พระครูสิทธิพัชรบวร เจ้าคณะอำเภอวิเชียร์บุรี เจ้าอาวาสวัดพุเตยประสิทธิ์ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ รณรงค์ “งานบวชสร้างสุข” เทศนา ให้แง่คิด พร้อมเจริญพร/ชักชวน ให้ชุมชนได้ร่วมใจกันจัดงานบวชแบบเรียบง่าย ยึดพระธรรมวินัย ขอให้คงไว้ซึ่งพิธีการ หรือกิจกรรมทางวัฒนธรรม ที่ดีงามไว้ ส่วนสิ่งไหนที่ผิดหลักศีลธรรม ขัดต่อหลักพุทธศาสนาขออย่าให้นำเข้ามา
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 พระครูสิทธิพัชรบวร เจ้าคณะอำเภอวิเชียร์บุรี เจ้าอาวาสวัดพุเตยประสิทธิ์ จ.เพชรบูรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า วัดพุเตยประสิทธิ์นั้น เป็นอีกหนึ่งวัดที่ประชาชน ใช้จัดกิจกรรมหรือประกอบพิธีการทางศาสนาสำคัญ ๆ โดยเฉพาะงานบวช ส่วนใหญ่ เมื่อบ้านไหนจะบวชลูก บวชหลาน หรือบวชทั่วไปก็จะมาทำพิธีที่วัดพุเตยประสิทธิ์ มากกว่าร้อยงาน เนื่องจากเมื่อก่อนวัดต่าง ๆ ยังไม่ค่อยมีโบสถ์ และพระอุปัชฌาย์เยอะ เหมือนทุกวันนี้
โดยวัตถุประสงค์ ของญาติโยมที่มาบวชส่วนใหญ่ จะมาบวชเพื่อทดแทนคุณพ่อแม่ บางงานบวชเพื่ออุทิศบุญบุญกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งรับวัฒนธรรมมาจากชาวลาว เหตุเพราะชาวพุเตย ส่วนใหญ่นั้นเป็นคนที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวลาว พิธีการ พิธีกรรมก็จะมีความแตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์ เช่น
การบวชเพื่อทดแทนคุณพ่อแม่ โดยส่วนใหญ่จะนิยมจัดงานแบบเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตองอะไรเยอะ ใช้เวลาเพียงวันเดียว โดย จะมีพิธีกรรม คือ พิธีปลงผมนาค เสร็จแล้วก็จะมีพิธีขอขมา หรือ ขออโหสิกรรมพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ ที่เคยล่วงเกินไป ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม โดยจะมีมัคนายกวัด หรือปราชญ์ชุมชน เป็นผู้พาทำพิธี ต่างๆ จากนั้นก็จะมีการเคลื่อนขบวนแห่นาค มีแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ถือไตรครอง ผู้เป็นพ่อถือบาตรและตาลปัตร ด้านข้าง และญาติพี่น้องช่วยกันถือเครื่องอัฐบริขาร เข้าไปในบริเวณโบสถ์ แล้วเดินประทักษิณเวียนขวารอบสีมา เพื่อให้นาคได้มีโอกาสในการทำสมาธิ ในการท่องบทขออุปสมบท (ขอบวช) จึงไม่นิยมให้มีการส่งเสียงดัง รบกวนนาค เหมือนในปัจจุบันนี้
ส่วนการบวชเพื่ออุทิศบุญกุศลให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ตามความเชื่อของชาวลาว ก็จะมีการจัดงานอยู่ 2 วัน โดยวันแรกจะตั้งพิธีที่บ้าน ชาวบ้านเรียกว่า ตั้งกองบวช เพื่อนิมนต์พระสงฆ์ไปกระทำพิธีเจริญพุทธมนต์ และให้ผู้ที่จะบวชและเจ้าภาพได้ทำบุญอุทิศให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วมีการจัดเลี้ยงแขก หรือเพื่อนบ้านที่มาร่วมทำบุญด้วย บางงานก็จะพิธีผูกแขน สู่ขวัญนาคแทรกเข้าไปด้วย ส่วนวันรุ่งขึ้นก็จะดำเนินพิธีไปเหมือน ๆ กันกับการบวชทั่วไป
แต่มาในยุคปัจจุบันนี้ ด้วยกระแสค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปก็มีการเพิ่มเติมเอาสิ่งที่มันไม่เกี่ยวข้องกับงานบวชเข้ามา เช่น การแห่นาค เดิมทีนั้น จะมีการแห่แบบสงบ ๆเรียบง่าย ไม่ฟู่ฟ่า เพื่อให้นาคมีโอกาสได้ทำสมาธิ แต่ปัจจุบันก็มีการนำเอาดนตรี มหรสพเข้ามาร่วมด้วย เสียงดังทั่ววัด ซ้ำร้ายมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยข้ออ้างที่ว่างานบุญทั้งทีต้องสนุกสนาน รื่นเริง มีการจัดงานเลี้ยงอย่างใหญ่โต เชิญแขกญาติผู้ใหญ่ เพื่อนสนิทมาทั่วทุกสารทิศ กลายเป็นค่านิยม ที่เมื่อจะจัดงานบวชจะต้องมีการลงทุนเยอะๆ เพื่อให้ได้บุญเยอะๆ แท้จริงแล้วมันไม่ใช่เลย
พระครูสิทธิพัชรบวร ท่านได้เล่าต่ออีกว่า ตอนนี้ ทางวัดได้เข้าร่วมโครงการ “บวชสร้างสุข” คือการบวชปลอดเหล้าปลอดอบายมุข ยึดหลักพระธรรมวินัย กับทางสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็เลยได้แรงบันดาลใจ เนื่องจากมีเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาทั่วทั้งประเทศร่วมขับเคลื่อนด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วทางวัดพุเตยประสิทธิ์เองก็ส่งเสริมเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็ได้ตัวโครงการนีเข้ามาช่วยเป็นแรงหนุนเสริมให้พระสงฆ์มีเสียงที่ดังขึ้น ก็ได้เทศนา หรือชักชวนโยม ให้เข้าใจหลักการ และแก่นแท้ ของการบวช ในโอกาสต่าง ๆ ที่พอจะประชาสัมพันธ์ได้
แต่ช่วงแรก ๆ นั้นก็ยังยากอยู่ จะบอกจะห้ามได้แค่คนในพื้นที่เทศบาลตำบลพุเตย เท่านั้น ส่วน ผู้ที่อยู่นอกพื้นที่หรือนอกเขตที่มาบวชส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยเห็นด้วยหรือเชื่อฟังเท่าไหร่ จึงจะยกให้วัฒนธรรมการบวชของคนพุเตยที่บวชแบบเรียบง่าย นี่แหล่ะเป็นต้นแบบ ให้ผู้ที่คิดจะบวช ได้เห็นและเข้าใจว่า การบวช มันไม่มีอะไรที่จะต้องทำอะไรยุ่งยากเลย ไม่ต้องลงทุนเยอะ ก็บวชได้ โดยให้ยึดที่เป้าหมาย ว่า เรามาบวชเพื่ออะไร บวชเพื่อใคร เพื่อตนเอง เพื่อพ่อแม่ เพื่อบรรพบุรุษ หรือเพื่อพุทธศาสนา ทำแบบไหนจะเกิดความสุขที่แท้จริง และทำแบบไหนจะเกิดความสุขที่ปนไปด้วยทุกข์ ที่มีปัญหาหลายอย่างตามมามากมาย