สคล.จับมือคณะสงฆ์ เดินหน้าปรับประเพณี “บวชสร้างสุข” เน้นเรียบง่าย ไร้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระธรรมวินัย สกัดเมาฆ่ากันตายในงานบวช หลังพบข้อมูลดับกว่า 30 ศพ ได้บาปตั้งแต่ยังไปไม่ถึงวัด

ปรับประเพณี “บวชสร้างสุข” เน้นเรียบง่าย ไร้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระธรรมวินัย สกัดเมาฆ่ากันตายในงานบวช หลังพบข้อมูลดับกว่า 30 ศพ ได้บาปตั้งแต่ยังไปไม่ถึงวัด ด้าน “พระครูสุวรรณโพธิวรธรรม” เปิดรับเจ้าภาพหนุนบวชสร้างสุขต้นแบบ

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 นายชัยณรงค์ คำแดง ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานเครือขายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เปิดเผยว่า สคล. ร่วมกับเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา สังฆะเพื่อสังคม พยายามที่จะรณรงค์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานบวชในปัจจุบัน ให้หันมาเน้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เพื่อศึกษาแก่นแท้ของศาสนาอย่างแท้จริง

เพื่อศึกษาแก่นแท้ของศาสนาอย่างแท้จริง ด้วยการจัดทำโครงการบวชสร้างสุข โดยไม่มีขบวนแห่ยิ่งใหญ่ คงไว้เฉพาะขบวนแห่ที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น หมู่บ้าน ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่จะเน้นรูปแบบเป็นการจัดพิธีบวชอย่างเรียบง่าย มีเพียงพิธีขออโหสิกรรมบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ มีพระเทศน์สอนที่บ้าน หรือวัด  จำลองขบวนแห่เล็กๆ พ่อถือบาตร แม่ถือไตรจีวร ตามประเพณีนิยม เป็นต้น 

โดยในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมาได้ร่วมกับเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา ดำเนินโครงการนำร่อง 9 จังหวัด แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะการจัดงานบวช ค่านิยมทางสังคมได้ก้าวไปไกลมาก เลยกรอบพระธรรมวินัย โดยจัดพิธีอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมด้วยมหรสพ รถแห่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถูกฝังรากลึกในสังคมไทยมานาน ทำให้การบวชปัจจุบันกลายเป็นงานที่จะบ่งบอกถึงฐานะของผู้จัด แล้วสร้างมายาคติว่าการบวชแบบเรียบง่ายตามธรรมวินัยนั้นเป็นการจัดงานของคนจน ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย การบวชควรที่จะยึดแก่นแท้ตามพระพระธรรมวินัยของศาสนามากกว่า

“เรามีการเก็บข้อมูลพบว่าการจัดงานบวชยิ่งใหญ่ ต้องใช้เงินจำนวนมาก ตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้านบาท และต้องเสียไปกับค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมาก เมื่อดื่มเมาแล้ว ก็เกิดการทะเลาะวิวาท ฆ่ากันตายให้เห็นปรากฎตามสื่อต่างๆ  แทนที่จะได้บุญก็ได้บาปตั้งแต่ยังไปไม่ถึงวัด ซึ่งเรามีข้อมูลโดยรวบรวมเมื่อปี 2559 -2562 ก่อนโควิดระบาดพบว่ามีเหตุการณ์เมาทะเลาะวิวาทกันในงานบวช 50 เหตุการณ์ มีคนเสียชีวิต 30 ศพ บาดเจ็บอีกเป็นร้อยราย

นายชัยณรงค์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การรณรงค์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบวชนั้น แม้จะเป็นไปได้ยาก แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องนโยบายจากผู้เกี่ยวข้อง อาทิ นโยบายเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด  มหาเถรสมาคม รวมถึงนโยบายของนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ชัดเจนจะมีส่วนช่วยอย่างมาก ดังนั้น การณรงค์ในปีนี้ จึงได้ร่วมกับเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังฆะเพื่อสังคมครอบคลุม 4 ภาค  โดยเฉพาะที่ผ่านมาก่อนสงกรานต์ถึงปัจจุบันมีเจ้าภาพต้นแบบที่จัดงานบวชยึดหลักพระธรรมวินัย เลี่ยงค่านิยมทางสังคมโดยไปจัดงานที่วัดแบบเรียบง่าย ด้วยการแนะนำเชิญชวนของพระสงฆ์มากกว่า 100 งานแล้ว โดยพระท่านจะมีการมอบเกียรติบัตรเชิดชูยกย่องเจ้าภาพต้นแบบนั้นๆ ด้วย 

ส่วนแนวทางต่อไปจะต้องมีการสื่อสารสร้างการรับรู้ในวงกว้าง  เอาจริงเอาจังในการบวชพระให้เป็นไปตามธรรมวินัย ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงตรงนี้อาจจะต้องใช้เวลา ต้องอาศัยการดำเนินการ และขับเคลื่อนอย่างหนักแน่นจริงจังต่อเนื่องจากเครือข่ายภาคประชาชน และเครือข่ายพระสงฆ์

ด้าน พระครูสุวรรณโพธิวรธรรม (มนัส อิ่มรัตน์)  เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง จังหวัดจันทบุรี  เครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา ประธานมูลนิธิสังฆะเพื่อสังคม กล่าวว่า การขยายงานบวชสร้างสุข พระสงฆ์เองถือว่าเป็นกำลังหลักสำคัญในการช่วยกันรณรงค์เรื่องนี้ แต่ก็ใช่ว่าจะทำอยู่ฝ่ายเดียว เพราะบางครั้งอาจต้านทานกระแสค่านิยมของสังคมไม่ไหว จึงจำเป็นต้องอาศัยพลังจากหน่วยงานระดับนโยบายของสงฆ์ และฝ่ายบ้านเมืองอื่นๆ หรือพลังของเครือข่ายจากวัดต่างๆ เข้ามาช่วยในวงกว้าง

ดังนั้น เพื่อเป็นทางเลือกของชาวพุทธที่หนักแน่นในพระธรรมวินัยเรื่องการจัดงานบวช และเพื่อเปิดการรับรู้การจัดงานบวชที่ยึดพระธรรมวินัยยังมีอยู่ไม่ใช่มีแต่ค่านิยมสังคมอย่างว่านั้น เราจึงเปิดรับสมัครเจ้าภาพที่จะจัด “งานบวชสร้างสุขต้นแบบ” ผ่านเฟซบุ๊ค “มูลนิธิ สังฆะเพื่อสังคม” หรือโทร 0845126196, 0637694854