วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เครือข่ายงดเหล้าจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับเจ้าคณะอำเภอบึงโขงหลง จัดประชุมหารือกับผู้นำชุมชน ตัวแทนชุมชน 3 ชุมชน ในอำเภอบึงโขงหลง ได้แก่ หมู่ 2 บ้านโนนสว่าง , หมู่ 13 บ้านสว่างพัฒนา , หมู่ 9 บ้านสระแก้ว ซึ่งทั้ง 3 ชุมชนได้ร่วมวงพูดคุยกัน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบุญประเพณีปลอดเหล้า รวมไปถึงการหามาตรการหรือกติกาชุมชน เพื่อควบคุมให้ชุมชนลดปัจจัยเสี่ยงในด้านต่างๆ ให้เกิดความร่วมมือในการรักษาธรรมเนียมปฏิบัติ การแบ่งบทบาทหน้าที่ในการเป็นตัวแทนชุมชน และการรับรู้กฎหมายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย ก็เป็นข้อกฎหมายที่จำเป็นต้องรับรู้และบังคับใช้ในชุมชน
พระครูสุตวรธรรมพินิจ เจ้าอาวาสวัดศิริมงคลวราราม รองเจ้าคณะอำเภอบึงโขงหลง
กล่าวว่า เรื่องรณรงค์งานบุญปลอดเหล้าในชุมชน ทั้งงานบุญ งานศพ หรืองานอื่นๆ มีต้นทุนอยู่แล้ว ซึ่งงานเหล่านี้ มี 2 ส่วน คือ
1.ประเพณีที่มีวัดเป็นจุดศูนย์กลาง เช่น งานกฐิน งานบุญมหาชาติ(บุญเผวด) งานสงกรานต์ งานลอยกระทง งานบุญผ้าป่า งานบุญกุ้มข้าว เป็นต้น งานเหล่านี้ที่จัดที่วัด เราสามารถควบคุมได้ค่อนข้างดี ชุมชนส่วนมากเข้าใจกติกา
2. งานนอกวัด เช่น งานศพ งานบวช งานแต่ง งานเลี้ยงฉลองต่างๆ พวกนี้ควบคุมได้ราว 80-90 % และโดยส่วนมาก งานที่จัดมีเหล้า คืองานของคนมีเงิน งานที่มีญาติมาจากต่างถิ่น มีหน้ามีตา เขาก็จะไม่ได้สนใจกติกาชุมชน
ในชุมชนคุณธรรมที่พระครูสุตวรธรรมพินิจขับเคลื่อนมาหลายปี ตอนนี้อยู่ตัว แต่ไม่ถึง 100% งานบุญในวัดไม่มี 99% ได้ ที่มีก็ดื่มและแอบนำมาจากข้างนอก ถ้าเห็นก็ว่ากล่าวตักเตือนกัน มีการรณรงค์กันมา จนไม่มีการดื่ม ขายเหล้าในวัด แม้แต่ปาลูกโป่ง เกมการพนันก็ไม่ให้มี มีมาตรการเข้มงวดพอสมควร และงานที่ทำได้ส่วนใหญ่ จะเป็น “งานศพปลอดเหล้า”
สำหรับการดำเนินงานของแต่ละชุมชนนั้น เกิดจาการที่เข้าถึงข้อมูลแตกต่างกัน การรณรงค์ก็ต่างกัน วิธีการขับเคลื่อน ความเข้มงวด ก็ต่างกัน ดังนั้น การสร้างการรับรู้ การสร้างกระแส สร้างความตระหนักรู้จึงสำคัญ เริ่มที่ชุมชน ผู้นำชุมชนก่อนเลย
ในเวทีได้มีการแบ่งกลุ่ม ชวนสะท้อนสิ่งที่ชุมชนของแต่ละที่ได้ทำมา และชวนกันหารือต่อถึงกติกาชุมชน ที่อยากนำมาเพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ผู้นำและตัวแทนทั้ง 3 ชุมชน ก็ได้แลกเปลี่ยน นำเสนอ สิ่งที่ทำและจะต่อยอดต่อไปในส่วนของรองเจ้าคณะอำเภอ ก็ได้มีการรับรองและยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือในหลายด้าน ที่เกี่ยวข้องกับงานบุญประเพณีที่วัดและชุมชนต้องทำร่วมกัน
นายศัตรูพ่าย คชราช ผู้ประสานงานเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า “จะมีการสนับสนุนกิจกรรมและร่วมขับเคลื่อนงานบุญปลอดเหล้าร่วมกับชุมชน โดยจะเน้นให้ความรู้ความเข้าใจ ออกแบบกติกาเพื่อสื่อสารต่อในชุมชน และสนับสนุนสื่อรณรงค์ รวมไปถึงกิจกรรมหลายๆกิจกรรมในภายภาคหน้า สำหรับ 3 ชุมชนนี้ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่น และเพื่อขยายผลขึ้นสู่ระดับตำบลและอำเภอต่อไป”
ภาพ/ข่าว : แผนงานนโยบายสาธารณะ เครือข่ายงดเหล้าภาคอีสานตอนบน