ค่านิยมการจัดงานบวชในสังคมอีสาน เป็นค่านิยมที่ฝังรากลึกมานาน ที่เมื่อมีการจัดงานบวชลูกบวชหลาน พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ผู้เป็นเจ้าภาพมักเต็มที่ และทุ่มทุนไปกับการจัดงานอย่างเต็มกำลัง โดยมีความเชื่อว่าเป็นบุญใหญ่ หากมีผู้มาร่วมอนุโมทนาบุญด้วยเยอะๆ มีการจัดเลี้ยงแขก ผู้มาร่วมงาน ล้มหมูล้มวัวเป็นตัว บางงานถึงขั้นมีเครื่องดื่มแแอลกอฮอล์ประกอบด้วย ทำต่อๆกันมาเรื่อยๆ กลายเป็นค่านิยมที่ปิดกั้นการเข้าถึงศาสนา ของผู้ที่มีรายได้น้อยหรือมีกำลังไม่มากพอ อีกทั้งบางงานกลายเป็นปัญหาสังคม ที่มักจะพบเห็นบ่อยๆ ในการนำเสนอข่าว ของสำนักข่าวต่างๆ อาทิ งานบวชเลือด เมาทะเลาะวิวาทกันกลางงานบวช ยิงกันกลางงานบวช เป็นต้น การจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายเป็นอย่างมากในสังคมอีสาน
26 มีนาคม 2566 เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาภาคอีสานล่าง โดยการประสานของ เจ้าอธิการโสภณ ปิยธมฺโม, ดร. เจ้าอาวาสวัดโพนขวาว จ.อำนาจเจริญ ได้ประชุมแลกเปลี่ยนบทเรียนการขับเคลื่อนโครงการ การขยายผลนโยบายสาธารณะ งานบวชสร้างสุข ในพื้นที่ ภาคอีสานล่าง 4 จังหวัด ประกอบไปด้วย จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดยโสธร ซึ่งได้มีการดำเนินโครงการเมื่อต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน
การดำเนินงานที่ผ่านมาแต่ละวัดได้มีการขับเคลื่อนและมีการบูรณาการกับโครงการที่ทางวัด ดำเนินการกันอยู่ก่อนหน้านั้น อาทิ ชุมชนคุณธรรม วัดส่งเสริมหมู่บ้านรักษาศีลห้า เป็นต้น เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน ที่ผ่านมาได้มีการประชาสัมพันธ์มีการสื่อสารในเวทีต่างๆ ที่ผู้ประสานได้มีโอกาสเข้าร่วม อาทิ เวทีประชุมกับชุมชน กับหน่วยงานราชการ เป็นการสร้างการรับรู้ในแนวคิดของโครงการ ชาวบ้านหลายคนให้ความสนใจ และเข้าร่วมโครงการบวชสร้างสุข จัดงานบวชแบบเรียบง่าย ประหยัด ยึดหลักพระธรรมวินัย แต่เมื่อเทียบกับสังคมในวงกว้าง ก็ยังคงมีการจัดงานที่ยึดตามหลักค่านิยมเดิมอยู่ และนี่เป็นสิ่งที่เครือข่ายพระสงฆ์ต้องคิดต่อ
พระครูปริยัติพลากร เจ้าอาวาสวัดบูรพาบ้านทุ่งแต้ ได้กล่าวว่า การจะเคลื่อนงานบวชสร้างสุข ให้เกิดผลอย่างวงกว้างเป็นรูปธรรมในสังคม การที่เราจะทำอยู่แค่เรากลุ่มเล็กๆ แน่นอนมันเป็นเรื่องที่ยาก เราจะต้องอาศัยเครือข่ายที่หลากหลายและกว้างออกไป ไม่ว่าจะเป็น ส่วนราชการ ประชาสังคม ชุมชน ท้องถิ่นท้องที่ คณะสงฆ์ฝ่ายปกครอง ให้มามีส่วนร่วมในการ ขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นเป็นนโยบายสาธาณะ เป็นแนวปฏิบัติร่วมกันในสังคม ให้จัดงานบวชแบบเรียบง่าย ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ลดปัญหาสังคม
ในที่ประชุมเห็นด้วย และได้มีมติ ผลักดันนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุข ไปสู่นโยบายระดับจังหวัดระดับภาค โดยกำหนดไว้ในช่วงกลางเดือน พฤษภาคม 2566 นี้ ที่จังหวัดยโสธร มีแผนในการดึงส่วนราชการ และคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการประกาศนโยบายครั้งนี้