ่นใหม่ทุกภูมิภาค และจัดเวทีประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข สอดแทรกการปลูกฝังค่านิยมที่ดีปลอดเหล้า บุหรี่ และอบายมุข และเป็นการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่