สคล.ยกระดับ ปรับตัว ย้ำพันธกิจ “ประสานพลัง” ถอดรหัสกำหนดทิศทางขับเคลื่อนงานงดเหล้ามิติใหม่

สคล.ยกระดับ คณะทำงานเครือข่ายงดเหล้าทั่วประเทศ ย้ำพันธกิจ “ประสานพลัง” ร่วมถอดรหัสกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนงานงดเหล้ามิติใหม่ หวังต่อยอดงาน 10 ปีข้างหน้า ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างสังคมที่เป็นสุขและปลอดภัย สอดคล้องเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 26-28 พ.ย.  สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยนายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการฯ ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการของทุกภูมิภาค จัดเวทีสรุปบทเรียน และทบทวนวิสัยทัศน์ คุณค่าองค์กร และวัฒนธรรมองค์กร และพัฒนาแผนงานรณรงค์ ในระยะสั้น ปี 2566-2567 และทิศทางการในระยะ 10 ปีข้างหน้า ภายใต้สถานการณ์ที่ท้าทายหลังโควิด ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ การเมืองที่มีความไม่แน่นอน สังคมแบ่งขั้ว ความแตกต่างระหว่าง Gen สังคมที่เปิดรับเทคโนโลยีเต็มที่ สู่การเปิดมุมมองที่เป็นไปได้ใหม่ๆ และการยกระดับโครงการที่เคยผ่านมาให้มีคุณค่า เพื่อเป้าหมายลดปัจจัยเสี่ยง ส่งเสริมสุขภาวะ ณ โรงแรม เอบีน่า เฮาส์ กรุงเทพฯ

โดยในปี 2565 ภายหลังยุคโควิดในช่วงต้นปีนี้ ทาง สคล.ได้จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจในเป้าหมายทิศทางและทำให้สมาชิกเครือข่ายทั้งหมดเห็นช้างทั้งตัว หรือ Big Picture ได้แก่ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไป 3 ครั้ง รวม 44 จังหวัด มีเวทีประชุมใหญ่เครือข่ายงดเหล้าปีที่ 19 จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่รวมประชาคมทั่วประเทศ ซึ่งได้คีย์เวิร์ดสำคัญ 3 ตัวคือ ร้อยปี-ร้อยเครือข่าย-สานสามวัย รวมทั้งมีข้อเสนอ 3 ข้อที่ต้องเร่งให้เกิดขึ้น คือ 1.การยกย่องคนรุ่นเก่า , การจัดสวัสดิการคนทำงาน และการมีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่  ทั้งนี้ ในช่วงปีใหม่มีการส่งหนังสือของขวัญปีใหม่ ชื่อ “จะข้ามมหาสุมทร อย่าหันกลับมามองชายฝั่ง” ส่งให้ทุกจังหวัดเพื่อสื่อสารว่าเราต้องปรับเปลี่ยนให้สร้างคุณภาพจากพื้นที่ ระวังอย่างซ้ำรอยการทำงานเดิมแบบ Comfort zone คือทำตามที่เคยทำ ที่สำคัญความกะตือรือร้นและพลังของพี่น้องประชาคมจังหวัดที่ต้องได้รับการฟื้นฟู และการส่งต่อคนรุ่นใหม่ในจังหวัด รวมทั้งการหามิติใหม่ๆ ให้คนในพื้นที่ได้ทำงานยกระดับและท้าทายไม่ให้ตกลงสู่วงจรซ้ำเดิม เช่น เข้าพรรษา เพิ่มมิติการประกวดนวัตกรรมการรณรงค์ไม่ใช่แค่ชวน ช่วย เชียร์ และออกพรรษาลาเหล้า แต่มีมิติเรื่อง ความยากจน สิทธิเด็ก บทบาทหญิงชาย ความเป็นธรรมในสังคม เป็นต้น

 แนวทางที่ประชุมเป็นข้อเสนอในระยะต่อไป คือ รักษาพันธกิจ “การประสานพลัง” ให้ประชาคมจังหวัดมีการประสานพลังให้เข้มแข็งไร้ขีดจำกัดมากยิ่งขึ้น(โดยมีการประเมิน ในรูปธรรมเนื้องานจะเน้นการต่อยอดจากผลการดำเนินงานเดิมแต่ต้องเพิ่มคุณภาพและความคิดนวัตกรรมใหม่ ได้แก่ งานประเพณีเทศกาลปลอดเหล้า งานชุมชนสู้เหล้า งานกฎหมาย งานป้องกันหน้าใหม่ รวมทั้ง การหาจุดเน้นของพื้นที่แต่ละจังหวัดหรือภูมิภาคซึ่งมีลักษณะเฉพาะ เช่น ต่อยอดวัฒนธรรมประเพณี เน้นการทำงานที่ระดับอำเภอ และจังหวัดที่มีความพร้อม โดยเป้าหมายคือ กลไกจังหวัดที่เข้มแข็งในอนาคต 10ปีข้างหน้า

นายธีระกล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้ทบทวนคุณค่าองค์กร โดยมีการแลกเปลี่ยนและรับฟังข้อเสนอจากคนรุ่นใหม่ จึงได้ข้อสรุปใหม่ คือ “พลังเครือข่าย สานสุขทั่วไทย ปลอดเหล้า ปลอดภัย สร้างวิถีใหม่ ลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อสังคมเป็นสุข” เป็นการเพิ่มเติมบทบาทหน้าที่จากเดิมเป็นเรื่อง “ปลอดเหล้าปลอดภัย” ได้เพิ่มเป็น “สร้างวิถีใหม่ ลดปัจจัยเสี่ยง” หรือเป็นการแสดงให้เห็นว่าองค์กรได้ขยับจากประเด็นเฉพาะแอลกอฮอล์ มาสู่ปัจจัยสร้างเสริม และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ” แล้ว

