‘ธีระ วัชรปราณี’ ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายงดเหล้า นำแกนนำชุมชนงดเหล้ากรุงเทพฯ เข้ารับโล่ องค์กรผลงานดีเด่นด้านการป้องกันควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ณ หอศิลปวัฒนธรรม กทม.

วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) นำแกนนำชุมชนคนสู้เหล้ากรุงเทพมหานคร เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณ องค์กรผลงานดีเด่นด้านการป้องกันและควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ณ หอศิลปวัฒนธรรม เนื่องในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ปี 2565 จัดโดยสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โดยมี พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นผู้มอบในครั้งนี้   

นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้เล่าว่า กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ใหญ่ มีพื้นที่ถึง 50 เขต ทางเครือข่ายองค์กรงดเหล้าของเรา ถือว่าพื้นที่นี้เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่มีความสำคัญ เราแบ่งประชากรออกเป็น 3-4 กลุ่ม เช่นกลุ่มที่อยู่ตึกสูง กลุ่มที่อยู่บ้านเดี่ยว กลุ่มพวกนี้จะไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องการรณรงค์ เพราะเราสามารถขับเคลื่อนโดยใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาช่วย เพราะกลุ่มเหล่านี้ถือว่ายังเป็นคนชนชั้นกลาง แต่ถ้าเกิดเป็นกลุ่มที่เป็นชุมชนแออัด หรือ ชุมชนดั้งเดิม ชุมชนเกษตรกรที่อยู่รอบนอก เราจะเข้าไปครับเพื่อนเข้าไปรณรงค์คนกลุ่มนี้ โดยใช้กลไกของแกนนำชุมชน อย่างเช่น ที่หลักสี่ ที่ลาดพร้าว หรือทุ่งครุ เราก็พยายามเข้าไปสร้างชมรมคนหัวใจเพชรขึ้นมา คือการรวมกลุ่มคนที่มีความหนักแน่นสามารถเลิกเหล้าได้ แต่ก็ถือว่ายากเพราะคนกรุงเทพฯไม่เหมือนกับคนต่างจังหวัด แต่ด้วยแกนนำของเรามีการทำงานอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถขับเคลื่อนงานไปได้

โดยนอกเหนือจากนี้เราเองก็ได้ทำเรื่องของการเฝ้าระวัง พวกบรรดาถนนร้านค้าต่างๆว่ามีการทำผิดกฎหมายไหม มีลักษณะที่เข้าข่ายความผิดตามพรบควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเปล่า เป็นต้น โดยเราก็จะทำงานเชื่อมกับทาง กทม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักอนามัย ที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ และอีกสิ่งหนึ่งที่เรากำลังร่วมกันขับเคลื่อนที่เชื่อว่าจะเกิดเป็นรูปธรรมมากที่สุด คือ การทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และนี่คือบทบาทของเรา ด้วยการขับเคลื่อนงานทั้งหมดนี้จะขับเคลื่อนไปได้นั้น เรามีความคิดว่าหัวใจสำคัญนั้นอยู่ที่แกนนำชุมชน

ด้าน นางดวงเดือน อินธนู แกนนำชุมชนคนสู้เหล้า ชุมชนการเคหะทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ เล่าว่า เดิมพี่เป็นกรรมการของชุมชนแล้วเมื่อก่อนตัวพี่เองและสามีก็เคยดื่มเหล้ามาก่อน เวลาเลิกงานก็จะออกไปกินเหล้ากับเพื่อน เรียนอยู่มาวันหนึ่งได้หันกลับไปมองที่ลูก ที่รอพ่อแม่กลับบ้านทุกวัน รู้สึกสงสารและคิดขึ้นมาได้ และอีกแง่หนึ่งเราเป็นกรรมการชุมชนก็อยากเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชน จึงตัดสินใจร่วมมือกับทางเครือข่ายงดเหล้าเข้ามาขับเคลื่อนในประเด็นนี้ แล้วก็เป็นจุดเปลี่ยนให้พี่และสามีเลิกดื่มเหล้าหันมาสนใจสุขภาพของตนเองมากขึ้น แล้วตัวเองเลิกได้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีก็เลยชักชวนชาวบ้านเลิกเหล้า โดยส่วนตัวคิดว่า ถือว่าการเปลี่ยนแปลงหรือชักชวนใครให้เลิกเหล้าได้มันเป็นบุญใหญ่ เป็นบุญใหญ่ทั้งกับตัวพี่เองและตัวของเขาเอง เราเองก็จะมีการขับเคลื่อนโดยการเข้าไปพูดคุยแนะนำแนวทางในการเลือกเหล้าและจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชนเพื่อรณรงค์การงดเหล้าในชุมชน และในวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 นี้เองทางชุมชนก็จะมีกิจกรรมวิ่งพักตับ City Run  ส่งเสริมให้คนในชุมชนหันมาดูแลตับของตนเองด้วยการงดเหล้า

