คณะสงฆ์อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ลงนามความร่วมมือ (MOU) ผลักดัน “บวชสร้างสุข” ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริม สู่สังคมสุขภาวะ

จากค่านิยมเรื่องการจัดงานบวชในอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ได้เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยง เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  การมีมหรสพ ดนตรีฉลอง มีรถแห่เสียงดัง กระตุ้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เต้นยั่วยุ ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท ความรุ่นแรงฆ่ากันตายในงานบวช  สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายต่อชุมชน ระหว่างชุมชน และสังคม  มีค่าใช้จ่ายมหาศาลในการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ด้วยค่านิยมเชื่อว่าแสดงถึงฐานะทางสังคมของเจ้าภาพ  เกิดหนี้สิน ส่งผลให้เกิดภาพลบต่อเจ้าภาพที่จัดงานแบบเรียบง่าย  ประหยัด ที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยกลับถูกมองว่ายากจน  ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงพระพุทธศาสนาของชาวพุทธในระยะยาว  และส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมอันดีงามของการบวชในสังคมไทย

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 คณะสงฆ์อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ นำโดยพระครูจันทธรรมานุวัตร, ดร เจ้าคณะอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ และเจ้าอธิการแดง ปญฺญาวโร เจ้าคณะตำบลบึงวิชัย ผู้ประสานงานโครงการ บวชสร้างสุข ภาคอีสานตอนบน พื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เปิดเวทีประชุม ชี้แจงความเข้าใจ ขยายแนวคิด บวชสร้างสุข ให้กับ คณะสงฆ์ฝ่ายปกครองในระดับตำบล ทั้ง 17 ตำบล พร้อมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในการ ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะงานบวชสร้างสุข ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และมูลนิธิ สังฆะเพื่อสังคม

เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของคณะสงฆ์อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ในการร่วมกันลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริมให้เกิดขึ้นเป็นสังคมสุขภาวะ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้  ซึ่งถือเป็นโอกาสในการจัดงานบวชแบบเรียบง่ายตามพระธรรมวินัย ป้องกันการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์งานบวชด้วย และเป็นการเอื้ออำนวยให้ลูกหลานชาวพุทธได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาได้ง่ายยิ่งขึ้นตามแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง  จัดงานบวชสร้างสุขแบบ  “บวชวิถีใหม่ ยึดพระธรรมวินัย ห่างไกลอบายมุข ชุมชนอุ่นใจ เรียบง่าย ประหยัด  ปลอดภัย ไกลโควิด” เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการบวชอย่างแท้จริง และเป็นการสร้างวัฒนธรรมวิถีใหม่ให้เกิดขึ้น

โดยในบันทึกความร่วมมือ (MOU)  ที่จะดำเนินการร่วมกัน ดังนี้

ข้อ 1 ให้มีการส่งเสริมสนับสนุนและผลักดันการขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุข “บวชวิถีใหม่ ยึดพระธรรมวินัย ห่างไกลอบายมุข ชุมชนอุ่นใจ เรียบง่าย ประหยัด  ปลอดภัย ไกลโควิด”  ให้มีผลเป็นรูปธรรม เกิดงานบวชสร้างสุขปลอดเหล้า ต้นแบบในพื้นที่อำเภอจังหวัดกาฬสินธุ์

ข้อ 2 ร่วมกันรณรงค์สร้างการสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้ และเข้าใจในการขับเคลื่อนงานบวชสร้างสุข “บวชวิถีใหม่ ยึดพระธรรมวินัย ห่างไกลอบายมุข ชุมชนอุ่นใจ เรียบง่าย ประหยัด  ปลอดภัย ไกลโควิด”  ในวงกว้าง

ข้อ 3 ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกวัดในเขตอำเภอเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ ปฏิบัติตาม มติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 13/2563 มติที่ 351/2563 เรื่อง แนวทางการปฏิบัติวัดปลอดบุหรี่ และปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมาย โดยยึดหลักพุทธธรรม (พรหมวิหาร 4, สังคหวัตถุ 4, สาราณียธรรม 6)

ข้อ 4 ร่วมกันจัดหา บุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ งบประมาณ ให้เพียงพอต่อการขับเคลื่อนนโยบาย โครงการฯหรือกิจกรรม งานบวชสร้างสุข

ข้อ 5 ร่วมกันขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ สู่การปฏิบัติ อย่างเป็นรูปธรรม

ข้อ 6 ให้การส่งเสริมสนับสนุน เผยแพร่ ประกาศ เชิดชูเกียรติ แก่เจ้าภาพงานบวช/ นาค/ วัด/ พระอุปัชฌาย์ ที่เข้าร่วมโครงการ ในรูปแบบต่างๆ ให้แพร่หลาย

ข้อ 7 ให้ความร่วมมือในงานวิจัย งานวิชาการ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวกับงานบวชสร้างสุข อย่างเต็มที่