สงกรานต์สุขใจ ตะปอนผลักดันวัฒนธรรมไทยสู่ Soft Power

          เครือข่ายงดเหล้าภาคตะวันออกพร้อมส่วนงานบุญประเพณี และนโยบายสาธารณะ ร่วมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัด วัฒนธรรมจังหวัด ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจังหวัดจันทบุรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะปอน และชาวบ้านชุมชนตำบลตะปอน ได้มีการจัดงานสืบสาน รักษา มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น “ประเพณีชักเย่อเกวียนพระบาท” จังหวัดจันทบุรี ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมีงานกำหนดการแถลงข่าวของงานข้างต้น ในวันที่ 7 เมษายน 2566 ณ ศาลาร่วมใจ วัดตะปอนใหญ่ ตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

โดยเริ่มจากนายวิสุทธิ์ ประกอบความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้เริ่มการแถลงข่าวเกี่ยวกับแนวทางและมาตรการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม ในงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2566 ภายใต้ชื่อ “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” ซึ่งมีการประกาศมาตรการ ดังนี้

  • เน้นการจัดกิจกรรมด้านศาสนาและวัฒนธรรมประเพณี มีการรณรงค์การทำความสะอาดบ้าน วัด ส่งเสริมการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่ไทย และแสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย
  • มีการรณรงค์การสวมผ้าไทยในการเข้าร่วมประเพณี เพื่อรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามของไทย
  • ส่งเสริมการจัดแสดง “รำวงเขี่ยใต้” “ละครเท่งตุ๊ก” ซึ่งเป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวจันทบุรี เพื่อรณรงค์คงไว้ และเป็นการสร้างรายได้สู่ชุ่มชน
  • สร้างความตระหนักถึงวัฒนธรรมที่ถูกต้อง เหมาะสม ทั้งในเรื่องของการแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย การเฝ้าระวังถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเพณีและชุมชน
  • ให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย รักษากฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดเหตุไม่คาดคิด
  • รักษาวินัยจราจร ลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ต่าง ๆ
  • การรักษาสุขภาพ สวมแมสก์ ล้างมือ เมื่อพบกับลูก ๆ หลาน ๆ ที่กลับมาจากต่างจังหวัด เนื่องจากยังอยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 อยู่

     ต่อมานางมานัสศรี ตันไล้ วัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรีได้กล่าวเสริมในด้านของรูปแบบการจัดกิจกรรม ความสำคัญของกิจกรรม การมีส่วนร่วมในการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2566 การสืบสาน รักษามรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น “ประเพณีชักเย่อเกวียนพระบาท” ซึ่งเป็นประเพณีเดิมของชุมชน

          ในครั้งนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งอนุมัติให้ประเพณีสงกรานต์ เข้าสู่รายชื่อเบื้องต้น (Tentative list) เพื่อพิจารณาในที่ประชุมให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นที่ 4 ของประเทศไทย ต่อจาก โขน นวดแผนไทย และรำโนราห์ของภาคใต้ ในปีที่ผ่าน ๆ มา

          ซึ่งไทยเรามีวัฒนธรรมค่อนข้างหลากหลายและนับว่าเป็นอำนาจอ่อน (Soft Power) ที่มีอิทธิพลอย่างมากมาย ซึ่งแบ่งหลัก ๆ ได้เป็น 5F คือ อาหารไทย (Food) ภาพยนตร์ไทย (Film) การแต่งกายไทย (Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวไทย (Fight) และประเพณีไทย (Festival) ซึ่งประเพณีสงกรานต์ในตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรีนั้น มีการผลักดันหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นอาหารพื้นเมือง การแต่งกายไทย และประเพณีไทย เป็นต้น ซึ่งเมื่อพูดถึงประเพณีสงกรานต์แล้ว ยังมีประเพณีชักเย่อเกวียนพระบาท ซึ่งเป็นประเพณีในชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากผู้อำนวยการวัดตะปอนใหญ่อีกด้วย

          โดยนางสาวเสาวนีย์ คนกล้า ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานจันทบุรี ได้กล่าวถึงแผนการต้อนรับนักท่องเที่ยวของประเพณีนี้ไว้ ซึ่งจะมีการจัดการมอบรางวัลต่าง ๆ โดยสามารถติดตามได้ที่เพจ ททท.สำนักงานจันทบุรี อีกทั้งยังมีการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวอย่าง “ตลาดโบราณ 270 ปี” ซึ่งถูกว่างเว้นจากนักท่องเที่ยวโดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการสร้างการรับรู้ใหม่ในระยะเวลา 1-2 ปี

