สคล. ร่วมปกป้องประชาชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยการหนุนเสริมศักยภาพแกนนำเยาวชนเพื่อให้รู้ทันธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จัดอบรมรู้เท่าทันการตลาดธุรกิจแอลกอฮอล์และเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมาย ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรม เอบีน่า เฮ้าส์ หลักสี่ กรุงเทพฯ โดยผู้เข้าอบรมคือเครือข่ายเยาวชน Y-SDN จำนวน 60 คนจากทั่วประเทศ

            ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยมีเจตนารมณ์ประการหนึ่งคือ ลดปัญหาและผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย อย่างไรก็ตามพบว่าเยาวชนเป็นกลุ่มเสี่ยงในการทำการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยภาคธุรกิจมักทำการตลาดโดยใช้ตราเสมือนเช่น น้ำดื่ม หรือให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านดนตรีและกีฬา ซึ่งทำให้เยาวชนคุ้นเคยกับตราเสมือนดังกล่าวและจะนำเยาวชนไปสู่การดื่มในที่สุด ผลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าประชาชนร้อยละ 20.6 พบเห็นบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สนับสนุนทีมและสนับสนุนแข่งขันกีฬา ร้อยละ 17.0 ของประชาชนพบเห็นการสนับสนุนงานเทศกาล ดนตรีและคอนเสิร์ต และประชาชนร้อยละ 14.7 พบเห็นการจำหน่ายขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็ก/เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี

          นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า แม้จะมีกฎหมายที่ปกป้องเยาวชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่อัตราการดื่มของเยาวชนยังเพิ่มขึ้น เช่นผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ของวัยต่างๆ ลดลง ยกเว้นในกลุ่มเยาวชน หรือกลุ่มอายุ 15-24 ปีที่มีอัตราการดื่มเพิ่มขึ้น จากดื่มร้อยละ 33.9 เป็น 34.7 ของจำนวนประชากรในกลุ่มอายุ 15-24 ปีนี้ ดังนั้น สคล. จึงจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชน เช่น SDN Futsal No-L การสร้างเครือข่ายผู้ฝึกสอนกีฬาเพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่เยาวชน การสร้างเครือข่ายเยาวชน Y-SDN เป็นต้น

          ดร.เภสัชกรหญิงอรทัย วลีวงศ์ นักวิจัยของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงมากและใช้งบลงทุนในการทำการตลาดและโฆษณามหาศาลในแต่ละปี ทั้งการโฆษณาในช่องทางดั้งเดิมและช่องทางดิจิตอลและสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งทางตรง ทางอ้อมและการโฆษณาแฝง ตลอดจนการจัดกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) องค์กรอนามัยโลกแนะนำประเทศต่างๆ ดำเนินนโยบาย SAFER ซึ่งเป็นกรอบการควบคุมปัญหาที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมาตรการสำคัญในการห้ามกิจกรรมการตลาดด้วย ประเทศไทยควรต้องเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องและจัดให้มีระบบเฝ้าระวังการฝ่าฝืนกฎหมายโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและเยาวชน

          สคล.จัดอบรมรู้เท่าทันการตลาดธุรกิจแอลกอฮอล์และเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมาย ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรม เอบีน่า เฮ้าส์ หลักสี่ กรุงเทพฯ โดยผู้เข้าอบรมคือเครือข่ายเยาวชน Y-SDN จำนวน 60 คนจากทั่วประเทศ โดยนายสุวรรณ์กิตติ์ บุญแท้ ผู้ประสานงานโครงการเฝ้าระวังและกระตุ้นการบังคับใช้กฎหมาย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า การจัดอบรมในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้แกนนำเยาวชนมีความรู้ในเรื่องการทำการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสามารถเฝ้าระวังการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยแกนนำเยาวชนนี้จะช่วยปกป้องเพื่อนและเยาวชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

          นายธีระเทพ จิตหลัง เครือข่ายเยาวชน Y-SDN กรุงเทพ กล่าวว่า การได้ร่วมอบรมในครั้งนี้ ทำให้เชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองและเพื่อนๆ ร่วมกันผลักดันมากขึ้น โดยทำให้ได้ความรู้และแนวทางปฏิบัติในการทำงานด้านการเฝ้าระวังการกระทำผิดตามกฎหมาย และแนวทางในการปกป้องเพื่อนๆ จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

กองบรรณาธิการ SDNThailand