จากงานศพปลอดเหล้า สู่งานบวชสร้างสุข ปลอดเหล้า วัดชนาธิปเฉลิม พระอารามหลวง จ.สตูล

บวชสร้างสุข บวชวิถีใหม่ยึดพระธรรมวินัย เรียบง่าย ประหยัด ปลอดเหล้า ปลอดภัย ไกลโควิด = ได้บุญเต็มร้อย แนวคิดที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบัน จากการร่วมมือกันของ เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคม มูลนิธิ สังฆะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ได้ร่วมกันผลักดันเชิงนโยบายของโครงการ บวชสร้างสุข ที่เดิมงานบวชที่พบเห็นในสังคมปัจจุบัน เจ้าภาพหลายคนกำลังหลงทาง จัดงานแบบฟุ้มเฟือย มีการนำเอาสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานบวช และขัดต่อหลักศาสนาเข้า เช่นการนำเอาบายมุข เหล้าเบียร์เข้ามาในงาน จัดเลี้ยงฉลองด้วยอาหารหลายอย่าง มหรสพใหญ่โต ทำต่อๆกันมาจนอ้างว่าเป็นประเพณี กลายเป็นค่านิยมที่กดทับแก่นแท้ของการบวช ภายในงานเต็บไปด้วยอบายมุข ผู้คนทำผิดศีลธรรมดังปรากฎในสื่อสังคมปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้เองงานบวช แทนที่จะเป็นงานบุญ กลับเป็นงานบาปที่ก่อปัญหา และปัจจัยเสี่ยงต่างๆภายในชุมชน

วัดชนาธิปเฉลิม อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล เป็นอีกหนึ่งวัดที่เข้าร่วมโครงการ ในการรรณรงค์ งานบวชสร้างสุข ได้ผลักดันขยายผลการขับเคลื่อนต่อ จากต้นทุนเดิม คือ ความเป็นวัดปลอดเหล้า ปลอดปัจจัยเสี่ยง และประสบการณ์จากการขับเคลื่อนงานศพปลอดเหล้า ได้ขยายผลมาสู่ประเด็นงานบวชสร้างสุข ได้รับการตอบรับจากเจ้าภาพเป็นอย่างดี จนเป็นต้นแบบให้กับวัดอื่นๆ ในพื้นที่อำเภอเมืองสตูล 

พระครูสุนทรธรรมนิเทศก์ ผจล.วัดชนาธิปเฉลิม ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุข จ.สตูล ให้สัมภาษณ์ว่า การรณรงค์สื่อสาร แนวคิด “งานบวชสร้างสุข” วัดชนาธิปเฉลิม อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล เอง ได้เน้นสร้างความเข้าใจ ทั้งต่อพระเอง และญาติโยมเอง โดยทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในงานบวชจะต้องเข้าใจและเห็นตรงกัน ถึงความถูกต้อง ความเหมาะสมในการจัดทำพิธีทางศาสนา  และด้วยที่วัดชนาธิปเฉลิมนี้เอง เป็นพระอารามหลวง การจัดกิจกรรมจึงไม่ค่อยมีความหวือหวา หรือเอิกเริกมากมายอยู่แล้ว ด้วยความเกรงใจต่อความเป็นพระอารามหลวง และผู้คนส่วนใหญ่เป็นคนชนชั้นกลาง โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะมักจัดงานแบบเรียบง่ายอยู่แล้ว ไม่ฟุ้งเฟื้อทำแต่พอดี นิยมจัดภายในวัด จึงไม่ค่อยมีเรื่องของ อบายมุข หรือ มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งวัดเป็นวัดที่เข้าร่วมโครงการวัดปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ ปลอดการพนันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และในด้านงานบุญประเพณี ทางวัดเองก็รณรงค์เรื่องของงานศพปลอดเหล้า 

พอมาในปีนี้มาทำประเด็นในเรื่องของงานบวช ก็ ถือเป็นการขยายผลงานเดิม เราได้เข้าไปพูดคุยสร้างความเข้าใจ ถึง การปรับค่านิยมที่มีการบวชแบบใหญ่โต ลงทุนมากมาย มีการเลี้ยงฉลองสนุกสนาน มาจัดแบบเรียบง่าย และถูกต้องตามพระธรรมวินัย ไม่มีอบายมุข ไม่มีมหรสพใหญ่โต แต่ยังคงอนุโลมคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของท้องถิ่นอยู่ คือ อนุญาตให้มีกลองยาว ดนตรีพื้นบ้าน เข้ามามีส่วนร่วม มีบทบาท ในงานพิธีทางศาสนา

และรอบๆวัดเองมีวงกลองยาวที่ชาวบ้านได้รวมกลุ่มกัน และกลุ่มชมรมผู้สูงอายุได้รวมกลุ่มกันเป็นนางรำอาสา อาสารำตามงานพิธี งานประเพณีสำคัญต่าง ๆ เจ้าภาพที่มาจัดงานบวชที่วัดเอง ที่มีกำลัง อยากจัดเลี้ยงฉลอง มีมหรสพดนตรีสร้างความบันเทิงใจ ก็ได้กลุ่มชาวบ้านเข้ามาช่วย ค่าใช้จ่ายในการจ้างกลองยาวแต่ละครั้งอยู่ที่ 3,000 – 4,000 บาท ส่วนนางรำก็มารำให้ฟรี หรือแล้วแต่จะให้ อาตมาภาพเองมองว่า เป็นสิ่งที่ดี ที่เราได้ส่งเสริมวัฒนธรรมของชุมชน และได้ส่งเสริมรายได้ภายในชุมชนได้ อีกทั้งยังป้องกันการแทรกแซงมาซึ่งวัฒนธรรมที่ผิด ๆ และปะปนไปด้วยอบายมุข

พระครูสุนทรธรรมนิเทศก์ ได้เล่าต่ออีกว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่ทางวัดสามารถขับเคลื่อนไปได้คือ ทางวัด ได้มีความเข้มงวดในการคัดกรองประวัติของผู้ที่จะมาบวช และทางเจ้าอาวาส พระครูวิมลธรรมรส เข้มงวดและเด็ดขาดต่อผู้ที่จะมาบวช งานไหนที่มีการดื่มเหล้า แห่นาคเข้ามา ทันจะไม่อนุญาตให้บวช จนกว่าจะหายเมา จนชาวบ้านที่จะมาบวชเองได้เข้าใจและรู้กัน ว่าเมื่อจะมาบวชที่นี้ อะไรที่ทำได้ทำไม่ได้ ทั้งนี้เป็นการทำเพื่อตัวญาติโยมและชุมชนเอง ชาวบ้านจึงเข้าใจและให้ความร่วมมือ 

จากการรณรงค์สื่อสาร ก็ได้มีชุมชนคุ้มวัดอื่น บริเวรรอบๆ วัดชนาธิปเฉลิม ได้เห็นคุณค่า และนำแนวคิดรูปแบบ การจัดงานบวชไปปรับใช้ ทำให้เกิดสังคมสุขภาวะ บวชปลอดเหล้า ปลอดปัจจัยเสี่ยง ในพื้นที่ อำเภอเมืองสตูล