“Ehno Com” พัฒนาศักยภาพเยาวชนผลิตสื่อ เพื่อการสื่อสารชาติพันธุ์

ค่ายฝึกอบรมผลิตสื่อ “Ehno Com” (Ethnography Communication) การพัฒนาศักยภาพเยาวชนในการสื่อสารชาติพันธุ์ เน้นทั้งการส่งเสริมสื่อสารชาติพันธุ์และใช้เทคโนโลยีในการสร้างสื่อของเยาวชน เพื่อเป็นแนวทางในการสื่อสารบนฐานวัฒนธรรม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคเหนือบน(สคล.) ศูนย์เรียนรู้ลวรัตนปัญญา มูลนิธิศึกษาธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (สวนเพชรแก้ว) และเพจ “โพควา โปรดักชั่น” จัดการอบรมสื่อวันที่ 16-18 มิถุนายน 2566 ณ สวนเพชรแก้ว อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนชาติพันธุ์ในพื้นที่เป้าหมายในการสื่อสารสังคม สร้างจิตสำนึกรู้และทัศนคติเชิงบวกในความเป็นชาติพันธุ์เพื่อความเข้าใจตัวเอง

การอบรมรั้งนี้มีท่านพระอาจารย์กฤษณชัย ปญฺญาวฒฺฑโน เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และมี นายทินภัทร ภัทรเกียรติทวี ซึ่งมีผู้ติดตามถึง 9.4 หมื่นคน และมีประสบการณ์การทำงานและการสอนด้านการสื่อสารสังคม เป็นวิทยากร โดยมีเด็กและเยาวชนจากอำเภอแม่แจ่ม อำเภออมก๋อย อำเภอกัลยาณิวัฒนา อำเภอจอมทอง และอำเภอฮอด มาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการสื่อสารสังคมเชิงบวกของชาติพันธุ์

นายจักรินทร์ สิรินทรภูมิ นายอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้คำโอวาทและมอบเกียรติบัตรให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม พร้อมทั้งชมผลงานเด่น 2 ผลงานของเยาวชนที่ได้สร้างขึ้นในระหว่างกิจกรรม และชื่นชมให้กำลังใจในความสามารถของเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม การทำกิจกรรมแบ่งเป็นทีม โดยเน้นการถ่ายทำและตัดต่อโดยใช้โทรศัพท์ตามโจทย์ ได้แก่

  • แหล่งท่องเที่ยวสวนสนบ่อแก้ว
  • เกษตรอินทรีย์ (สวนผักดอยโอเค)
  • การทำอาหารชาติพันธุ์ (โดยวิทยากรจากชุมชน) อาหารลัวะ
  • ลานอนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะ (อดีตกษัตริย์ชาติพันธุ์ลัวะ)

"การเข้าอบรมสื่อสร้างสรรค์ในครั้งนี้มีประโยชน์มากทำให้หนูได้รับประสบการณ์ที่ดีจากที่หนูไม่มีความรู้เรื่องการตัดต่อวีดิโอ หนูได้เรียนรู้ทักษะและเทคนิคในการตัดต่อวีดิโออย่างไรให้น่าสนใจ การเพิ่มทักษะขั้นพื้นฐานที่หลากหลาย ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของชนต่าง ๆ ทั้งชนเผ่ากระเหรี่ยง ชนเผ่าปากะเกอะญอ ชนเผ่าละว้า และชนเผ่าลัวะ ซึ่งเป็นกิจจกรรมที่ดีมากค่ะ"  

นางสาวจิราพัชร คิดสม นักเรียนโรงเรียนแม่แจ่ม

นอกจากนี้มีการแบ่งปันผลงานและรับความเห็นเพิ่มเติมจากวิทยากรและผู้ร่วมงาน โดยมีการจัดกองไฟรอบข้างและมีการปิดงานด้วยการ “ปิ้งมาร์ชเมโล่ ชมโชว์ผลงาน” เยาวชนได้แบ่งปันผลงานที่สร้างขึ้นในระหว่างค่าย พร้อมรับคำปรึกษาจากวิทยากรและผู้เข้าร่วมงาน โดยเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ที่ท้าทายและสร้างสรรค์ให้กับเยาวชน และเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนในการสร้างสื่อสารชาติพันธุ์ในยุคดิจิทัล

ที่มา : ศุภวิชญ์ อยุทธ์

Jesus loves you