          ซึ่งตลาดโบราณ 270 ปี เป็นตลาดที่ตั้งอยู่ภายในวัดบ้านตะปอนใหญ่ ตำบลตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เป็นตลาดโบราณน่าเดิน มีสินค้ามากมายที่พ่อค้าแม่ค้านำมาขาย วางเรียงกันละลานตา ทั้งขนมพื้นบ้าน ผักสวนครัว ผลผลิตในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งแต่ละอย่างจะเป็นของหากินยาก โดยมีกิมมิคที่พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของจะแต่งกายย้อนยุค

          และเมื่อพูดถึง “ประเพณีชักเย่อเกวียนพระบาท” เพื่อน ๆ คงสงสัยกันใช่มั้ยครับ ว่าประเพณีนี้คืออะไร ซึ่งเราได้รับข้อมูลจาก นางสาวพัชรินทร์ ทศานนท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะปอนว่า

          การเล่นชักเย่อเกวียนพระบาทของที่นี่ปฏิบัติสืบทอดมาเป็นเวลานาน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และถือเป็นกิจกรรมสำคัญของชุมชนแห่งนี้ โดยในวันที่ ๑๕-๑๖ เมษายน ที่วัดตะปอนน้อยจัดให้เล่นชักเย่อเกวียนพระบาทเพื่อความสนุกสนาน ส่วนที่วัดตะปอนใหญ่จัดในที่ ๑๗ เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาล ถือเป็นงานใหญ่เพราะเป็นการแข่งขันชักเย่อเกวียนพระบาทแบบจริงจัง ซึ่งตามประวัติที่เล่าต่อกันมาเกี่ยวกับการแห่เกวียนพระบาทและการชักเย่อเกวียนพระบาทมีอยู่ว่า ในอดีตเชื่อว่าเมื่ออัญเชิญผ้าพระบาทขึ้นเกวียนแห่ไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน จะทำให้โรคภัยไข้เจ็บของผู้คนที่เกวียนพระบาทชักลากผ่านไปทุเลาและหายลง อีกทั้งจะได้รับความโชคดี ทำให้แต่ละบ้านอยากอัญเชิญผ้าพระบาทไปประดิษฐานไว้ ทำให้เกิดกิจกรรมการเล่นชักเย่อเกวียนพระบาทขึ้นตามมา โดยแต่ละบ้านส่งทีมมาแข่งขันกัน ทีมใดชนะก็จะได้สิทธิ์ในการนำผ้าพระบาทไปประดิษฐานไว้หนึ่งปี ต่อมาภายหลังได้ยกเลิกไป เหลือแต่แข่งขันเพื่อความสนุกสนานและเสริมสร้างความสามัคคีในชุมชน ส่วนผ้าพระบาทผืนที่นำมาจากภาคใต้เก็บรักษาไว้ที่วัดตะปอนน้อย

          และสุดท้ายเครือข่ายงดเหล้าของเรา โดย นางสาวสมรุจี สุขสม เจ้าหน้าที่ส่วนงานบุญประเพณี และนโยบายสาธารณะได้ขอความร่วมมือไว้ 3 ประการ ดังนี้

  1. สร้างความสนุก และเสริมความปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
  2. ภาคตะวันออกของเราโชคดีในเรื่องของฝุ่น PM 2.5 ที่ไม่สูงเท่าพื้นที่ในภาคอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีมากขึ้น อยากสร้างความตระหนักถึงการเป็นพลเมืองดี ไม่ทะเลาะวิวาท
  3. จากที่กล่าวมาทางเครือข่ายงดเหล้า (สคล.) โดยกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ขอความร่วมมือประชาชนทุกท่านอยู่ภายใต้กฎหมาย ขายในวันและเวลาที่ถูกต้อง ถูกวัย และถูกสถานที่ ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์ในการดื่มได้ แต่ไม่ลิดรอนสิทธิ์ของผู้อื่น

“ พื้นที่ปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องปลอดเหล้าหากเรารู้สิทธิของตนเองและผู้อื่น แต่ควรตระหนักไว้ตลอดเวลาว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์คือปัจจัยหนึ่งในการเกิดเหตุทะเลาะวิวาท และอุบัติเหตุ “

            สุดท้ายนี้อยากฝากขอทุกคนที่กลับบ้านต่างจังหวัดให้ “ดื่มไม่ขับ” และ “ง่วงไม่ขับ” กลับบ้านปลอดภัยทุกท่านครับ เพราะที่บ้านมีคนที่รอเราอยู่ : D

ที่ตั้งเลขที่ 25/64 หมู่ 3 ต.ห้วยกะปิ อ.เมืองชลบุรี จ.ชลบุรี 20000