นอกจากนั้น ได้ทบทวนวัฒนธรรมองค์กรเพื่อย้ำถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งสรุปเป็นหัวข้อได้ 5 ข้อ หลัก คือ            

1.เราเป็นองค์กรประสานงานความร่วมมือ จึงต้องยืดหยุ่นในวิธีการเพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงใจของหน่วยงานที่เราไปทำงานด้วย (รวมทั้งยืดหยุ่นในทำงานของเจ้าหน้าที่โดยถือว่าทุกคนต้องรับผิดชอบงานตนเองจริง หากเกิดกรณีไม่ส่งผลงานหรือการทำงานไม่บรรลุเป้าหมาย และไม่ใช่ยืดหยุ่นโดยไม่มีเหตุผลที่ฟังได้)

2.เน้นฝึกการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ ได้แก่ รู้ทันอารมณ์ความคิด รู้วิธีการร้องขอ รู้ความต้องการที่แท้จริง ไม่เริ่มต้นที่อารมณ์ แต่เริ่มต้นที่การอธิบายเหตุการณ์ เพราะองค์กรเรามีขนาดใหญ่ขอบเขตทั่วประเทศ มียุทธศาสตร์หลายมิติ มีเรื่องมากมายที่เกิดขึ้น (ต้องระวังยามศึกเรารบ ยามสงบเรารบกันเอง ความเข้าใจกันเรื่องการสื่อสารจึงสำคัญที่สุด)

3.เรียนรู้ตลอดชีวิต รักการเรียนรู้ และเชื่อมั่นว่าเราเติบโตและมั่นคงจากการที่เราเรียนรู้ ไม่ใช่น้ำเต็มแก้ว เชื่อมั่นในตัวเองโดยไม่ฟังใคร รับฟังแล้วไตร่ตรอง (เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ความสุขความสำเร็จไม่ใช่เพียงเงินที่ได้มาเพื่อยังชีพเพราะไม่ได้ร่ำรวย แต่มีความภูมิใจที่ได้เรียนรู้และความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น สะสมเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้)

4.ความสัมพันธ์ร่วมกันในองค์กร “แบบพี่น้อง” แต่ต้องเน้นให้เกิดความเป็นมืออาชีพ ความเป็นทีม (ไม่สุกเอาเผากิน, ไม่เกิดปัญหาซ้ำเดิม , ให้อภัยกันแล้วพร้อมไปต่อ)

5.การวางแผน การออกแบบการดำเนินงาน (PAR) เน้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไม่สั่งการ แต่รับฟังเหตุผล มีการ AAR ทุกครั้ง และเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ (แต่ต้องมีการจัดระบบพี่สอนน้อง การสื่อสารให้เข้าใจองค์กร ไม่ปล่อยให้น้องใหม่เคว้งคว้างหาทางเอาเอง)

ทั้งนี้ วัฒนธรรมองค์กรที่ผ่านมาจะเน้นสิ่งที่เป็นอยู่ แต่การเสนอวัฒนธรรมในครั้งนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ คือการกำหนดวัฒนธรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้น ตามคุณลักษณะขององค์กรที่เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร และเป็นองค์กรประสานความร่วมมือ เพื่อหวังว่าความสัมพันธ์ที่เรามองไม่เห็นนี้จะช่วยให้องค์กรส่งต่อคุณค่าและผลงานไปสู่คนรุ่นใหม่ที่จะมาร่วมงานและสืบทอดอุดมการณ์ต่อได้

ท้ายสุด ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนค้นหาความใหม่ที่จะต่อยอดจากงานที่ทำ โดยมีข้อสรุป ได้แก่ ) การใช้คำว่า “นวัตกรรม” ภายในองค์กรเพื่อท้าทายให้เกิดการแข่งขันกับตัวเอง ไม่ทำแต่เรื่องซ้ำเดิม 2)การเสริมพลังให้กับผู้ประสานงานรุ่นเดิมและรุ่นใหม่ผ่านการจัดการอบรมแบบ Academy ซึ่งเราสามารถทำได้ 3)การมองเป้าหมายที่ “คนที่ไม่ดื่ม” จะมีส่วนร่วมในรูปแบบการรณรงค์ได้อย่างไร รวมทั้ง 4) การใช้ศิลปะ ประเพณี สานศิลป์ในพื้นที่ภูมิภาคที่จะมาเสริมพลังความหวังของสังคมได้อย่างไร หมายเหตุ : ในปี 2566 มีวาระสำคัญที่เป็นการครบรอบ 15ปี พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีการวางแผนที่จะรณรงค์สร้างความตระหนักร่วมกันตลอดทั้งปี และโอกาสครบรอบ 20ปี เครือข่ายงดเหล้า ที่จะเป็นหมุดหมายขององค์กรที่เดินทางมาถึงทศวรรตที่ 2 ซึ่งได้ออกแบบแนวทาง ได้แก่ การทำหนังสือบันทึกเรื่องราว , การจัดงานมหกรรม 20ปี การจัดเวทีย่อยๆ ของเยาวชน และงานประเพณี และชมรมคนหัวใจเพชร เป็นต้น

นักสื่อสาร องค์กรสุขภาวะ