วันที่ 19 กรกฎาคม ประชาคมงดเหล้าจังหวัดศรีสะเกษ จัดประชุมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ณ ห้องประชุมโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ โดยเชื่อมเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านเด็กและเยาวชนร่วมออกแบบแนวคิด แนวทางการทำงาน ได้แก่ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ / สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาทั้ง 4 เขต /สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 33 /บ้านพักเด็กและเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ ศูนย์สงเคราะห์และฝึกอาชีพเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ / เทศบาลเมืองศรีสะเกษ / โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ / ศูนย์พัฒนานโยบายสาธารณะ / สภาเด็กและเยาวชนจังหัดศรีสะเกษ และ หน่วยจัดการเด็กแลเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ-ยโสธร
การขับเคลื่อนงานครั้งนี้ ได้พัฒนาแนวคิดการทำงานจาก การลดพื้นที่เสี่ยง เพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ จากการสนับสนุนของผู้ใหญ่ โดยวิเคราะห์สถานการณ์ ผลกระทบที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปัจจัยเสี่ยงและการวิเคราะห์ต้นทุนการทำงานด้านเด็ก เยาวชนของจังหวัดศรีสะเกษ โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่า สถานการณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้านเด็กและเยาวชน จังหวัดศรีสะเกษพบเห็นการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 17.4 มีความชุกของการดื่มในช่วงวัย 15-19 ปี ร้อยละ 7.3 และในพื้นที่จังหวัดยังพบว่า กลุ่มเด็กเยาวชนมีความเสี่ยงต่อการเข้าสู่วงจรการดื่มได้ง่าย เช่น การเข้าถึงสื่อโฆษณาชวนเชื่อ การมีงานเทศกาล บุญประเพณีต่าง ๆ ที่เป็นโอกาสของการดื่มมากมาย และยังมีต้นทุนการทำงานด้านเด็ก เยาวชนเพื่อป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา และกลุ่มเด็กเยาวชนที่รวมตัวทำกิจกรรมทั้งระดับจังหวัดและในชุมชน
กระบวนการขับเคลื่อนงานป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ได้ออกแบบการเชื่อมร้อยการพัฒนาเด็ก เยาวชน 4 ระดับให้สามารถสร้างความตระหนักรู้ถึงโทษ พิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถปฏิเสธการดื่ม ชวนเพื่อปฏิเสธ และพัฒนาตนเองเป็นเยาวชนแบบอย่าง (Idol) โดยเน้นการทำงานเชิงพื้นที่ในระดับชุมชน และเชื่อมเป็นเครือข่ายระดับจังหวัด ซึ่งในระดับชุมชนนั้น คณะทำงานได้ร่วมกันออกแบบให้มีแผนการพัฒนาเด็กและเยาวชนตั้งแต่ระดับปฐมวัย เน้นการรับรู้ถึงโทษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านการจัดกระบวนการเรียนการสอนของครูผู้สอนปฐมวัย ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกกษา เน้นการับรู้โทษพิษภัยของเครื่องดืมแอลกอฮอล์ สามารถปฏิเสธการดื่ม ชวนเพื่อนเลิกดื่ม และเป็นแกนนำรณรงค์สร้างสรรค์ได้ ผ่านการจัดกระบวนการเรียนการสอนของหลักสูตรโรงเรียนคำพ่อสอน และการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่การลดปัจจัยเสี่ยงได้ ในระดับอุดมศึกษา และกลุ่มเยาวชนในชุมชน เน้นการทำงานบูรณการกับสภาเด็กเยาวชนจังหวัดศรีสะเกษ พัฒนาให้สามารถมีกิจกรรม – พื้นที่สร้างสรรค์ ลดพื้นที่เสี่ยง เพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์
ในระยะต่อไป การขับเคลื่อนจะเน้นที่กระบวนการพัฒนาพื้นที่รูปธรรมระดับชุมชน ให้สามารถพัฒนาเด็ก เยาวชน เชื่อมร้อย 4 ระดับ ส่งต่อความรู้จากรุ่นเด็กปฐมวัย จนเติบโตเป็นวัยรุ่น ที่คาดหวังไว้ว่า การพัฒนาเด็กเยาวชนนี้จะสามารถลดโอกาสการเข้าสู่วงจรการดื่มได้มากขึ้น และสามารถป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ได้ ในระดับจังหวัดมีความคาดหวังถึงการมีนโยบายและแผนการพัฒนาเด็กและเยาวชนในด้านการป้องกันปัญหาและผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการสนับสนุนจากทุกฝ่ายเพื่อเป็นแนวปฏิบัติและขยายผลทั้งจังหวัดต่อไป