เมื่อวันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรงดเหล้า หรือ SDN ได้มีโอกาสนำพาคณะดูงานชาวต่างชาติ จาก The Promotion of Family Health Association (PFHA) ประเทศลาว 2 ท่าน และ Research and Training Centre for Community Delelopment (RTCCD) ประเทศเวียดนาม 2 ท่าน ลงพื้นที่ศึกษาดูงานกิจกรรมเยาวชนสร้างสรรค์ และการดำเนินงานชุมชนคนสู้เหล้า ณ จังหวัดสมุทรปราการ
ท่ามกลางความสนุกสนานเป็นกันเองของผู้มาเยือนทั้ง 4 ท่าน โดยสถานที่แรกซึ่งเหล่าผู้มาเยือนจากแดนไกลได้ไปดูงาน ก็คือศูนย์ To Be Number One บางจาก อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ของ ”ครูเจี๊ยบ” ไพเราะ แจ่มจักษุ ที่เป็นเหมือนศูนย์รวมใจของเด็กๆ กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ซึ่งแต่ละวัน ได้เปิดพื้นที่รับเด็กเยาวชนคนบางจากให้มาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เสมือนเป็นครอบครัวใหญ่ ที่มีแต่ความอบอุ่นให้แก่กันทุกวัน ทั้งนี้ ครูเจี๊ยบเล่าว่า เด็กเยาวชนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นหรือเคยเป็นเยาวชนกลุ่มเสี่ยง ที่ครูเจี๊ยบได้ช่วยฉุดดึงขึ้นมาจากก้นบึ้งของอบายมุข ให้กลับมาสู่จุดที่ควรจะเป็น
โดยเด็กแต่ละคนจะมีความแก่น เฟี้ยว เฮฮา ในแบบฉบับของตน และทุกคนล้วนแต่มีความสามารถ ความถนัดเฉพาะทาง ที่แตกต่างกันไป ซึ่งความเข้าใจของผู้ใหญ่ใจดีอย่างครูเจี๊ยบต่อเยาวชนกลุ่มนี้ ทำให้พวกเขาได้กลับมามีที่ยืนในสังคมอย่างผ่าเผยอีกครั้ง พร้อมกับนำเสนอสิ่งที่ตนเองโปรดปรานได้อย่างภาคภูมิใจ รังสรรค์ self-esteem ให้เกิดขึ้นกับพวกเขาอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เหล่าเยาวชนทางศูนย์ฯ ได้สาธิตวิธีการทำเข็มกลัด การร้อยลูกปัด การวาดภาพ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผองหมู่เยาวชนคนวัยใสมักจะนำไปร่วมในงานอีเว้นต์ต่างๆ ในจังหวัดสมุทรปราการ ให้กับเพื่อนจากต่างแดนได้รับชมอีกด้วย จากนั้น ครูเจี๊ยบและเด็กๆ ได้พาเพื่อน
ชาวอินเตอร์ไปเยี่ยมชมลานสเก๊ตบอร์ดของ “พี่เพชร” วายุ จิตรฐิติธรรม หนึ่งในแกนนำคนทำกิจกรรมสร้างสรรค์ของชุมชนบางกระเจ้า ที่ได้แปลงลานหน้าบ้านของตนให้กลายเป็นลานสเก๊ต เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีพื้นที่ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ โดยที่ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า เหล่าเพื่อนต่างชาติ ต่างภาษา ก็ได้มีโอกาสทดลองเซิร์ฟสเก๊ตด้วยอย่างครื้นเครง แม้จะมีล้มบ้าง ลุกบ้าง แต่ก็ได้รับความสนุกสนานกันอย่างเต็มที่ เรียกเสียงหัวเราะให้ดังก้องกังวานไปถ้วนทั่วคุ้งบางกระเจ้าเลยทีเดียว ช่วงบ่าย ผองหมู่คณะดูงาน
ได้เปลี่ยนบรรยากาศไปเยี่ยมชมการดำเนินงานในแบบฉบับชุมชน (Community Base) กันบ้าง ที่ศูนย์วิสาหกิจชุมชน กลุ่มกะปิคลองด่านชุมชน 3 อำเภอบางบ่อ โดยมีพี่ขวัญเมือง อยู่นาน แกนนำประชาคมงดเหล้าจังหวัดสมุทรปราการ ให้การต้องรับอย่างอบอุ่น ด้วยข้าวคลุกกะปิแสนอร่อยล้ำ ซึ่งกะปิที่ใช้ทำนี้ถือเป็นของดีในพื้นที่ด้วย เนื่องจากชุมชนคลองด่านอยู่ติดกับทะเล จึงทำให้สามารถออกหากุ้งหอยปูปลาได้โดยง่าย และกุ้งเคอย สัตว์น้ำตัวจิ๋ว ก็ถือเป็นวัตถุดิบสำคัญ ที่จะนำมาผลิตเป็นกะปิแสนอร่อย พี่ขวัญเมืองเล่าให้กับทีมศึกษาดูงานได้ฟังว่า