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เองเป็นองค์กรภาคประชาสังคม ภายใต้สมาคมเครือข่ายงดเหล้าและลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ(สคล.)  มีภารกิจด้านรณรงค์สร้างกระแส ปรับเปลี่ยนค่านิยมการดื่มแอลกอฮอล์และลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ได้แก่ เหล้า บุหรี่ สารเสพติด การพนัน เป็นต้น การสนับสนุนนโยบายหรือมาตรการเพื่อการปรับสภาพแวดล้อม การประสานให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสร้างภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยงในวัยเด็กและเยาวชน การชวน ช่วย ชม เชียร์ให้บุคคล ลด ละเลิก และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกิดเป็นกลุ่มชมรมจิตอาสา “หัวใจเพชร” รวมทั้ง เป็นพื้นที่บ่มเพาะเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยทำงานอย่างมียุทธศาสาตร์ เน้นการสร้างความร่วมมือ เป็นผู้ประสานพลัง ผู้หนุนเสริม และพร้อมเรียนรู้ปรับตัวยืดหยุ่นก้าวข้ามข้อจำกัดและกรอบความคิดเดิมๆ โดยมีคำขวัญของสำนักงานฯ ว่า “พลังเครือข่าย สานสุขทั่วไทย ปลอดภัย ปลอดเหล้า”

สำนักงานฯ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2546 ได้รับการสนับสนุนจาก “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)”  ให้เป็นภาคีเชิงยุทธศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญ ทั้งระดับบุคคล ชุมชน จังหวัด ประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งมีโครงสร้างเป็นเจ้าหน้าที่องค์กร 2 ระดับ ได้แก่ ระดับประเทศ , ระดับภูมิภาค 9 ศูนย์ภูมิภาค และโครงสร้างเป็นผู้ประสานงานประชาคมจังหวัด และอาสาสมัครในชุมชน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเป้าหมายในระยะ 10 ปี จากนี้ไป ( พ.ศ.2565 – 2574) สำนักงานฯ มุ่งมั่นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดละเลิกการดื่มและการสร้างภูมิคุ้มกันที่จะไม่ดื่มในเด็กเยาวชน พร้อมๆ กับการปรับสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของตนเอง ครอบครัวและสังคม โดยในระยะ 3 ปี (พ.ศ.2565-2567) เน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่ การสร้างคนสร้างทีม การจัดการข้อมูล การใช้ข้อมูล และการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์

ผู้บริหารองค์กร

          เภสัชกร สงกรานต์ ภาคโชคดี      ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า

          นายธีระ วัชระปราณี                ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า

          นายชัยณรงค์ คำแดง                ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า

          นายวิษณุ  ศรีทะวงศ์                ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ ฯ

ผลงานที่เป็นรูปธรรมในสังคมไทยตั้งแต่ตั้งองค์กรปี 2564 เป็นต้นมา  อาทิ งานสร้างกระบวนการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา  งานบุญประเพณีปลอดเหล้า พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  พื้นที่ปลอดเหล้า สงกรานต์ปลอดเหล้า งานศพ งานบวชปลอดเหล้า ชุมชนสู้เหล้า โรงเรียนคำพ่อสอน เป็นต้น ล้วนแต่เป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากขบวนเครือขายงดเหล้าซึ่งประกอบด้วย77 จังหวัดได้ประสานพลังการขับเคลื่อนที่หลากหลายให้เกิดขึ้น มีศูนย์ประสานที่ทำหน้าที่ในการประสาน อำนวยความสะดวก สร้างการเรียนรู้ให้ภาคีด่านหน้าคือประชาคมจังหวัดทุกจังหวัดจะมีผู้ประสานงาน และคณะทำงาน  รวมทั้งกรุงเทพมหานครด้วย ทั้งนี้ สำนักงานฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ 100 ปี คือ การพัฒนาและส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมขับเคลื่อนภารกิจ การต่อยอดขยายผลงานให้มีคุณค่ามูลค่าต่อไป

          สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้ดำเนินการกิจกรรมสนับสนุนในการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณธ์ยาสูบก่อนหน้านั้น ครอบคลุม 102 ชุมชนใน 6 โซนของ กรุงเทพมหานครโดยการประสานความร่วมมือกับผู้ประสานงานโซน และแกนนำชุมชน  มาอย่างต่อเนื่องภายใต้ ยุทธศาสตร์  1) ชุมชนคนสู้เหล้า ชมรมคนหัวใจเพชร งดเหล้าเข้าพรรษา 2) สนับสนุนนโยบาย บังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  3) สนับสนุนความเข้มแข็งประชาคมงดเหล้าจังหวัด และเครือข่ายเยาวชนนักรณรงค์งดเหล้า 4) สนับสนุนการประชาสัมพันธ์ กิจกรรมรณรงค์ สนับสนุนสื่อรณรงค์

ผลงาน/กิจกรรมที่ดำเนินการด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์ยาสูบ ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 – 2565

1.สนับสนุนชุมชนคนสู้เหล้า และรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา 

          สนับสนุนชุมชนในการสร้างกระบวนการเรียนรู้เท่าทันพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น ความรุ่นแรง สุขภาพ เศรษฐกิจ ในชุมชนนำร่อง 12 ชุมชน  ได้แก่ ชุมชนลาดพร้าว 45 เขตห้วยขวาง   ,ชุมชนหลังวัดกลางนา เขตทุ่งครุ ,ชุมชนประชาอุทิศ 43 เขตทุ่งครุ ,ชุมชนตลาดบางเขน เขตหลักสี่ ,ชุมชนเอื้ออาทรหัวหมาก เขตบางกะปิ ,ชุมชนการเคหะ 320 เขตหลักสี่ ,ชุมชนเคหะ 302 เขตหลักสี่ ,ชุมชนหลังแฟลตร่วมพัฒนา เขตหลักสี่,ชุมชนร่วมพัฒนา เขตหลักสี่ ชุมชนอยู่ดีมีสุขร่วมใจ  เขตหลักสี่ ,ชุมชนมิตรประชา เขตหลักสี่ ,ชุมชนสุขเจริญพัฒนา เขตบางกะปิ   และชุมชนภาคีอีกประมาณ  60 ชุมชน

1.1 กิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา 2563-2564

โดยแนวคิดหลักของออกแบบรณรงค์ลด ละ เลิก การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเป้าหมายนักดื่มหน้าเก่า และหน้าใหม่ ซึ่งแยกประเภทตามพฤติกรรมและความถี่ของการบริโภค ได้แก่ ผู้ดื่มเข้าสังคม ผู้ดื่มประจำ และผู้ดื่มหนัก และทำให้เกิดความต่อเนื่อง ภายใต้มาตรการ ชวน ช่วย ชม เชียร์ เชิดชู ให้ผู้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันแรกที่เข้าสมัครเข้าร่วมโครงการไปอย่างน้อย 3 ปี โดยชุมชนเป็นผู้ออกแบบดำเนินการ นอกจากระบบ ชวน ช่วย ชม เชียร์ เชิดชู ซึ่งถือเป็นระบบติดตาม สนับสนุนผู้ดื่มสู่คนเลิกเหล้าโดยชุมชนแล้ว อีกมาตรการของชุมชนคนสู้เหล้า คือ การจัดสภาพแวดล้อมในชุมชนให้เอื้อต่อการเกิดการลด ละ เลิกการดื่มและลดการเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยงระดับครัวเรือน และงานบุญต่างๆ ด้วยการให้ความรู้ การอบรม เชิญชวนเข้าร่วมโครงการ ชวน ช่วย ชม เชียร์ และเชิดชู ยกย่องคนที่สามารถเลิกได้ ซึ่งระหว่างปี 2563-64 ไม่ต่ำกว่าปีละ 190 คน สามารถประหยัดเงินค่าเหล้าได้มากกว่า 6 ล้านบาท  เช่น ปี 2564 เครือข่ายองค์กรงดเหล้า กทม. ได้เชิญชวนคนเข้าร่วมงดเหล้าเข้าพรรษาได้จำนวน 193 คน จาก 12 ชุมชนเป้าหมาย สามารถประหยัดค่าเหล้าได้เฉลี่ย 18,000 บาท/คนในระยะ 3 เดือน มูลค่ารวม 3,474,000 บาท  

นอกนั้น จะมีกิจกรรมอบรมพัฒนาศักยภาพแกนนชุมชน,อบรมพัฒนาศักยภาพคนที่สามารถเลิกเหล้าได้ต่อเนื่อง 3 ปีเป็นจิตอาสานักรณรงค์งดเหล้า,เก็บข้อมูลคัดกรองการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรในชุมชน เมื่อได้ข้อมูลแล้ววางแผนช่วยเหลือสร้างกระบวนการ ชวน ลด ละเลิก ยกย่อง ให้กำลังใจ  ทั้งนี้ ทุกกิจกรรมในพื้นที่ได้ประสานความร่วมมือกับระดับนโยยายเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำงาน

