สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามย้ำ “การดูแลพระภิกษุอาพาธ เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของพระสงฆ์ พระสังฆาธิการ ต้องดูแลพระภิกษุผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ทอดทิ้ง ยามเจ็บป่วยไม่สบายจนกว่าจะหายดี หรือจนกว่าจะหายป่วย”
ในการเป็นประธานกล่าวให้ข้อคิดเห็น และให้นโยบายเปิดเวทีการประชุมขับเคลื่อนเครือข่ายกองบุญพระภิกษุอาพาธระดับประเทศ ผ่านระบบ video conference zoom
วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม 2565 ช่วงเช้ามีการประชุมใหญ่ประจำปีกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์จังหวัดจันทบุรี มอบทุนผู้สูงอายุ-ทุนการศึกษา-ผู้พิการ-ผู้ด้อยโอกาส จำนวน 1,100 ทุน และ ช่วงบ่าย มีการประชุมขับเคลื่อนเครือข่ายกองบุญพระภิกษุอาพาธระดับประเทศ ภายใต้กรอบ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ 2560 และข้อตกลงความร่วมมือบทบาทการเกื้อหนุนวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน และจังหวัดบูรณาการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยช่วงบ่ายมีพระสงฆ์จังหวัดต้นแบบที่จัดตั้งกองบุญพระภิกษุอาพาธแล้ว และอำเภอเครือข่ายกองบุญพระภิกษุอาพาธ
โดยมีพระเทพสิทธิเวที เจ้าคณะจังหวัดระยอง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีผู้ร่วมประชุมเจ้าคณะจังหวัด พระศรีพัชโรดม เจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ พระครูศรีมงคลปริยัติกิจ เจ้าคณะจังหวัดสะเกษ พระราชธรรมเมธี เจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี พระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี มอบพระพิพัฒน์วชิโรภาส เจ้าอาวาสวัดป่าดงใหญ่วังอ้อ เจ้าคณะตำบลหัวดอน ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยแทน พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี พระโสภณพัฒนคุณ เจ้าคณะอำเภอหนองม่วงแทน ผู้แทนพระราชสารโสภณ รองเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี ผู้แทนพระบุรเขตธรรมคณี เจ้าคณะจังหวัดตราด พระครูโพธิวีรคุณ เจ้าคณะอำเภอปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด พระครูสุมณฑ์ธรรมธาดา จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น ประธานฝ่ายฆราวาส นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้ นายธวัชชัย นามสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ปฏิบัติราชการแทน
พระราชธรรมเมธี เจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี ประธานกองบุญพระภิกษุอาพาธฺจังหวัดจันทบุรี กล่าวรายความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดเวทีประชุมขับเคลื่อนเครือข่ายกองบุญพระภิกษุอาพาธระดับประเทศ โดยสรุปใจความสำคัญว่า
คณะสงฆ์จังหวัดจังหวัดจันทบุรีทั้ง 10 อำเภอได้เรียนรู้เรื่อง “กองบุญ” จากบทเรียนของพระสงฆ์นักพัฒนาทั่วประเทศโดยพระครูสุวรรณโพธิวรธรรม วัดโพธิ์ทอง นำมาขยายผลได้จัดตั้ง “กองบุญสุขภาวะพระสังฆาธิการจังหวัดจันทบุรี”และได้นำความรู้นี้เข้าไปถวายแลกเปลี่ยนกับพระสงฆ์เจ้าคณะสงฆ์จังหวัดใกล้เคียง และจังหวัดที่เป็นเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศ 7 จังหวัดที่จัดตั้งกองบุญฯเสร็จ ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดเพชรบูรณ์ มีจำนวนสมาชิกแต่ละจังหวัด รวมแล้วประมาน 10,000 รูป ได้รับสวัสดิการยามเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ และมรณภาพแล้วมากกว่าสี่พันรูป ต่างมีประโยชนน์ร่วมกันว่า “กองบุญนี้” เป็นการวางรากฐานการดูสุขภาพพระสงฆ์ไทยที่สำคัญในอนาคตตามหลักธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ปี 2560 ข้อที่ 33 ว่าด้วยการจัดตั้งทุนระดับชาติ และระดับพื้นที่เป็นไปเพื่อความสังเคราะห์ เกื้อกูลกันในหมู่พระสงฆ์ตามหลักการทำงานสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์ คือ 1.อัตถายะ เป็นประโยชน์ 2.หิตายะ เกื้อกูลกัน และ 3.สุขายะ มีความสุขสันติสุข และตามคติธรรมที่เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสงฆราช สกลมหาสฆปริณายก ได้ประทานในการประชุมสัมมนาขับเคลื่อนงานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ตามแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาจากนโยบายสู่การปฏิบัติระดับจังหวัด ความตอนหนึ่งว่า “บุคคลพึงบำเพ็ญกรณียกิจเพื่อเกื้อกูลกันและกัน ด้วยการละคลายความเป็นตัวตนให้มากที่สุด” ให้สมดังพระพุทธศาสนที่ว่า “ภูตํ เสสํ ทยิตพฺพํ แปลความว่า เมื่อยังมีชีวิตอยู่ควรเกื้อกูลกัน”