กะปินี้เกิดจากการรวมกลุ่มกันของชาวประมงและชาวบ้านในชุมชนที่ได้ปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษา โดยใช้การประกอบสัมมาชีพร่วมกันเป็นแรงผลักดันไม่ให้หวนกลับไปดื่ม และยังเป็นการสร้างรายได้งามๆ ให้กับผู้คนเหล่านี้ด้วย เนื่องจากกะปิของชาวคลองด่านแห่งนี้ ได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับจังหวัด ที่ชื่อชั้นระบือลั่นทะยานไกลไปถึงระดับประเทศ กลายเป็นของขึ้นห้างหรูๆ ไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้คนงดเหล้าทุกผู้ทุกนามได้ประจักษ์แก่ตาว่า การงดเหล้าแล้วมาประกอบอาชีพอย่างเป็นงานเป้นการนั้น นอกจากจะทำให้มีเงินเหลือเก็บจากที่ไม่ต้องไปจ่ายเป็นค่าเหล้าแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้จากการทำงานขึ้นมาอีกทางหนึ่งด้วย เรียกว่าเลิกเหล้าทั้งที มีแต่ความรวยพุ่งเข้าใส่แบบเต็มๆ
นอกจากกะปิแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่น่าลิ้มลองอีกด้วย เช่น ผงโรยข้าว 4 รสให้เลือกสรร ทั้งรสหมาล่า วาซาบิ ต้มยำ และฟรุตตี้ ที่ล้วนแต่ยั่วน้ำลายผู้พบเจอให้สอได้ทั้งสิ้น รวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ เช่น ปลาตากแห้ง ซึ่งผู้มาเยือนจากแดนไกลก็ได้ทำการอุดหนุนชาวบ้าน นำผลิตภัณฑ์อร่อยๆ เหล่านี้กลับบ้านเกิดเมืองนอนของตนไปฝากญาติสนิทมิตรสหายด้วย นอกเหนือไปจากของกินยั่วใจ ชาวชุมชนคลองด่าน ยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ชาวบ้านจะพานักท่องเที่ยวล่องเรือเก็บขยะ เพื่อลดมลภาวะ และเพิ่มโอกาสที่สัตว์น้ำตัวเล็กจิ๋วอย่างกุ้งเคอย จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถขยายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ เพื่อให้ชาวประมงได้นำมาทำกะปิอร่อยๆ เป็นของดีในพื้นที่แห่งนี้ได้สืบไป การทำงานในชุมชนคลองด่านนี้ ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบของพลังขับเคลื่อนทางสังคม (Social Movement) ที่ขยับโดยชาวบ้าน และก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมไปสู่พื้นที่อื่นๆ
โดยไม่ต้องอาศัยการสั่งการลงมาจากเบื้องบน ซึ่งผองหมู่ชาวต่างชาติล้วนแต่ชื่นชมในความยอดเยี่ยมของชาวชุมชนคลองด่านทุกคน สำหรับภาพรวมของการมาเยือนดินแดนแห่งพระสมุทรเจดีย์ในครั้งนี้ สิ่งที่ผู้มาเยือนจากแดนไกลสนใจเป็นพิเศษคือ การดึงเยาวชนกลุ่มเสี่ยงให้หลุดพ้นจากพิษภัยของอบายมุข โดยใช้พื้นที่กลางเป็นศูนย์รวมใจ พร้อมกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เด็กแต่ละคนชื่นชอบ ทำให้เกิดการค้นพบตนเอง เห็นคุณค่าในตนเอง และการขับเคลื่อนงานโดยชาวบ้านในชุมชน เพื่อคนในชุมชนด้วยกันเอง โดยเฉพาะประเด็นหลังซึ่งถือว่าโดนใจพวกเขามาก เนื่องจากเป็นการทำงานโดยภาคประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง และก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากกับชุมชน โดยกล่าวว่าความรู้ที่ได้เหล่านี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ประเทศของตนเองได้ พร้อมกล่าวขอบคุณเจ้าของพื้นที่ ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ตักตวงความรู้อย่างเต็มที่ด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดีตลอดทั้งวัน ก่อนออกเดินทางไปเยี่ยมชมพื้นที่อื่นต่อไปอย่างอิ่มอกอิ่มใจ