จากค่านิยมเรื่องการจัดงานบวชในอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยง เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การมีมหรสพ ดนตรีฉลอง มีรถแห่เสียงดัง กระตุ้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เต้นยั่วยุ ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท ความรุ่นแรงฆ่ากันตายในงานบวช สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายต่อชุมชน ระหว่างชุมชน และสังคม มีค่าใช้จ่ายมหาศาลในการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ด้วยค่านิยมเชื่อว่าแสดงถึงฐานะทางสังคมของเจ้าภาพ เกิดหนี้สิน ส่งผลให้เกิดภาพลบต่อเจ้าภาพที่จัดงานแบบเรียบง่าย ประหยัด ที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยกลับถูกมองว่ายากจน ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงพระพุทธศาสนาของชาวพุทธในระยะยาว
จนต่อมาได้เกิดเวที แลกเปลี่ยน แนวคิด การผลักดันนโยบายสาธารณะ งานบวชสร้างสุข เพื่อสร้างค่านิยมใหม่ให้เกิดขึ้นต่อการจัดงานบวช ของสังคมไทย โดยการประสานของ เจ้าอธิการแดง ปญฺญาวโร เจ้าคณะตำบลบึงวิชัย อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมวัดกลาง อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีพระครูวรธรรมธัช ดร. เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานในที่ประชุม จากการประชุมก็ได้มีการหารือกันถึงแนวทางในการขับเคลื่อน
ได้มีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) กันเกิดขึ้น ในพื้นที่ของ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างคณะสงฆ์ กับ ชุมชน และราชการในเขตอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ในการรณรงค์แนวคิดงานบวชสร้างสุข และผลักดันให้เกิดต้นแบบงานบวชสร้างสุขในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของคณะสงฆ์อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ในการร่วมกันลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริมให้เกิดขึ้นเป็นสังคมสุขภาวะ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสในการจัดงานบวชแบบเรียบง่ายตามพระธรรมวินัย ป้องกันการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์งานบวชด้วย และเป็นการเอื้ออำนวยให้ลูกหลานชาวพุทธได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาได้ง่ายยิ่งขึ้นตามแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง จัดงานบวชสร้างสุขแบบ “บวชวิถีใหม่ ยึดพระธรรมวินัย ห่างไกลอบายมุข ชุมชนอุ่นใจ เรียบง่าย ประหยัด ปลอดภัย ไกลโควิด” เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการบวชอย่างแท้จริง และเป็นการสร้างวัฒนธรรมวิถีใหม่ให้เกิดขึ้น
จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะสงฆ์อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ได้มีการถอดบทเรียนการการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุข ขึ้นที่ วัดป่าชัยมงคล ตำบลบึงวิชัย อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อทบทวนการทำงานที่ผ่านมา แลกเปลี่ยนวิธีการ ปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงาน พร้อมหาแนวทางในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ร่วมกัน
สรุปผลการขับเคลื่อน งานบวชสร้างสุขอำเภอเมืองกาฬสินธุ์
- เกิดรูปธรรม ต้นแบบงานบวชสร้างสุขในอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ มากว่า 30 งาน มีพระสงฆ์ที่ผ่านกระบวนการบวชสร้างสุข ไม่ต่ำกว่า 39 รูป
- เกิดนวัตกรรมการเชิดชูผู้ที่บวชสร้างสุข ผ่านการมอบใบประกาศเกียรติคุณ
- เกิดการสร้างการสื่อสาร รณรงค์ งานบวชสร้างสุขในหลายรูปแบบ
- เกิดการประสานความร่วมมือ การขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุข ระหว่าง วัด บ้าน ราชการ (บวร.)
