เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 คณะทำงานกลไกขับเคลื่อนเครือข่ายสังฆะเพื่อสังคมภาคกลาง นำโดยพระอาจารย์ปัญญา จิตฺตปญฺโญ ดร.ผู้จัดการเครือข่ายสังฆะเพื่อสังคมภาคกลาง นายทนงชัย บูรณพิสุทธิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคกลาง พร้อมด้วยแกนนำประชาคมงดเหล้าจังหวัด นำโดยคุณประชาญ มีสี ผู้ประสานงานประชาคมงดเหล้าจังหวัดสิงห์บุรี และทีมงานสมาคมสถาบันนารายณ์เพื่อการพัฒนาจังหวัดลพบุรี ได้ร่วมลงพื้นที่เพื่อดำเนินการ “ถอดบทเรียนงานบวชสร้างสุขและเสริมพลังชุมชนแหล่งเรียนรู้คนสู้เหล้า” ณ วัดหนองกระเบียน ต.หนองกระเบียน อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี
ทั้งนี้ พระปัญญา จิตฺตปญฺโญ ดร. ได้เปิดเผยว่าภายหลังจากได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “กระบวนการจัดการความรู้ : ถอดบทเรียนงานบวชสร้างสุข” แก่ทีมงาน เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการแบ่งทีมงานออกเป็น 3 ทีม เพื่อลงพื้นที่ถอดบทเรียนงานบวชสร้างสุขในชุมชนเป้าหมายซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชุมชนคนสู้เหล้า และแหล่งเรียนรู้ที่ประชาคมงดเหล้าจังหวัดลงไปขับเคลื่อนหนุนเสริมเกี่ยวกับงานรณรงค์งดเหล้าลดปัจจัยเสี่ยงในประเด็นต่างๆ การลงพื้นที่ครั้งนี้จึงถือโอกาสจับมือสานพลังกับประชาคมงดเหล้าจังหวัด สคล.ภาค และสมาคมสถาบันนารายณ์เพื่อการพัฒนาจังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นทีมงานหนุนเสริมทางด้านวิชาการ
ด้านนายทนงชัย บูรณพิสุทธิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคกลาง กล่าวว่าในช่วงปี 64-65 ที่ผ่านมา สคล.มีการขับเคลื่อนงานโดยเน้นการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ใช้ชุมชนเป็นฐานบูรณาการทุกมิติ มีการบูรณาการประเด็นต่างๆ ทั้งงานชุมชนคนสู้เหล้า งดเหล้าเข้าพรรษา บุญประเพณีปลอดเหล้า เฝ้าระวัง เยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และเครือข่ายเข้มแข็ง สนับสนุนให้ประชาคมจังหวัดและแกนนำพื้นที่ทำงานเชิงบูรณาการสานพลังร่วมกับหน่วยงาน องค์ภาคี เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง การลงพื้นทีถอดบทเรียนงานบวชสร้างสุขครั้งนี้จึงถือโอกาสในการเยี่ยมเสริมพลังแกนนำชุมชนแหล่งเรียนรู้คนสู้เหล้า ซึ่งชุมชนวัดหนองกระเบียนถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบการขับเคลื่อนงานแหล่งเรียนรู้คนสู้เหล้าของภาคกลาง