1.2 กิจกรรม 12 ร้านข้าวไข่เจียว “อิ่มสุข”..ราคาแล้วแต่จะจ่าย โดยชุมชนคนสู้เหล้า กทม. ปี 2564 

ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิดที่ผ่านมาทางเครือข่ายงดเหล้า กทม. ได้ปรับรูปแบบการชวนคนงดเหล้าผ่านร้านข้าวไข่เจียว อิ่มสุข แล้วแต่จะจ่าย….ซึ่งได้ระดมทีมจิตอาสา และแกนนำคนงดเหล้า ได้เปิดร้านทำอาหารช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด คนในชุมชน และบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาหารแก่คนทั่วไป จากกิจกรรมเหล่านี้ทำให้คนในชุมชนได้ช่วยเหลือกันและกันในยามวิกฤติ คนที่กักตัวมีแกนนำชุมชน และอาสาสมัครส่งข้าวน้ำ ให้การช่วยเหลือกัน  ในช่วงระยะเวลา 5-6 เดือน ร้านข้าวไข่เจียว อิ่มสุข แล้วแต่จะจ่ายทั้ง 12 ร้าน สามารถผลิตข้าวกล่องรวม 58,272 กล่องช่วยเหลือคนในชุมชน

2. สนับสนุนนโยบายบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

2.1 กิจกรรมการเฝ้าระวังการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ที่ผ่านมาช่วงปี 2563 ได้มีกิจกรรมเฝ้าระวัง On Location เพื่อหาข้อมูลที่ยังเข้าข่ายกระทำความผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขต กมท.ครอบคลุมพื้นที่ 6 โซน และในช่วงสถานการณ์โควิด/มาตรการล็อคดาวน์ ปี 2563 -2565 จึงปรับรูปแบบเป็นการเฝ้าระวัง Online มากขึ้น โดยการเฝ้าระวังเนื้อหาในแอฟฟิเคชั่น Facebook/Tik Tok ที่เกี่ยวกับการโพสต์แสดงสินค้าการชวนเชิญดื่มของบัญชีผู้ใช้ เช่น การเฝ้าระวัง 15 วัน ระหว่างวันที่ 16-30 กันยายน 2564 พบคลิปชวนดื่มมากถึง 816 คลิป เฉลี่ยวันละ 54 คลิป และรณรงค์ให้ความรู้ ในงานเทศกาลประจำปี ลอยกระทง ปีใหม่  สงกรานต์   เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจกฎหมายควบคุมเครื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทำงานอย่างต่อเนื่อง

2.2 กิจกรรมมอบ/ถวายป้าย “วัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมาย”

สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ร่วมกับ สำนักอนามัยกรุงเทพมหนคร สนับสนุน/ถวายป้าย “วัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมาย” ครอบคลุมวัดทั้ง 50 เขตในพื้นที่ กทม.ป้ายขนาด 120 x 60 ชม. จำนวน 500 แผ่น หวังช่วยสังคมโดยรวมตระหนักถึงการ ลด ละ เลิก บุหรี่และแอลกอฮอล์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย ต้านภัยจากโควิด-19  และปฏิบัติตามกฎหมายในสถานที่วัด

มอบถวายเมื่อวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2564 ณ วัดลานบุญวัดหงห์รัตนารามราชวรวิหาร   โดยมีพระเดชพระคุณ พระธรรมวชิรเมธี (มีชัย วีรปญฺโญ) เจ้าคณะภาค 1 เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร ผู้รับมอบพร้อมด้วยคณะสงฆ์ผู้แทนวัดในเขตต่างๆ  มอบถวายโดยนายแพทย์สมชาย ตรีทิพย์สถิต ผอ.สำนักป้องกันยาเสพติดและทีมสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และ เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) 

3. การสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ กิจกรรมรณรงค์ สื่อรณรงค์ต่างๆ

            สำนักงานเครือข่ายงดองค์กรงดเหล้า ภายใต้การสนับสนุนของ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)”  ได้เป็นศูนย์กลางสนับสนุนสื่อรณรงค์ให้ความรู้ เชิญชวน เฝ้าระวังต่างๆ ให้แก่ชุมชน หน่วยงาน เครือข่ายงดเหล้าทั่วประเทศ  แกนนำชุมชนเพื่อเครื่องมือในการทำงานในชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง  มีป้ายแบนเนอร์ สติกเกอร์ คำความต่างๆ  ตามแนวคิดแต่ละปี และสถานการณ์ต่างๆ