เยาวชนสุราษฎร์ฯ รวมตัว ยื่นข้อเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา “สะพานศรีสุราษฎร์”

เยาวชนสุราษฎร์ฯ และภาคประชาสังคมรวมตัวจัดกิจกรรมไว้อาลัยการฆ่าตัวตายบนสะพานศรีสุราษฎร์ หลังพบมีความเสี่ยงที่ประชาชนจะใช้สะพานฆ่าตัวตัวตายมากขึ้น   เศร้าปีที่ผ่านมาในจังหวัดมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จแล้ว 15 ราย  สุรา-ยาเสพติด เป็นปัจจัยกระตุ้น เกิดอารมณ์ชั่ววูบ ขาดสติ ซึมเศร้า โรคจิตเวช  รวมทั้งปัญหาหนี้สินและปัญหาความสัมพันธ์  พร้อมยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานในพื้นที่เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา

      วันที่ 20 สิงหาคม 2566 ที่บริเวณใต้สะพานศรีสุราษฎร์ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี นักศึกษาจากโครงการค่ายอาสาพัฒนาและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมสานสัมพันธ์ชุมชนท้องถิ่น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี  นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี  มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนบน กลุ่มประมงพื้นที่บ้านเพื่อการอนุรักษ์บึงขุนทะเล ชุมชนสันติพัฒนา เครือข่ายเยาวชน South Youth Ranger และเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) กว่า 100 คน ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ "เราจะข้ามผ่านสะพานศรีสุราษฎร์ เพื่อเดินทางก้าวข้ามปัญหา” หลังพบข้อมูลความเสี่ยงมีผู้ใช้สะพานนี้กระโดดน้ำฆ่าตัวตายมากขึ้น  ภายในงานมีการแสดงกิจกรรมละครเชิงสัญลักษณ์ กิจกรรมไว้อาลัยต่อผู้จากไป ตัวแทนเยาวชนอ่านแถลงการณ์ และยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ของจังหวัด โดยมีประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมอาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) เขตพื้นที่ 11 ตำรวจน้ำ อาสากู้ภัย ผู้นำท้องถิ่น   
นายองอาจ พรหมมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนบน กล่าวว่า ทั่วโลกมีคนมากกว่า 7 แสนคนฆ่าตัวตายสำเร็จ โดยเฉลี่ยมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ในทุก 40 วินาทีสำหรับประเทศไทยอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 - 2563 สูงขึ้นทุกปีโดยตัวเลขล่าสุด ประเทศไทยมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 4,800 คนต่อปี ด้านข้อมูลจากคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางจิตเวช โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี พบว่าในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 2 สิงหาคม 2566 ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีพบผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 15 ราย คิดเป็นอัตรา 7.90 ต่อประชากรแสนคน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ จำนวนมากถึง 71 ราย โดยมีสาเหตุสำคัญจากโรคซึมเศร้าร้อยละ 30 โรคจิตเวชร้อยละ 10  และส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบขาดสติหุนหันพลันแล่น โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน ที่มีการใช้สารเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วม 
    “จากการติดตามวิเคราะห์ข้อมูลและสังเกตการฆ่าตัวตายในคนไทยพบว่า การฆ่าตัวตายในบุคคลแต่ละครั้ง จะเกิดขึ้นเมื่อมีครบ 5 เงื่อนไขสําคัญ ได้แก่ 1.บุคคลนั้นต้องมีปัจจัยเสี่ยงที่โน้มนําให้ฆ่าตัวตายได้มากกว่าคนทั่วไป ประกอบด้วย การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ป่วยด้วยโรคจิตเวช ใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เคยมีประวัติทำร้ายตัวเองและติดสารเสพติด 2.มีสิ่งกระตุ้นหรือปัจจัยกระตุ้นให้คิดและกระทําการฆ่าตัวตาย เช่น  ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และปัญหาเศรษฐกิจ 3.เข้าถึงวัสดุอุปกรณ์และสถานที่ที่ใช้ฆ่าตัวตายได้ง่ายหรือด่านกั้นล้มเหลว 4.การเฝ้าระวังป้องกันล้มเหลว และ 5.บุคคลนั้นมีปัจจัยปกป้องที่อ่อนแอ  ดังนั้นการป้องกันหรือทำให้การเข้าถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งเรื่องเหล้า ยาเสพติดซึ่งเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญของปัญหานี้  การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน  รวมไปถึงการป้องกันในเชิงกายภาพเช่นแผงกั้น  มีกล้องวงจรปิด  การมีส่วนร่วมเฝ้าระวังจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ”
 ด้านนางสาวขนิษฐา จินุพงศ์ แกนนำกลุ่มลานเยาวชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี กล่าวว่าสะพานศรีสุราษฎร์เป็นพื้นที่เสี่ยงเชิงสัญลักษณ์ในการใช้หนีปัญหา จนมีกระแสข่าวอย่างต่อเนื่อง การสร้างกระแสเพื่อเปลี่ยนมุมมองสะพานศรีสุราษฎร์ในการก้าวข้ามปัญหาและใช้เดินทางสัญจร ข้ามผ่านแม่น้ำตาปี ดั่งปณิธานเดิมของสะพานที่สูงและสวยที่สุดในภาคใต้  จึงเป็นเรื่องสำคัญ  ในวันนี้เราจึงมีข้อเสนอต่อทางผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
     “พวกเรากลุ่มเยาวชน นักศึกษา ประชาชาชนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และภาคีเครือข่าย ทราบดีว่าสภาพปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ รวมถึงปัญหาภายในครอบครัว  การเป็นผู้ติดสุราและยาเสพติดนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้า เป็นผู้ป่วยจิตเวช  สร้างผลกระทบสร้างความทุกข์ใจให้ทุกคนไม่น้อยไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่  ในกลุ่มเยาวชนนักเรียนนักศึกษาก็มีปัญหาทางสุขภาพจิตด้วยเช่นเดียวกัน   เราไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียกับใครอีก  สะพานแห่งนี้ต้องไม่ใช่ที่จบชีวิตของผู้ที่ทนทุกข์  ในวันนี้เราจึงไว้อาลัยต่อการจากไปของทุกชีวิตที่ต้องเสียไป ณ ที่แห่งนี้ และมีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปดังนี้ คือ 1.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงสร้างแผงกันบนขอบสะพาน  ติดตั้งกล้องวงจรปิด และตั้งจุดเฝ้าระวัง พร้อมให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจการตลอดเวลา 2.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อำเภอ ให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตของผู้คนโดยเพิ่มศูนย์บริการสำหรับดูแลสุขภาพจิตอย่างทั่วถึง ให้มีระบบการคัดกรองความเสี่ยง และส่งต่อหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และ 3.ขอให้ทุกคนในสังคมเป็นพลังบวกซึ่งกันและกัน และร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะทางจิตใจที่ดี  มีส่วนรว่มในการเฝ้าระวังเป็นหูเป็นตาแจ้งเหตุ” 

Sunset.