พระอธิการทนง ธมฺมิโก เจ้าอาวาสวัดหนองกระเบียน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าวัดหนองกระเบียนเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ชุมชนคนสู้เหล้า หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล(อปต.) ศูนย์คุณธรรม และหมู่บ้านศีล 5 บ้านหนองกระเบียนเป็นชุมชนไทยวน ชาวบ้านส่วนใหญ่ในสมัยก่อนอพยพมาจากอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ผู้เฒ่าผู้แก่และวัยกลางคนขึ้นไปยังคงมีความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมประเพณีวัฒนธรรมแบบไทยวน แต่คนรุ่นหลัง รุ่นลูกหลานจะจางคลายไปตามสภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบัน จึงคิดที่จะสืบสาน พัฒนา ต่อยอดคุณค่าทางวัฒนธรรมประเพณีและต้นทุนที่มีของชุมชน ทางวัดจึงได้ประสานงานกับแกนนำและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชน เช่น โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ลอยกระทงปลอดเหล้า งานศพปลอดเหล้า โครงการส่งเสริมศีลธรรมคุณธรรม เป็นต้น ตลอดจนโครงการบวชสร้างสุขก็เป็นหนึ่งในโครงการที่วัดและชุมชนร่วมกันขับเคลื่อนเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว นอกจากนี้ ทางวัดยังได้พัฒนาฐานเรียนรู้ต่างๆ เพื่อเป็นต้นแบบแก่ชุมชน เช่น พิพิธภัณฑ์ไทยวน การเลี้ยงชันโรง การเลี้ยงไส้เดือน การผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไส้เดือน ศาลาธรรมะ/ต้นไม้พูดได้ เป็นต้น
ส่วนนายประชาญ มีสี ผู้ประสานงานประชาคมงดเหล้าจังหวัดสิงห์บุรี หนึ่งในคณะทำงานถอดบทเรียนกล่าวว่า การถอดบทเรียนครั้งนี้ใช้กรอบแนวคิดเชิงระบบโดยศึกษาถึงปัจจัยนำเข้า(input)ได้แก่ บริบทชุมชน ทัศนคติ ความคิดความเชื่อ ความเข้าใจของชุมชนเกี่ยวกับงานบวช กระบวนการ(process)ขั้นตอน รูปแบบ วิธีการจัดงานบวชสร้างสุขตั้งแต่ขั้นเตรียมการก่อน-ระหว่าง-หลังบวช และผลสัมฤทธิ์(results) ได้แก่ ผลผลิต(output) ผลลัพธ์(outcome) ผลกระทบ(impact) ของงานบวชสร้างสุข..กลุ่มเป้าหมายที่ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกและจัด focus group ได้แก่ พระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส พระที่บวช เจ้าภาพจัดงาน/โยมบิดามารดา มัคนายกวัด ครูอาจารย์โรงเรียนวัดหนองกระเบียน และชาวบ้าน..ซึ่งทั้งหมดได้ให้ข้อมูล ความรู้ ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดงานบวชสร้างสุขและชุมชนคนสู้เหล้าเป็นอย่างมาก
ตัวอย่างข้อมูลที่สัมภาษณ์ในประเด็นต่างๆ เช่น ข้อมูลนำเข้า(Input) : บริบทชุมชน เป็นชุมชนวัฒนธรรม ไท-ยวน มีพื้นที่เป็นหนองน้ำและมีต้นกระเบียน 2 ต้น จุดเด่นคือมีการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีในชุมชนให้คงอยู่ เช่น สงกรานต์ไท-ยวน โดยมี พระอธิการทนง ธมฺมิโก เจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแล ใส่ใจ สนับสนุนและส่งเสริมอย่างใกล้ชิด ค่านิยมการบวชแต่เดิมชาวบ้านมีค่านิยมการบวชเพื่อทดแทนบุญคุณพ่อ-แม่ ระยะเวลาบวช นิยมบวชรวม 3 ปี คือ ปีที่ 1 = เพื่อพ่อแม่ ปีที่ 2 = เพื่อตนเอง และปีที่ 3 เพื่อดำรงไว้ซึ่งศาสนาพุทธ โดยรูปแบบการจัดงานบวช มีทั้งหมด 3 วันที่สำคัญ คือ วันสุกดิบ – วันบวช – วันฉลองพระใหม่ สมัยก่อนมีการต้มเหล้ากินเอง ล้มวัว/ควาย ทำอาหารเลี้ยงกันเอง เลี้ยงพอประมาณ แต่ใน ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการเลี้ยงเหล้าในงานมากขึ้น (นับแต่ปี พ.