พระครูจันทธรรมานุวัตร, ดร. เจ้าคณะอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ประธานในการประชุม ได้กล่าวว่า ถ้าดูจากวัตถุประสงค์ของโครงการบวชสร้างสุขแล้ว ก็ถือว่ามีความสอดคล้องในแนวนโยบายการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาในด้านสาธารณะสงเคราะห์ และด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงได้รับเอาแนวนโยบายบรรจุเข้ากับแผนปฏิบัติการ ของคณะสงฆ์อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เราก็ได้ขับเคลื่อนมาตลอด ปี 2565 ที่ผ่านมา วันนี้จึงกำหนดให้มีการแลกเปลี่ยนกัน ถึง แนวทางการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคระหว่าง การดำเนินงาน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไข และพัฒนาต่อไป
พระครูสิทธิชยาภิวัฒน์ เจ้าคณะตำบลลำปาว ได้กล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนว่า ตามที่เราได้ไปนำเสนอกับเจ้าภาพว่า การจัดงานจะต้องจัดลักษณะแบบนี้ แบบนี้ เราก็ต้องยอมรับความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่า สมัยก่อนที่ปู่ย่าตายายเราทำมาส่วนมาก มักมีชุความคิดหนึ่งว่า ไหนๆจะได้บวชลูกทั้งที อยากจะจัดหนักจัดใหญ่ ก็ไม่ค่อยได้มีปัญหาอะไร สมัยก่อนจะจัดงานใหญ่ขนาดไหนก็อยู่ในขอบเขตและก็ไม่มีการทะเลาะวิวาท ไม่มีการฆ่ากัน แต่สมัยนี้มันแตกต่างกันแต่ สมัยนี้เขาจัดใหญ่เพื่อต้องการความสนุกสนานกันก็คือรถแห่ที่กำลังติดเทรนด์มากในช่วงนี้ ชาวบ้านไหนจะมีผ้าป่า กฐิน งานบวช ไม่มีรถแห่นี่ คนจะไม่ค่อยไป คนจะไม่ค่อยใส่ใจ เราพยายามพูดอยู่หลายครั้งก็อยากที่เขาจะเข้าใจ พอเราออกกฎกติกาออกมา ว่าถ้ามีรถแห่ ไม่บวชให้ เขาก็ไปบวชวัดอื่น ฉนั้น จึงเสนอว่า จะต้องมีการบรูณาการร่วมกัน ให้ทุกวัดในเขตตำบล ในเขตอำเภอ หรือไปจนถึง ระดับจังหวัด ให้มีกฎกติการในลักษณะเดียวกันนี้ เชื่อว่า ญาติโยมจะถอยเอง
ด้าน พระครูอรัญสุเมธาภรณ์ เจ้าคณะตำบลภูดิน เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง ได้กล่าวว่า ที่ทุ่งศรีเมืองเอง ชาวบ้านมีฐานะอยู่ในระดับปานกลางจึงสามารถขอความร่วมมือได้ง่าย ในเรื่องของการจัดงานบวชที่เรียบง่าย แต่ก็ยังมีอยู่บ้างที่ ยังคงจัดแบบเดิม ที่มีดนตรีเครื่องแห่ เลี้ยงฉลองใหญ่โต ผมเองก็ได้มีการบอกกล่าวทำความเข้าใจอยู่ตลอด เราอาจจะยังห้ามเขาไม่ได้ เราก็ต้องสร้างข้อตกลงกับเขา ว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ รับผิดชอบอย่างไร พยาม ทำให้อยู่ในขอบเขตให้ได้มากที่สุด
ในตอนท้าย พระครูจันทธรรมานุวัตร, ดร. เจ้าคณะอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ได้กล่าวต่อว่า จากที่ฟังจากหลายท่าน คิดว่าโครงการนี้มีประโยชน์ และหลายๆพื้นที่ก็เริ่มมีงานบวชต้นแบบ แต่ก็ยังคงมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้าง เราจึงต้องทำต่อไป ต้องช่วยกันสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจกับญาติโยม รวมไปถึง พระอุปัชฌาย์ ในพื้นที่อื่นๆ ได้ร่วมเป็นแนวปฏิบัติเดียวกันนี้ต่อไป