พระราชธรรมเมธี กล่าวรายงานต่อว่า การจัดเวทีวันนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็น จากเจ้าคณะจังหวัดทั้ง 12 จังหวัด เจ้าคณะอำเภอเครือข่าย พระสงฆ์ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วสรุปผลเป็นแนวทางการขยายผลผลักดัน ให้เกิดการจัดตั้งกองบุญพระภิกษุอาพาธระดับจังหวัด ขยายในเชิงปริมาณถึงระดับประเทศต่อไป
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ได้ให้ข้อคิดเห็นชื่นชม และนโยบายโดยสรุปว่า เป็นที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ที่คณะสงฆ์ได้ใช้หลักธรรมนำทางโลก ใช้หลักการสาธารณสงเคราะห์ ชุมชน สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสงเคราะห์กันเองในหมู่สงฆ์ ด้วยคาดหวังจะวางรากฐานการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ โดยการจัดตั้งกองบุญพระภิกษุอาพาธระดับจังหวัด ใช้การจัดการรูปแบบใหม่ผ่านระบบไอทที่สอดคล้องโลกปัจจุบัน และสอดคล้องกับหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว การดูแดพระสงฆ์อาพาธ เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของสงฆ์ พระสังฆาธิการ ต้องดูแลพระภิกษุผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ไม่ทอดทิ้ง ยามเจ็บป่วยไม่สบายจนกว่าจะหายดี หรือจนกว่าจะจากกันไป ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ตอนหนึ่งว่า :
“..ดูกรภิกษุทั้งหลาย! พวกเธอไม่มีมารดาบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธเถิด ฯลฯ
ถ้าไม่มีอุปัชฌายะ อาจารย์ สัทธิวิการิก อันเตวาสิก ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌายะ หรือภิกษุผู้ร่วมอาจารย์ เป็นหน้าที่ของสงฆ์ที่ต้องพยาบาลจนตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะหาย”
การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ปี 2560 การดำเนินงานได้มีความก้าวหน้าในประเด็นที่สำคัญ อาทิ
- พระสงฆ์เข้าถึงสิทธิในการรับบริการสุขภาพ 181,757 รูป
- พระสงฆ์ได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพในวัดทุกรูป จำนวน 10,491 วัด
- มีการจับคู่ 1 วัด 1 สถานพยาบาลจำนวน 9,622 วัด /สถานพยาบาล
- มีการอบรมพระคิลานุปัฏฐากแล้ว 9,588 รูป
การประชุม ขอให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ ในการรับฟังความคิดเห็นจากเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอเครือข่าย พระสงฆ์ รวมทั้งผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการจัดตั้งกองบุญพระภิกษุอาพาธระดับจังหวัดนั้น ขอให้คิดถึง การต่อยอดประเด็นที่มีความก้าวหน้าตามที่กล่าวแล้ว ในลักษณะความเชื่อมโยง การสนับสนุนกันอย่างไร แล้วหาต้นแบบที่เป็นรูปธรรมเพื่อการขยายผลให้เกิดคุณูปการต่อการดูแลสุขภาพพระสงฆ์กันเองเบื้องต้น แบบครบวงจร ที่สอดคล้องกับหลักการพระพุทธศาสนาต่อไป
เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าคณะอำเภอเครือข่ายกองบุญพระภิกษุอาพาธมีมติร่วมกันจะร่วมผลักดัน ขยายบทเรียนการจัดตั้งกองบุญพระภิกษุอาพาธ เพื่อวางรากฐานการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ไทย ดังนี้
- ยึดหลักการ “การดูแลภิกษุอาพาธ เป็นหน้าที่โดยธรรม โดยวินัยของคณะสงฆ์ทุกระดับ ไม่ทอดทิ้ง เกื้อกูล ยามเจ็บป่วยไม่สบายจนกว่าจะหายดี หรือจนกว่าจะตายจากกันไป”
- จะขยายผลต่อเริ่มต้นจากบทเรียน ความรู้ ประสบการณ์ จากจังหวัดที่จัดตั้งได้แล้ว จากแต่ละภาค จังหวัด ขยายสู่จังหวัดใกล้เคียงที่สนใจ เป็นพี่เลี้ยง การสื่อสาร สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันด้วย
- พัฒนาทีมวิทยากร การจัดการการเงิน และระบบการจัดการ
- วางโครงสร้างเครือข่ายภาคีกองบุญพระภิกษุอาพาธ โดยมี พระราชธรรมเมธี เจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี เป็นประธาน
ชัยณรงค์ คำแดง รายงาน