ศ. 2500) โดยค่าใช้จ่ายมากน้อยขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าภาพ เริ่มตั้งแต่ 2,000-30,000 บาท หรือเจ้าภาพที่ฐานะดีจะเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 100,000 บาท
มีโครงการหนุนเสริมความเข้มแข็งของชุมชน เช่น 1. การประกอบอาชีพตามหลัก ศกพ. เช่น การทำไม้กวาด เลี้ยงหอยขม 2. การให้ความรู้เด็ก เยาวชน “มัคคุเทศก์น้อย” ด้านวัฒนธรรม ไท-ยวน ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ประเพณีท้องถิ่น เช่น สงกรานต์ไท-ยวน ลอยกระทง เป็นต้น 3. โครงการส่งเสริม ศีลธรรม คุณธรรม ได้แก่ หมู่บ้านศีล 5 บวชสามเณรภาคฤดูร้อน สหกรณ์ต้นแบบระดับประเทศ รร.ดีประจำตำบล(รร.สุจริต) และครูดีไม่มีอบายมุข (ครูสุดใจ จันตรี) เป็นต้น
ข้อมูลเชิงกระบวนการ (Process) : ก่อนบวช 1) แจ้งความประสงค์ติดต่อพระ/วัด เจ้าอาวาส เพื่อขอคำแนะนำวิธีการบวชที่ถูกต้อง เน้นความประหยัด เรียบง่าย 2) มีการประชุมคณะกรรมการวัด เพื่อสร้างความเข้าใจ และช่วยประชาสัมพันธ์ การจัดงาน กฎระเบียบ ข้อห้ามเรื่องการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาในวัด ระหว่างบวช 1) ผู้บวชได้ปฏิบัติกิจของสงฆ์ เช่นทำวัด สวดมนต์ ฝึกเทศน์ ( เรียนรู้/ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด) 2) เรียนรู้หลักธรรมทางศาสนา 3) เป็นการสืบอายุพระศาสนา/ศาสนทายาท หลังบวช 1)ชุมชนได้คนที่มีความรู้พื้นฐานทางศาสนา 2)หลังจากลาสิกขาแล้วหลายคนสามารถเลิกเหล้าได้ และเป็นคนดีช่วยเหลือครอบครัวและสังคม
ผลสัมฤทธิ์ (Results) : 1) ปัญหาคนเมา การทะเลาะวิวาท ลดลง 2) ประหยัด / ไม่เป็นหนี้ 3) เกิดการมีส่วนร่วม สามัคคีในชุมชน 4) เกิดพลัง บ ว ร ร่วมขับเคลื่อนงาน 5) มีการจัดงานบวชปลอดเหล้า 12 งาน (สึกแล้ว 7 คน / ยังจำพรรษา 6 รูป) 6) ผู้บวชได้เรียนรู้คำสอน พระธรรมวินัย ตามหลักพระพุทธศาสนา สืบสานงานพระสงฆ์ 7) รู้คุณพระรัตนตรัย / บิดา มารดา 8) พระที่สึกแล้ว สามารถเลิกเหล้าได้ “การบวชทำให้ คนดิบ เป็น คนสุข ได้”
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ : 1. ความเอาใจใส่ของพระอุปัชฌาย์ /เจ้าอาวาส/เจ้าภาพ 2. การให้ความสำคัญ/ความเข้าใจ-การมีส่วนร่วม ของชุมชน 3. การมีระเบียบ กติกาที่ชัดเจน/กฎระเบียบวัด-กฎหมาย 4. ผู้นำเห็นความสำคัญ ให้ความสนใจ สนับสนุน 5.การสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง
สำหรับรายละเอียดบทเรียนงานบวชสร้างสุข ทีมงานจะได้นำข้อมูลไปเรียบเรียง ประมวล วิเคราะห์ สรุปผลและนำเสนอต่อไป
Reported by Lung Nong